โดย.. เมือง ไม้ขม
ในการหาเสียงเลือกตั้งที่เดินเข้าสู่โค้งสุดท้ายหรือ "7 วันอันตราย" การหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ และหวังที่จะมีที่นั่งใน จ.สงขลา มีการหาเสียงกันอย่างดุเดือด มีการใช้เงินในการซื้อเสียงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้บัตร 2 ใบ คือ เลือกผู้สมัครเขต 1 ใบ และเลือกพรรค 1 ใบ ผู้สมัครหลายพรรคที่จ่ายเงินซื้อเสียง เสียงละ 1,000 บาท เพื่อให้เลือกตนเอง โดยไม่สนใจในการเลือกพรรค เพราะหากให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกทั้งเขตทั้งพรรคจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 500 บาท หรือ 300 บาท
ในบางเขตเลือกตั้ง เช่น เขต 2 จ.สงขลา มีผู้สมัครบางพรรคจ่ายเงินซื้อเสียงแล้ว โดยขอให้ผู้ใช้สิทธิการทั้ง 2 เบอร์ มีการจ่าย 1,500 บาท ในขณะที่ผู้สมัครหลายพรรคให้หัวคะแนนถ่ายบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ของผู้มีสิทธิเพื่อเตรียมการจ่ายเงินใน 3 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครส่วนใหญ่ที่ทำการซื้อเสียงต่างมีการจ่ายเงินไปแล้ว เพราะเกรงว่าใน 3 วันสุดท้ายจะเกิดปัญหาเรื่องของการจ่ายเงิน ซึ่งปีนี้จะไม่มี “คืนหมาหอน” เหมือนในอดีต
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทวงคืนที่นั่งทั้ง 9 เขตเลือกตั้ง เพื่อกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา เพราะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ประชาธิปัตย์สอบผ่านเพียง 3 เขตเลือกตั้ง ดังนั้น ในการเลือกตั้งในปี 2566 “ประชาธิปัตย์” จึงมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบระหว่างนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้ง ที่ดูแลผู้สมัครในเขต 1 เขต 2 เขต 3 เป็นหลัก
ส่วนนายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ “นายกชาย” ดูแลผู้สมัครในเขต 4 เขต 5 เขต 6 เขต 9 ส่วนเขต 7 และเขต 8 เป็นการดูแลร่วมกันระหว่างนายนิพนธ์ และนายเดชอิศม์ โดย “ประชาธิปัตย์” ตั้งความหวังที่จะได้ ส.ส.ยกจังหวัดสงขลาทั้ง 9 เขต เพราะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีการส่งผู้สมัครหาเสียงล่วงหน้าก่อนการยุบสภาเป็นปี โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ “ประชาธิปัตย์” ส่งนายสรรเพชญ บุญญามณี บุตรชายของนายนิพนธ์ บุญญามณี หาเสียงเป็นเวลา 4 ปี
เช่นเดียวกับนายศิริโชค โสภา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 ที่หลังจากเสียตำแหน่งให้นายณัฐฎ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย ในปี 2562 ก็ทำการหาเสียงกับประชาชนมาโดยตลอด
ในขณะที่พรรคที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของ “ประชาธิปัตย์” ใน จ.สงขลา ได้แก่ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ที่ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค อัดฉีดอย่างเต็มที่ และคาดหวังที่จะได้ ส.ส.ในเขตดังกล่าว ซึ่ง “ประชาธิปัตย์” ส่ง ส.ส.น้ำหอม น.ส.สุภากร กำเนินผล อดีต ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งเคยเอาชนะนายอนุกูลมาแล้วในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ครั้งนี้มีข่าวว่า “อนุกูล” สู้เต็มที่ มีการปรับยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะ ส.ส.น้ำหอม ให้ได้ โดยจะเอาชนะในเขต อ.สะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่กว่า อ.คลองหอยโข่ง ที่เป็นพื้นที่ซึ่ง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล เคยเอาชนะอย่างถล่มทลายมาแล้วในการเลือกตั้งซ่อม
แต่ในขณะเดียวกัน นายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้รับผิดชอบพื้นที่เขต 6 ก็แก้เกมโดยเริ่มทำคะแนนตีตื้นในพื้นที่ของ อ.สะเดาแบบไล่มาติดๆ และยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า มีเป้าหมายที่แม่นยำกว่า และมีทีมงานที่แข็งแกร่ง และไม่หลอกลวง สุดท้ายอาจจะทำให้อดีต ส.ส. น้ำหอมได้รับชัยชนะอีกครั้ง
ส่วนในเขตเลือกตั้งที่ 5 ซึ่งนายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นผู้ลงสมัครเองนั้น แม้ว่าครั้งนี้นายเดชอิศม์ จะต้องสู้กับนายปรีชา สุขเกษม ผู้สมัครของพรรครวมไทยสร้างชาติ และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ด้วยการจัดตั้งที่แข็งแกร่ง ยังจะทำให้นายเดชอิศม์ ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่คะแนนจะลดน้อยลง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามได้พยายาม “เจาะยาง” โดยการร้อง กกต.สงขลาว่า นายเดชอิศม์ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยทีมงานจัดมหรสพในงานพิธีสรงน้ำรูปเหมือนอาจารย์คง ที่มีสัญลักษณ์ของพรรค และมีการโฆษณาหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรค
รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 9 ที่นายเดชอิศม์ ส่งผู้สมัครที่เป็นบุตรชายลงในเขตนี้คือ นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญคือนายสมชาย เล่งหลัก จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนายสมชาย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยแข่งขันกับนายเดชอิศม์ ในเขตเลือกตั้งที่ 5 มาแล้ว โดยมาเป็นที่ 2 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ท่อน้ำเลี้ยงจากพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นคู่แข่ง ที่มีคะแนนสูสีกับนายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ที่มีการลุ้นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง
ส่วนในเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่ 3 เป็นการแข่งขันหรือต่อสู้ระหว่างผู้สมัครของประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 4 เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ซึ่งโอกาสของการแพ้ชนะมีด้วยกันทุกพรรค
อย่างไรก็ตาม นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมีความเชื่อมั่นสูงมากว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์จะได้แจ้งเกิด โดยได้ ส.ส.ทั้ง 9 เขต เพราะมีความพร้อมในการหาเสียงมาก่อนพรรคอื่นๆ รวมทั้งมีกระแสตอบรับจากประชาชน โดยเฉพาะ ประชาชนที่เคยทิ้งประชาธิปัตย์ ไปเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นเมื่อปี 2562 เพราะเห็นแล้วว่าพรรคดังกล่าวไม่ได้พัฒนาจังหวัดสงขลาอย่างที่หาเสียงไว้
ส่วนเรื่องการถูกผู้สมัครที่เป็น “คู่แข่ง” แจ้งเอาผิดกับ กกต.จังหวัด เป็นเรื่องที่อธิบาย ได้ และไม่ได้ทำผิด จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่หนักใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้