xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ายังให้ “พล.อ.ประยุทธ์” นำการดับไฟใต้ คงได้เห็น “ระเบิดแล้ว ระเบิดอยู่ (และจะ) ระเบิดต่อ” อีกยาวแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก ช่วงสงกรานต์ต่อเนื่องถึงหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 20 เหตุการณ์ ที่หนักมากคือการโจมตีฐานปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีทั้งตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครบาดเจ็บ และตายเป็นจำนวนมาก

สำคัญที่สุดคือทำให้ “หน่วยงานความมั่นคง” ในพื้นที่สูญเสียความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนอกจากเป็นที่พึ่งให้ไม่ได้แล้ว กลับยังไม่สามารถป้องกันฐานปฏิบัติการของตนเองอีกด้วย เป็นการตอกย้ำถึง “งานมวลชน” และ “การข่าว” ที่ไร้ประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

นี่ยังต้องจัดว่าเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ของขบวนการบีอาร์เอ็นที่สั่งการโดยแกนนำที่อยู่ในมาเลเซียเท่านั้น เพราะดูเหมือนเป็นปฏิบัติการแบบต้องการ “เยาะเย้ย” ที่ไม่เอาถึงขั้นทำลายล้าง สังเกตได้จากเมื่อเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่แล้วก็ถอนตัวออกไปแบบไม่รุกไล่ให้เข้าตาจน

เป็นการตอกย้ำอีกหนถึง “ความล้มเหลว” ของ “กองทัพ” โดยเฉพาะกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่งนอกจากบรรดาแม่ทัพ-นายกองแล้ว ที่สำคัญ “ผบ.ฉก.ในพื้นที่” ทั้งที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ย่อมสมควรต้องออกมาแอ่นอกรับผิดชอบแบบ “ข้าน้อยสมควรตาย” หรือสมควรต้องพ้นจากตำแหน่งไปกันได้แล้ว เพราะไร้ความสามารถสู้รบปรบมือกับกองโจรบีอาร์เอ็นแค่หยิบมือเดียว

มีข้อสังเกตว่านอกจาก “ฐานปฏิบัติการปกติ” ที่มีอยู่มากมายของทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) แล้ว คราวนี้ “ฐานปฏิบัติการ นปพ.” ทั้งที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ต่างกลายเป็นเป้าหมายถูกถล่มโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย

แถมยังต้องจัดว่าฐานปฏิบัติการเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ “ประชิดติดตัวเมือง” มากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ ด้วย ตัวอย่างคือเหตุระบิดเส้นทางรถไฟที่ จ.ยะลา ซี่งทำให้ขบวนรถไฟสายสำคัญๆ ต้องหยุดเดินรถในห้วงประเพณีสงกรานต์ที่มีประชาชนจำนวนมากต้องพึ่งพิงการเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นคราวนี้ถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวชายแดนใต้พอสมควร โดยปกติพวกเขามักจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในห้วงวาระสำคัญๆ ด้วยการโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเส้นทางรถไฟ ถนนหนทาง หรือระบบไฟฟ้า เพราะกลัวกระทบฐานมวลชน

สาเหตุอาจเพราะเวลานี้ความคิดของประชาชน โดยเฉพาะกับชาวชายแดนใต้เปลี่ยนมุมมองไปมาก ด้วยเห็นว่าเมื่อรัฐบาลทุ่มงบประมาณดับไฟใต้ลงมาปีละกว่า 30,000 ล้านบาท แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การก่อการร้ายหรือมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆ ถือว่าเป็นอะไรที่ “คุ้มค่า” กันแล้ว

สรุปแล้วปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ช่วงเดือนรอมฎอนของบีอาร์เอ็นปีนี้ยังเป็นไปแบบเดิมๆ คือสร้างความวุ่นวายเพื่อทำลายความเชื่อมั่นศรัตรู โดยเฉพาะเป้าหมายคือจัดการกับ “มุสลิม” ที่ร่วมมือหรือเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นไปตามแผนการที่ “บ่มเพาะ” มาตลอดว่า “ฆ่าศัตรู” ในเดือนรอมฎอนจะได้รับผลบุญเพิ่ม 10 เท่า

ถามว่าเรื่องราวเหล่านี้ “คนใหญ่คนโต” ใน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รู้หรือไม่ ตอบได้แบบไม่ต้องคิดได้เลยว่า “รู้” และ “กระจ่าง” เสียด้วย แต่เป็นเพราะปฏิบัติทำหน้าที่ได้อย่าง “ไร้ขีดความสามารถ” ในการป้องกันมาโดยตลอดนั่นเอง

แล้วถ้าถามต่อว่า “คนที่ไม่ใหญ่ไม่โต” ที่เป็นกองกำลังในพื้นที่ทั่วไปรู้เรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ ตอบได้ว่า “รู้” แต่จะ “เข้าใจ” หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากบอกว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อย “รู้เขา” แถมเผลอๆ อาจไม่ “รู้เรา” เอาเสียด้วย เนื่องจากความล้มเหลวในด้าน “งานการข่าว” ทำให้ไม่ทราบว่าถึงความเคลื่อนไหวของกองกำลังของบีอาร์เอ็นที่แฝงฝังอยู่ตามหมู่บ้านหรือชุมชน

นอกจากนี้ เมื่อหันมาพิจารณาวิธีการทำงานของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่มักแยกกันเล่น 2 บทบาท หรือจะเรียกว่า “ตี 2 หน้า” ก็น่าจะได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นการเดินไปแบบ “เข้าทาง” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นมาโดยตลอด แถมยังสามารถเอาไปขยายผลเพิ่มความ “หวาดระแวง” และสร้างความ “ไม่ได้วางใจ” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้มากขึ้นด้วย

กล่าวคือ “แม่ทัพ” นิยมเล่นบทเข้าหามวลชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน สตรีและผู้นำศาสนา เพื่อสร้างภาพให้เห็นถึงความจริงใจ ยึดมั่นในสันติวิธี สนับสนุนการดับไฟใต้ด้วยกระบวนการสันติภาพ อย่างช่วงเดือนรอมฎอนก็แจกอินทผลัมกันเอิกเกริก หรือปรับจุดตรวจ-จุดสกัดในพื้นที่ล่อแหลมให้หันมาเป็นจุดบริการประชาชน ปลดป้ายที่มีภาพ-ชื่อผู้ต้องหาออกไปตามข้อเรียกร้องเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมใต้ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็น

รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อแบบเห็นด้วยและส่งเสริมการ “แต่งกายตามวิถีมลายู” ว่าสวยงามและเป็นอัตลักษณ์ที่ควรค่า ส่งทหารไปร่วมจัดแข่งขัน “สร้างประตูชัย” ในแต่ละหมู่บ้าน ใช้การให้รางวัลแทนการกีดกันและจับผิด ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่ดี

ทว่าในขณะ “แม่ทัพ” เล่นบทยิ้มแย้มแจ่มใสและถึงขั้นดึงมากอดจูบอยู่นั้น ฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มหนึ่งกลับใช้ยุทธวิธีแบบเดิมๆ คือยกกำลังพลอาวุธครบมือจำนวนมาก ใช้ทั้งรถหุ้มเกราะ เรือและเฮลิคอปเตอร์เข้าจู่โจมปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อกวาดล้างและจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ และมักจบลงด้วยการวิสามัญฯ บ่อยครั้ง

ตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้คือเหตุการณ์ที่ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการสั่งอพยพชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องไปรวมกันที่โรงเรียน ก่อนระดมตรวจค้นบ้านเรือนที่เชื่อว่ามีแครือข่ายกองกำลังฝ่ายบีอาร์เอ็นหลบซ่อนอยู่ ซึ่งจับกุมได้ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดีได้ 1 ราย และจับกุมเยาวชนไปด้วยอีก 5 คน

หากถามว่า “คุ้มไหม” กับปฏิบัติการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ในเดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม คำตอบอยู่ที่ปฏิบัติการครั้งนั้นได้สร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรระหว่างคนในพื้นที่ โชคดีที่คนแก่และเด็กเล็กไม่มีใครเป็นลม ล้มป่วยหรือเสียชีวิต แต่เฮลิคอปเตอร์ที่โฉบต่ำทำให้หลังคากระเบื้องของบ้านโบราณเสียหาย สุดท้ายต้องรับผิดชอบซ่อมแซมให้

ไม่เพียงเท่านั้นหลังเกิดเหตุกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นโจมตีฐาน ตชด.ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส มีทั้งเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ฝ่ายปฏิบัติการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงกลับต้องสั่ง “ปิดชายแดน” บางพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้าย เพราะแยกไม่ออกระหว่างชาวบ้านที่เดินทางกลับจากมาเลเซียมาร่วมฉลองฮารีรายอ กับ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นที่แอบแฝงปะปนเพื่อเข้ามาการก่อเหตุร้าย

เชื่อไหมพฤติกรรม “เล่น 2 บท” หรือ “ตี 2 หน้า” ช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ แม้จะมีทั้งแบบ “ตบหัว” แล้วก็ “ลูบหลัง” ผสมผสานกันก็ตาม โดยแบบแรกเวลานี้ได้ถูก “ปีกการเมือง” บีอาร์เอ็นนำไปเปิดปฏิบัติการ “ไอโอ” เพื่อสร้างก่อไฟแค้นในใจชาวบ้านแล้ว ส่วนแบบหลังเชื่อว่าน่าจะ “สูญเปล่า” เพราะคนในพื้นที่รับรู้จน “ชาชิน” กันมานาน โดยเฉพาะมีการเปรียบเปรยว่า “อินทผลัม” เวลานี้อาจไม่ต่างจาก “น้ำตาลฉาบยาพิษ”

ที่กล่าวมาทั้งหมดคงต้องถือเป็น “เหตุการณ์ปกติ” ในช่วงสงกรานต์และรอมฎอนที่ผ่านมาของปีนี้ เพราะนอกจากเคยเกิดขึ้นมาตลอดกว่า 19 ปีไฟใต้ระลอกใหม่แล้ว ต้องจัดว่าเป็น “ปรากฏการณ์ซ้ำๆ” สำหรับช่วง 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่อง

ยังต้องจับตากันต่อว่าห้วง “10 หลังฮารีรายอ” จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรตามมาอีกหรือไม่ หรือบรรดาแม่ทัพ-นายกองจะมีมาตรการป้องกันหรือรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเพิ่ม ส่วนประชาชนคงไม่ต้องตั้ง “ความหวัง” อะไรให้มากกว่านี้ เพราะแค่ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เอาตัวให้รอดให้ได้ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

สถานการณ์ไฟใต้ท่ามกลางปี่กลองที่ดังระเบ็งเซ็งแช่มาจากสนามเลือกตั้ง ส.ส.อยู่ในเวลานี้ จึงน่าสรุปได้แล้วว่า “ระเบิดแล้ว ระเบิดอยู่ (และจะ) ระเบิดต่อ” ถ้าได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องจากหลังวันกาบัตรเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น