ยะลา – “ทวี สอดส่อง” นำคณะพรรคประชาชาติลงพื้นที่หาเสียงช่วยผู้สมัครเขต 3 ยะลา พร้อมพบปะพี่น้องชาวเบตง อ้อนขอคะแนนโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง พร้อมชูนโยบายให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน ใครถูกรุกที่ต้องได้คืน ยกเลิกรัฐรวมศูนย์ใช้ชุมชนแทน
วันนี้ (10 พ.ค.) บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ยะลา เขต 3 อ.เบตง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้นำคณะลงพื้นที่ เพื่อช่วยหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค โดยจุดแรก พ.ต.อ.ทวี ได้พบปะประชาชนบริเวณหน้าสดเทศบาลเมืองเบตง พร้อมกล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง จากนั้นได้เดินพบปะประชาชนเพื่อขอคะแนนเสียงให้ผู้สมัคร ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก จากนั้นยังเดินไปพบปะพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง เพื่อขอคะแนนให้ผู้สมัครเขต 3 นายอับดุลอายี สาแม็ง เบอร์ 10 พรรคประชาชาติ พร้อมยังได้เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนที่รัก พรรคที่ชอบ ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่สิ่งที่พรรคประชาชาติทำ เราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคอาจจะมาขายฝันอย่างเดียว เหตุที่ขายฝันเพราะว่าคุณทำมา 8 ปีแล้ว คุณทำให้คน 3 จังหวัดยากจน คุณทำให้การศึกษาเขาด้อย คุณทำให้เขาโศกนาฏกรรม ทั้งประมง ทั้งยางพารา เป็นโรคไม่เคยเข้ามาแก้ไข ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่วันนี้พอจะเลือกตั้ง ซึ่งหลายพรรคจะมีนายกฯ อยู่ 2 ปี แล้วบอก 2 ปีจะมาแก้ปัญหา 8 ปี คุณทำลายแล้ว 2 ปีจะมาแก้ได้ยังไง
สิ่งต่างๆ พวกนี้ที่เราได้คุยกับประชาชน ก็เป็นเสียงจากประชาชนที่ขึ้นมา และสิ่งที่น่ากลัว คือรัฐบาลที่แล้วใช้คนรวยนำหน้าใช้ประชาชนตามหลัง วันนี้ได้เดินในตลาดเบตง แม่ค้าที่อยู่มานานบอกว่า วันนี้ถูกนายทุนที่มีร้านใหญ่ๆ มาแย่งชิงพื้นที่เพราะร้านใหญ่ๆ ที่มาเปิด เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น มันกระจายไปหมด เพราะพวกนี้มันต้นทุนต่ำ เขาจึงไปบีบ แต่ร้านค้าต่างๆ เลยต้องอยู่ลำบาก เราก็ตกมีเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ไม่ใช่ให้คนรวยมาแย่งอาชีพคนจน ไม่ใช่ให้คนรวยมาแข่งคนจนทำกิน เราต้องให้ทุกคนอยู่กันได้
และที่สำคัญพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาจะเทียบเคียงกับมาเลเซีย เช่น ราคาน้ำมัน ราคาพลังงานเราสูงกว่าเขาเราจะอยู่ได้ยังไง เราก็ต้องพัฒนาให้ราคาน้ำมัน ให้ราคาพลังงาน มีราคาให้เท่ากับมาเลเซียให้ได้อันนี้คือทางออก ซึ่งสิ่งต่างๆ พวกนี้ก็หวังจากรัฐบาลใหม่ เพราะรัฐบาลที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหน แม้แต่กระทรวงเกษตรก็ยังปล่อยให้เกษตรกรอยู่กันลำบาก
เชื่อประชาชนตื่นรู้และคนที่ตื่นรู้ที่สุด คือการโหวตครั้งแรก ฉะนั้นพรรคประชาชาติ ถึงจะมีผู้สมัครสูงอายุมาก แต่นโยบายเป็นของคนรุ่นใหม่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเด็กเล็กที่อยู่ในครรภ์ เด็กเล็กทั่วหน้าถึง15 ปี เพราะเด็กเล็กคืออนาคตการล้างหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็คือนโยบายของคนรุ่นใหม่ ทุกอย่างทั้งหมดเราเชื่อว่า น้องๆที่เป็นเสียงบริสุทธิ์ เมื่อเขาได้รับรู้ก็เชื่อว่า พรรคประชาชาติ ที่เยาวชน มีความตั้งใจที่จะเลือกด้วยครับ
เพราะว่ากลุ่มนี้เขาเรียกพลังบริสุทธิ์ แต่จริงๆทุกวัยก็พลังบริสุทธิ์ กลุ่มพลังบริสุทธิ์เราต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่เขามีความหวังและก็ต้องการอนาคตที่ดี ประกอบกับการตื่นตัวสูง ซึ่งกลุ่มนี้เขาต้องการเห็นทั้งนโยบายและตัวบุคคลโดยเฮพาะในภาคใต้ เรื่องนโยบายเราก็ปฏิเสธอำนาจเผด็จการ เราก็จะมีนโยบายต้องการคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมคืนสิทธิคืนอำนาจ คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน ซึ่งนโยบายในกลุ่มนี้ก็หนีไม่พ้นที่เราก็จะต้องผลักดันให้มีการทำประชามติเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน อันนี้เหมือนกับสัญญากับประชาชน และอีกประการหนึ่งในระหว่างที่มี สสร.ที่ประชาชนเลือกเข้ามามาร่างรัฐธรรมนูญซึงจะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนจริงๆ โดยจะไม่ให้นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง
ในส่วนของการเมืองเราเชื่อมั่นว่า พรรคประชาชาติจะได้เป็นรัฐบาล โดยพรรคที่เป็นรัฐบาลครั้งที่แล้วจะต้องมาเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นการที่จะมาเป็นรัฐบาล นโยบายของพรรคประชาชาติ มันเป็นนโยบายให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนฟรีที่มีคุณภาพ หรือจะมาแก้ปัญหาที่รัฐบาลได้ทำไว้ก็คือหนี้ กยศ.ที่มีดอกเบี้ยปรับ พรรคประชาชาติประกาศล้างหนี้ กยศ. ซึ่งการล้างหนี้ กยศ.นี้ เราได้เขียนไว้ในกฎหมายไว้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่กรณีผู้ส่งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไปที่เกินกว่าอัตราใหม่ที่ปรับโครงสร้างก็ต้องถือว่าเป็นหักเงินต้น นโยบายส่วนนี้เป็นนโยบายเพื่อประชาชนส่วนสำคัญ
พรรคทุกพรรคที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เราจะต้องทำประชามติเรื่องการบริหารและการปกครอง ถ้าประชาชนเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ และนี่คือภาพรวมๆ ในส่วนของพรรคประชาชาตินั้น พรรคจะให้ความสคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นปัญหาทำลายอนาคต ของคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งพุทธและมุสลิม ต้องการจะหาทางออกจากความขัดแย้ง เราหนีไม่พ้นต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม
เดิมเคยพูดคุยเรื่องสันติภาพ แต่การพูดคุยเพื่อสันติภาพนี้ ทิ้งไว้เกือบ10 กว่าปีเป็นเงื่อนไขแล้วก็ไมมีการขยับ เราตัองพัฒนาไปมากกว่านี้นั้น เราจะผลักดันขบวนการสันติภาพ และบางประเด็นก็ควรยุติได้แล้ว เช่นประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เราจะทำยังไงประเด็นเรื่องความยุติธรรมเราจะทำไงประเด็นเรื่องการบริหารและการปกครอง เราจะออกมารูปแบบยังไงซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ พรรคการเมือง อาจจะต้องเปิดพื้นที่ให้มีเวทีสันติภาพ แล้วเราขอขอบคุณประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ต่อไปนี้เราอาจจะต้องมีพระราชบัญญัติสันติภาพขึ้นมาให้ใช้ของประเทศมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่ง แต่เพราะบัญญัตินี้จะมีโครงสร้างของการแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ พวกนี้เราคงต้องไปปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อให้นำมาแก้ปัญหา
และที่สำคัญที่สุดต้องพลิกโอกาสต้องทำให้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกรัฐบาลใช้นโยบายความมั่นคงของรัฐเหนือความมั่นคงของประชาชน ความมั่นคงของรัฐเหนือกว่าการศึกษา ความมั่นคงของรัฐ อยู่เหนือความยุติธรรม เอามาแก้ปัญหา คือต้องมาแก้ปัญหา ประการที่ 1 ต้องสร้างเศรษฐกิจและการศึกษาให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ที่พอเพียงและเพียงพอในการอยู่รอด ซึ่งอันนี้เป็นสันติสุข
เบื้องต้น เราจะต้องแก้ปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือที่รัฐไปประกาศแนวเขตป่าไม้ ป่าสงวนหรือไปประกาศที่ดินของรัฐไปทำที่ของประชาชน เราจะต้องแก้ปัญหาคืออาจะต้องกันที่ป่า ส่วนที่ประชาชนอยู่ก็ออกโฉนดให้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะมีรายได้จากเกษตรกร เช่น ชาวสวนยางพารา ถ้าไม่มีที่ทำกิน เราต้องสร้างราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพ ซึ่งการสร้างสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพก็คือการเพิ่มปริมาณที่ทำได้คือเพิ่มปริมาณน้ำยางให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพิ่มประมาณที่ดินให้เกษตรกรให้มากขึ้น และที่สำคัญคือการต้องเพิ่มการแปรรูปไม่ใช่ขายเป็นวัตถุดิบ
รวมถึงเรามีผลไม้ โดยเฉพาะยะลา เป็นจังหวัดที่มีทุเรียน อันดับ 1 เราอาจจะทำให้เบตงเป็นจังหวัดทุเรียนโลก ซึ่งสิ่งต่างๆพวกนี้ถ้าประชาชนได้มาดู ทั้งในมิติการบริการ การปกครอง มิติของความเป็นธรรม มิติของการศึกษา และมิติของเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้วทั้งเรื่องภาษา เราต้องส่งเสริมพหุภาษาทั้งภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาอาหรับ สถานที่แห่งนี้คือสถานที่ที่คนนำเงินมาทิ้ง เพราะเข้ามาท่องเที่ยว เพราะเรามีความพร้อมหมด อันนี้คือภาพในอนาคต สุดท้ายที่เราหนีไม่พ้นคือ ยกเลิกรัฐรวมศูนย์ต้องใข้ชุมชนแทนก็คือการกระจายอำนาจชัยชนะจะมาอยู่ที่หมู่บ้าน ชัยชนะจะมาอยู่ที่ครอบครัวชัยชนะจะมาอยู่ที่ประชาชน
ด้าน นายอับดุลอายี สาแม็ง ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 พรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมเยียนพี่น้องในเขตเทศบาลเมืองเบตง โดยมาพร้อมกับคณะใหญ่ พร้อม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาในตัวแทนของหัวหน้าพรรคและในนาม เลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมผู้สมัครบัญชีรายชื่ออีก 3 ท่าน ลำดับที่ 3 ลำดับ 4 และ ลำดับ 60 ซึ่งเป็นของชาวอำเภอเบตง สิ่งที่เราอยากจะบอกเล่าให้ชาวเบตง จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาเรามีปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยาง เพราะมีปัญหามาโดยตลอด
วันนี้นโยบายของพรรคจะเห็นจุดปัญหา จึงได้มีการกำหนดราคายาง 80 บาทและยางก้นถ้วย 35 บาท ต่อกิโลกรัม ทำไมรายได้ของคนกลุ่มนี้ต้องเพิ่มมากขึ้น 2- 3 เท่าตัว และวิธีการจะทำยังไง ด้วยความคิดของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงและ 1 ในกระทรวงที่สำคัญคือกระทรวงเกษตร เคยทำราคายางมาถึง 140 บาท ต่อกิโลกรัมมาแล้ว โดยทำตลาดกลางระหว่าง 3 ประเทศเป็นผู้กำหนดราคาในการจำหน่ายยางเพื่อไปสู่ตลาดของผู้บริโภค
ซึ่งการกำหนดลักษณะแบบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย วิธีการเดียวกัน คือ ได้มีการประสานไปยังท่านประธานาธิบดี โจโก วิโดโด หรือโจโกวี และไปยัง ท่าน อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในขณะเดียวกันเราก็พยายามที่บอกว่าเราคือตัวแทนของประเทศไทย ถ้าได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนในรอบนี้เราก็ร่วมรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำให้เร็วที่สุด คือเรื่องราคายาง
ยางพาราราคาร่วงนั้นก็เป็นประเด็น 1 ส่วนประเด็นที่ 2 โรคใบยางร่วงซึ่งต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ หลักวิชาการ จะต้องเอางานวิจัยต่างๆ มาสร้างเป็นตัวยาบำรุงรักษาเป็นสารชีวพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดยะลาซึ่งจังหวัดอื่นก็เสียหายหมดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ที่เห็นชัดเจนที่ยะลาโรคใบยางร่วงทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจของชาวสวนยางหลายหมื่นล้านบาทปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท 3 ปี 4 ปี ก็ตกเกือบ 6 หมื่นล้านเฉพาะตัวเลขของจังหวัดยะลา โดยเฉพาะยะลา 1.2 หมื่นล้านบาท 3 ปีก็ตก 5 หมื่นล้านบาท
ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจากว่าเราจะต้องมีการส่งเสริมการท่องเทียวให้มากขึ้นของอำเภอเบตง เดิมทีทางเราก็มีเครื่องบิน โดยบินจากกรุงเทพฯ ถึงเบตง อยู่ประมาณไม่ถึง 6 เดือนก็ต้องมีการยกเลิกการบิน ด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบได้จะบอกว่าเป็นเหตุผลที่มันขาดทุนมันก็ไม่น่าจะขาดทุน เพราะว่าการกำหนดผู้โดยสารครั้งแรก 60 ที่นั่งแล้วก็เต็มทุกเที่ยวบิน แต่อยู่ๆ ก็มีการยกเลิกเที่ยวบิน
ในขณะเดียวกันเรามาทางบกสิ่งที่เราจะต้องทำคือที่พักริมทางระว่างตัวเมืองยะลา มาถึงตัวเมืองเบตง ซึ่งจะต้องเดินทางด้วยรถโดยสาร ต้องนำมาให้บริการระหว่างทางให้มากขึ้น เพราะคนมาเที่ยวเบตง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุโดย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สูงอายุ ด้วยความจำเป็นคือต้องพักริมทางให้มันบ่อยขึ้นและก็เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามเส้นทางต้องมีการปรับปรุงโดยขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องหางบส่วนกลางมาพัฒนา โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง เพื่อที่จะเป็นสถานที่รองรับการท่องเที่ยว
ในขณะเดียวกันเราต้องประสานกับกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่คนสนใจมากที่สุดที่มาเบตง ก็จะต้องมีการประสานให้เกิดการใช้ที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวให้มากขึ้นความจริงเบตงเป็นเมืองที่หาที่อื่นไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ปอดแห่งเอเซียน แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องหาวิธีการและเงื่อนไขที่จะให้คนมาเบตงมีความสุขเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป