ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวบ้านผวาเสียงสัญญาณเตือนภัยสึนามิดังสนั่น ขณะที่หน่วยงานราชการยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ยืนยันไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรงจนนำไปสู่การเกิดสึนามิแน่นอน
จากกรณี วันนี้ (27 เม.ย.) เวลาประมาณ 03.43 น. หอเตือนภัยสึนามิ บริเวณหาดกมลา และลากูน่ามีเสียงสัญญาณเตือนภัยสึนามิดัง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้ยินเสียงสัญญาณต่างอยู่ในอาการตื่นตกใจ และมีการส่งข้อความและโพสต์ในสื่อโซเชียลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างก็มีความกังวล
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากกรณีหอเตือนภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีเสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ พบว่าไม่มีการกดสัญญาณ และไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะก่อให้เกิดสึนามิ และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
เสียสัญญาณดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณของหอเตือนภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่เอง ไม่มีการส่งสัญญาณเตือนไปศูนย์ควบคุม ณ ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ เบื้องต้น ที่มีการประสานกันในภาคใต้พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งจังหวัดพังงา ภูเก็ต และ นราธิวาส ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดเสียงของหอเตือนภัยดังกล่าว โดยจะมีช่างเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุในวันนี้ (27 เม.ย.)
ขณะที่นายวีระ สม่าหลี ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าตามที่เมื่อเวลา 03.43 น. วันนี้ (27 เม.ย.) ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นบริเวณทางใต้ของเกาะสุมาตรา ประมาณ 4.8 ริกเตอร์ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และไม่ทำให้เกิดสึนามิ โดยตามเกณฑ์มาตรฐานของการแจ้งเตือนภัยสึนามิ แผ่นดินไหวจะต้องเกิดขึ้นในทะเลเท่านั้น และความสั่นสะเทือนในระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป ขอยืนยันว่าจากข้อมูลการเกิดเหตุ 4.8 ริกเตอร์ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเกิดสึนามิ จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการเตือนภัยพิบัติหรือเกิดสึนามิ
ด้าน นายเชาวลิต นิฒรรัตน์. ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า “ในส่วนของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต รับผิดชอบกลุ่มจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง ภูเก็ต ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนไปยังประชาชนและเครือข่ายในกลุ่มจังหวัดชายฝั่งอันดามันตลอดเวลา พร้อมเฝ้าระวังหากเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว หรือสึนามิในพื้นที่ ให้มีการอพยพตามแผนที่ได้เตรียมไว้ โดยขณะนี้หลายจังหวัดได้จัดการประชุมเพื่อซักซ้อมแผนป้องกันภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ
รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุภัยพิบัติหรือสึนามิในพื้นที่ สำหรับในส่วนของหอเตือนภัยมีการทดสอบทุกวันพุธเวลา 08.00 น. ด้วยการเปิดเพลงชาติไทย และทุกหอเตือนภัยมีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน และในส่วนของโครงสร้างหอเตือนภัยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดูแลซ่อมแซมจากบริษัทที่รับผิดชอบ
ในส่วนของการวางทุ่นเตือนภัยได้ดำเนินการวางทุ่นเมื่อปลายปี 2565 โดยวางที่มหาสมุทรอินเดีย 1 ทุ่น และในพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน 1 ทุ่น โดยทุ่นมีประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยสึนามิ ทุ่นระยะไกล (มหาสมุทรอินเดีย) หากเกิดเหตุมีระยะเวลาในการแจ้งเตือนภัยประชาชน 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนทุ่นระยะใกล้ (ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน) จะใช้เวลาในการแจ้งเตือนภัยประมาณ 30 นาที
ดังนั้น หากมีข้อมูลแน่ชัดว่าจะเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวสึนามิ จะสามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนสามารถอพยพได้ทันท่วงที และขอยืนยันว่าทั้ง 2 ทุ่นยังมีประสิทธิภาพใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม และมีการตรวจสอบระบบทุกสัปดาห์