คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
ในชายแดนใต้ก่อนเลือกตั้ง 2 วันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เผายางรถยนต์บนถนนสายหลัก วางเพลิงเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ 30 จุด เมื่อคืนวันที่ 11 พ.ค. ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการแขวนป้ายผ้าข้อความ “ประชาธิปไตย-สันติภาพ-ปาตานี” และลอบวางระเบิดชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีทหารระดับหัวหน้าชุดเสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 3 นาย
น่าสังเกตว่า ช่วงการหาเสียงแต่ละพรรคการเมืองมีการหยิบยกประเด็น “ปัญหาไฟใต้” มาให้ความสำคัญอย่างมุ่งเน้นเป็นพิเศษ เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนในพื้นที่ที่จมปลักดักดานอยู่กับความไม่สงบระลอกใหม่มาตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึง ณ วันนี้เป็นเวลา 19 ปีได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ
นับเป็น 19 ปีแห่ง “ความล้มเหลว” ในการแก้ปัญหาของทุกรัฐบาล และมีการทุ่มงบประมาณถมลงไปแล้วกว่า 4.9 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์ไฟใต้ยังคงคุกรุ่น มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ หนักบ้าง เบาบ้าง ตามเงื่อนไขในพื้นที่
ความล้มเหลวที่เห็นได้ชัดประเด็นหนึ่งคือ “การเจรจาสันติภาพ” ระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ซึ่งเจรจากันมายาวนานมาถึง 10 ปี แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ไม่มีมรรคมีผลที่จะชี้ชัดให้เห็นหนทางให้ “ดับไฟใต้” ได้ตามที่ต้องการ
ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้ง ปัญหาไฟใต้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาพูดถึง นอกจากเรื่องของความยากจน การว่างงาน ความเหลี่ยมล้ำ การศึกษา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังของชายแดนใต้ เพราะไฟใต้เป็นบ่อเกิดของทุกปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น แต่นับเป็นความยากลำบากยิ่งที่จะหาทางออกได้
ในการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และก้าวไกลจะส่งผู้สมัครลงครบทั้ง 13 เขตแล้ว พรรคขนาดเล็กโดยเฉพาะ “พรรคท้องถิ่น” ที่มี ส.ส.มากสุดจากเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างพรรคประชาชาติ ประกาศพร้อมชนทุกเขตเช่นกัน โดยมั่นใจว่าจะได้จำนวน ส.ส.มากกว่าเดิมด้วย
แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือมือใหม่อย่าง “พรรคเป็นธรรม” ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้น พรรคนี้มีเป้าหมายนำเรื่องราวไฟใต้ไปชูเป็นประเด็นหาเสียงหลักเลยทีเดียว และต้องนับว่าเป็นพรรคที่มีความ “ชัดเจน” และ “แหลมคม” อย่างที่สุดในการนำเสนอทุกประเด็นปัญหาไฟใต้ที่เกิดขึ้น
เห็นได้จากการปราศรัยของพรรคเป็นธรรมในทุกเวทีต่างพุ่งเป้าไปยัง “กองทัพ” กับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” โดยชี้นำให้ประชาชนเห็นด้วยว่าปัญหาไฟใต้จะดับได้ก็ด้วยการ “ถอนทหาร” และ “ยกเลิกกฎหมายพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ทุกฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่
อีกทั้งยังมีปรากฏการณ์เยาวชนถือแผ่นป้ายและป้ายผ้า “เอาทหารกลับบ้าน” บ้าง “ยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน” และ “ยกเลิกกฎอัยการศึก” บ้าง แล้วเดินตามขบวนพาเหรดหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.หรือแกนนำพรรคเป็นธรรม รวมถึงการออกสื่อต่างๆ ภาพเหล่านี้กลับเกิดขึ้นคึกคักได้อย่างเป็นปกติใน “พื้นที่ไม่ปกติ”
ที่สำคัญขบวนพาเหรดยกป้ายต่างๆ ของพรรคเป็นธรรมยังเดินไปยังทุกหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ อย่างท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” หรือ “ค่ายอิงคยุทธบริหาร” จ.ปัตตานี และสถานที่เป็นตั้งกองกำลังทหารอื่นๆ เช่น หน้าหน่วยเฉพาะกิจ และฐานปฏิบัติการที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ด้วย
นอกจาก “รัฐบาลเผด็จการ” รวมถึง “กองทัพ” และ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะตกเป็นจำเลยหลักช่วงหาเสียงแล้ว พรรคเป็นธรรมยัง “ชี้นิ้ว” ไปยัง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” โดยเสนอให้ “ยุบทิ้ง” ไปเพราะเห็นไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาไฟใต้แต่อย่างใดด้วย
นอกจากนี้ พรรคเป็นธรรมยังได้ชี้ทางออกของไฟใต้ไว้อย่างแหลมคม โดยระบุชัดเจนว่าความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานนั้นเกิดจากฝีมือของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และโดยเฉพาะ “คณะพูดคุยสันติสุข” ของรัฐบาล
มีที่ต้องจับตาใกล้ชิดด้วยเช่นกันคือ มีการชี้นิ้วจากผู้สมัคร ส.ส.และแกนนำ “พรรคก้าวไกล” ที่เสนอทางออกจากปัญหาไฟใต้ไว้เป็นภาพชัดมาก กล่าวคือ ไฟใต้จะดับได้ก็ด้วยมีการยุบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และยกเลิก “กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง”
ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ แม้จะไม่ชี้เป้าฟันธงตรงไปที่กองทัพ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และคณะพูดคุยสันติภาพว่าต่างทำหน้าที่ล้มเหลวมาตลอด โดยพยายามเสนอทางออกแบบ “ถนอมน้ำใจ” ไม่ใช่ถ้อยคำรุนแรง ด้วยการแนะให้ปรับปรุงการใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่อผ่อนคลายความเข้มข้นลงบ้าง
แต่ที่เหมือนกันยังกับแกะคือ การเห็นด้วยกับ “กระบวนการเจรจาสันติภาพ” ระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น แต่เน้นให้เป็นการเจรจาที่ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และที่สำคัญให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้และมีส่วนร่วมว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นก่อน
อย่างไรก็ตาม มี “ผู้สมัคร ส.ส.บางคน” ที่กล้าประกาศเห็นด้วยและสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ “หมิ่นเหม่” และที่อาจเป็นคดีความตามมา ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะเชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงได้เก็บหลักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับนโยบาย งบประมาณและรายละเอียดต่างๆ ของ “การเจรจาสันติภาพ” ต่อไปนี้ที่มีรัฐบาลใหม่ ต้องเป็นเรื่องราวที่ไม่ใช่รู้กันเฉพาะในกองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคงอย่างที่เป็นมาตลอดหลายสิบปีเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรที่ถือเป็นตัวแทนประชาชนก็ไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้เลยด้วย
แน่นอนว่าการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองทุกพรรคที่ชี้นิ้วไปที่ “ทหาร” และ “กองทัพ” และ “คณะเจรจาสันติภาพ” ย่อมทำให้เป็นที่สนใจของประชาชน แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งถึงขั้น “สะใจ” ที่ได้เห็นนักการเมืองกล้าพูดถึงความล้มเหลวของมาตรการดับไฟใต้
ต้องนับว่าการหาเสียงของพรรคและนักการเมืองน้อยใหญ่ในชายแดนใต้เที่ยวนี้ นอกจากช่วย “จุดประกายความคิด” แล้ว ยังทำให้เกิดการ “ประสานเคลื่อนไหว” ของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าการขับเคลื่อนต่อไปมีแต่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตรงไปตรงมา รวมถึงชัดเจนและแหลมคมยิ่งขึ้น
จึงคาดการณ์ได้เลยว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จะไม่เหมือนเดิม รวมถึง “ปีกการเมือง” บีอาร์เอ็นที่จะเคลื่อนไหวให้ยุบ "กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ “ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงพิเศษ” ก็จะเป็นไปแบบเข้มข้นขึ้นด้วย
ดังนั้น หาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ยอมปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงการทำงานทั้งด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ๆ นอกจากยากยิ่งที่จะเดินหน้ามาตรการดับไฟใต้ให้ประสบความสำเร็จแล้ว ยังจะถูกต้องต้านจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอย่างรุนแรงหนักขึ้นด้วยแน่นอน
ที่สำคัญหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้า “การเมืองเปลี่ยนขั้ว” อำนาจเก่าภาคใต้ท็อปบู๊ตไม่ได้ไปต่อ เชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนต้องปรับรื้อนโยบายดับไฟใต้อย่างแน่นอน ซึ่งสถานการณ์อาจพัฒนาไปถึงขั้นความคิดของประชาชนสุกงอมพอที่จะให้ “ยุบทิ้ง” หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ได้เลย