โดย.. ศูนย์ข่าวภาคใต้
ใกล้ถึงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ต้องบอกเลยว่า การเมืองครั้งนี้ถือว่าดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็อาจจะว่าได้ เนื่องจากมีพรรคการเมืองพรรคใหม่เกิดขึ้นหลายต่อหลายพรรค สำคัญที่สุดจะเห็นว่า หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคนั้นแตกหน่อลาออกมาจากพรรคที่เคยอยู่ แล้วมาจัดทัพพรรคการเมืองเอง ซึ่งชัดเจนว่าอยู่บ้านเดียวกันไม่ได้ เพราะแนวคิดที่ต่างกันไป…
เฉกเช่นการเมืองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็ไม่น้อยหน้า ความดุเดือดเริ่มขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดรับสมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคในแต่ละจังหวัด
โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่บอกว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นของพรรคตัวเอง พื้นที่ตัวเอง ประชาชนต้องเลือกพรรคของคนพื้นที่ชายแดนใต้ นั่นเองที่เป็นกระแสที่ปลุกให้ประชาชนเริ่มขยับตัวว่าจะเลือกพรรคในพื้นที่หรือพรรคนอกพื้นที่ ซึ่งมันเป็นเพียงความเชื่อหนึ่งของพรรคหนึ่งเท่านั้น
แต่อันที่จริงแล้ว กระแสที่ว่า “พรรคของคนชายแดนใต้นั้นมันเป็นแค่ฝันของบางกลุ่มบางคนเท่านั้น”
สำคัญคือ ผู้สมัครต่างหากที่สำคัญกว่าพรรค เพราะหากผู้สมัครสอบตก พรรคก็ร่วงเช่นเดียวกัน
แต่หากคิดไปแล้ว การเมืองไม่ควรเล่นแบบ “ชกใต้เข้มขัด” คือ โจมตีพรรคนั้นพรรคนี้ ให้ร้ายใส่ความผู้สมัคร ดึงศาสนามาเล่นแบบไม่งาม ปลุกปั่นประชาชนให้เลือกข้าง แต่ยังโชคดีที่ประชาชนรู้เท่าทันเกม และที่สำคัญคือ เสี่ยงโดนยุบพรรค หากเข้าข้อกฎหมาย!!
ฉะนั้น พรรคที่ประชาชนในพื้นที่สนใจควรที่จะแข่งกันในเรื่องนโยบายพรรค ชูนโยบายที่สร้างสรรค์หรือวาดฝัน นั้นดีกว่าที่มาป้ายสีกัน
ปัตตานี คืออีก 1 จังหวัดที่ถือว่าการเมืองการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้น่าสนใจจริงๆ เพราะครั้งนี้ได้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งมาเป็น 5 เขต และทุกเขตถือว่า “ต่างสู้กันแบบไม่ไว้หน้ากัน”
โดยเฉพาะในเขต 5 คือ อ.ยะหริ่ง และ อ.มายอ มีผู้มีสิทธิ จำนวน 104,885 คน ถือเป็นเขตป้ายแดงที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนต่างหวังที่จะเป็น ส.ส.คนแรกของเขต 5 ตัวเด่นตัวดังพยายามงัดเกมออกมาทุกวิชา รวมทั้งบรรดาโปรโมเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังของผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละคน ถือว่า “เก๋าจริง” กระแสเริ่มแรงขึ้นทุกวัน ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะโปรโมเตอร์ต่างประกาศชัดว่า "แพ้ไม่ได้" หรือเพราะ ศักดิ์ศรีค้ำคอหรือเปล่า!!
เรามาดู 2 พรรคการเมืองของเขต 5 ที่นักวิจารณ์ในพื้นที่ต่างพูดกันจนเป็นกระแสว่า เขต 5 ไม่ใช่ผู้สมัคร ส.ส.แข่งกัน แต่เป็นการแข่งดวลศักดิ์ศรีของ 2 โปรโมเตอร์คนดังของทั้ง 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ส่ง "อันวาร์ สาและ" เบอร์ 2 และพรรคประชาชาติที่ส่ง "สาเหะมูฮำหมัด อัลอิดรุส" เบอร์ 6 นักวิจารณ์ต่างวิพากษ์เป็นเสียงเดียวว่า สูสีกัน แต่หลายคนบอกว่า อันวาร์ มีโอกาสมากกว่า!! ทำไมนักวิจารณ์การเมืองชายแดนใต้ว่ากัน สรุปกันง่ายๆ ล่ะ ก็เพราะ…
"อันวาร์ สาและ" สำเร็จการศึกษา บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2548 2550 2554 และ 2562 เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 และด้วยประสบการณ์ทางการเมือง 4 สมัย และการศึกษาถือว่าชนะขาด
รวมไปถึงมีผู้สนับสนุนในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะโปรโมเตอร์คนดังที่คอยสนับสนุนมาตลอด 4 สมัยเมื่อครั้งเป็น ส.ส.เขต 1 ปัตตานี
ครั้งนี้ย้ายมาเขต 5 ก็ยังเช่นเดิม อีกทั้งนักวิจารณ์ชายแดนใต้ยังบอกด้วยว่า โปรโมเตอร์ของ "อันวาร์" คนนี้เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักของโปรโมเตอร์ของผู้สมัคร ส.ส.อีกพรรคจนยึดเก้าอี้นายก อบจ.จนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยขณะนี้อากาศเปลี่ยน เวลาก็เปลี่ยน อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยน เมื่อ 2 โปรโมเตอร์ที่เคยจับมือทำการเมืองในบ้านด้วยกันต้องแยกกันอยู่คนละพรรค คนละวง จึงต้องงัดวิชาการเมืองเพื่อหวังเก้าอี้ ส.ส.ของเขต 5 กันให้ได้
ฉะนั้นลองมาส่องดูบุคคลที่อยู่เบื้องหลังกันหรือโปรโมเตอร์ให้ทั้ง 2 ผู้สมัครกันว่าเป็นใคร เริ่มจาก "สาเหะมูฮำหมัด อัลอิดรุส" เบอร์ 6 พรรคประชาชาติ ถือว่าไม่ธรรมดาเลย นั่นคือ นายก อบจ. ซึ่งถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ในพื้นที่และครองตำแหน่งมา 4 สมัยกับเก้าอี้นายก อบจ. อีกทั้งยังเป็นพี่เขยของ "สาเหะมูฮำหมัด" ด้วยนั้นมันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พี่เขยต้องช่วยน้องเขย”
ขณะที่โปรโมเตอร์ของ "อันวาร์" นั้นไม่ธรรมดาเหมือนกัน เพราะมีฐานะเป็น “น้ากับหลาน” และยังควบตำแหน่ง “นายกสมาคม อบต.” ด้วย ที่สำคัญคือ เคยช่วยเดินเกมชิงเก้าอีกนายก อบจ.ให้โปรโมเตอร์ของ "สาเหะมูฮำหมัด" จนชนะแบบขาดลอยกันเลย หากจะบอกว่าบุญคุณอาจต้องทดแทนกันภายหลัง ซึ่งต้องบอกว่า ทั้ง 2 โปรโมเตอร์นี้อดีตเคยร่วมการเมืองด้วยกัน
มาวันนี้ต่างคนต่างเดิน ชิงเก้าอี้ศักดิ์ศรีกันเอง ความได้เปรียบจึงอยู่ที่ "อันวาร์ สาและ" เพราะอะไรนั้นคงไม่ต้องอธิบาย