ยะลา - กลุ่มเยาวชนมุสลิมร่วมกับชาวบ้านมลายูบ้านบันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ใช้เวลาในเดือนรอมฎอนร่วมกันสร้างประตูชัยแห่งวัฒนธรรมมลายู หรือปินตูกืรบังมลายู ต้อนรับเทศกาลฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1444
วันนี้ (22 เม.ย.) กลุ่มเยาวชนมุสลิมบ้านบังนังสิแน ร่วมกับชาวบ้านมลายูบ้านบันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา กว่า 100 คน ซึ่งใช้เวลาว่างในเดือนรอมฎอน หลังจากละศีลอดไปแล้ว หรือหลังละหมาดตะรอเวียะห์ ได้ร่วมกันคนละไม้คนละมือสร้างประตูชัยแห่งวัฒนธรรมมลายู หรือปินตูกืรบังมลายู ต้อนรับช่วงเทศกาลฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1444 โดยมี ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม และชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมให้กำลังใจ และให้การสนับสนุนการทำงานของชาวบ้านและกลุ่มเยาวชนดังกล่าว
นายนัทมุดีน บาสะนุง ประธานกลุ่มเยาวชนมุสลิมบ้านบังนังสิแน กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน กลุ่มเยาวชนได้ร่วมหารือกับนายมานิส อาบา ผู้ใหญ่ ม.7 ต.ยะรม และชาวบ้านว่าจะร่วมกันสร้างปินตูกืรบังมลายูเพื่อต้อนรับเทศกาลฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ซึ่งทุกคนตอบตกลงให้ความร่วมมืออย่างดี โดยขอใช้พื้นที่สนามหญ้าของเอกชน อยู่ตรงข้ามตลาดนัดบันนังสิแน และทางเข้า อบต.ยะรม ในการสร้างปินตูกืรบันดังกล่าว พร้อมเปิดบัญชีขอรับเงินสนับสนุนในการดำเนินการสร้างผ่านเลขบัญชี 055-1-11848-2 ธนาคารอิสลาม ชื่อ นายมูฮัมหมัดฮารูน เจ๊ะสาเร๊ะ (กองทุนพัฒนาเยาวชนมุสลิมบ้านบังนังสิแน) เพื่อนำเงินดังกล่าวซื้ออุปกรณ์ในการสร้าง และแบ่งหน้าที่แต่ละฝ่ายในการสร้าง
สำหรับโครงสร้างของซุ้มประตูทางเข้าออก พร้อมกำแพงได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิดอาหรับ จากประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่วนของหลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบมินังกาเบา ของประเทศอินโดนีเซีย มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมประเทศอินโดนีเซีย และสะพานข้ามคลองเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างปืนใหญ่คู่ตั้งใว้หน้าประตูซุ้มทางเข้าออก ตกแต่งประดับด้วยโคมไฟหลากสี ซึ่งปินตูกืรบัง มีความสูง 10 เมตร ยาว 30 เมตร วัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่และไม้ตาลที่มีความแข็งแรงทนทาน หาได้ง่ายในพื้นที่เบตงบ้านเรา
อย่างก็ไรก็ตาม ตลอดช่วงของการทำงานในเดือนรอมฎอน ได้มีผู้ใหญ่ใจดี และชาวบ้านที่สนับสนุนเงิน ต่างซื้ออาหารและขนมไว้ละศีลอด หลังเห็นความตั้งใจ ความสมัครสมานสามัคคีของทุกคนที่อดหลับอดนอนเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้แก่ชุมชนของเรา และรอดูความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งตอนนี้การสร้างประตูชัยแล้วเสร็จประมาณ 97% เหลืออีก 3% เก็บรายละเอียด พ่นสีแล็กเกอร์และเดินไฟ จะพยายามให้เสร็จก่อนเทศกาลวันฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรี เพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และเก็บเป็นภาพประทับใจเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้รู้ว่าครั้งหนึ่งในพื้นที่เรานั้นมีความรัก ความความสามัคคีในการสร้างประตูชัยดังกล่าว
ด้าน ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม กล่าวว่า ตนได้เห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้าน และน้องๆ กลุ่มเยาวชนมุสลิมบ้านบังนังสิแน แล้วน่าชื่นชมเป็นอย่างมากที่ยอมเสียสละมาร่วมแรงร่วมใจในสร้างสรรค์ประตูชัยแห่งวัฒนธรรมมลายู หรือปินตูกืรบังมลายู นับเป็นคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในส่วนของ ต.ยะรม มีการทำปินตูกืรบัง อยู่ 6 แห่งด้วยกัน ตนจะจัดประกวดความสวยงามของปินตูกืรบังดังกล่าว โดยใช้เงินส่วนตัวเป็นรางวัลในการสนับสนุน โดยรางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 4,000 บาท รางวัลที่ 2 3,000 บาท รางวัลที่ 3 2,000 บาท และชมเชย 1,000 บาท จากนั้นจะมีการส่งประกวดในระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นอกจากนี้ ที่มัสยิดอัสซุนนะฮ์ บ้านกาแป๊ะฮูลู อ.เบตง จ.ยะลา ชาวไทยมุสลิม ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ชายและหญิง ต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามแบบอย่างอิสลามเดินทางมาร่วมละหมาดเนื่องในวันฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรีกันเป็นจำนวนมาก
นายซัมซูเด็ง มะมิง อิหม่ามมัสยิดบ้านกาแป๊ะฮูลู กล่าวว่า ภายหลังจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้วันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2566 เป็น “วันอีฎิ้ลฟิตรี” ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1444 พี่น้องชาวไทยมุสลิมต่างพาครอบครัวไปร่วมละหมาดที่มัสยิด จากนั้นได้ร่วมรับประทานอาหารและเดินทางไปเยี่ยมหลุมฝังศพบรรพบุรุษยังสุสาน เพื่อระลึกถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว โดยในห้วงเวลานี้ถือเป็นเวลาของครอบครัวที่ญาติพี่น้องทุกคนจะมารวมตัว ขออภัยในส่งที่ล่วงเกินกันไว้ พร้อมทั้งร่วมประกอบศาสนกิจอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นจะไปมาหาสู่ผู้หลักผู้ใหญ่ และท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยที่ประตูชัยแห่งวัฒนธรรมมลายู หรือปินตูกืรบังมลายู ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง เป็นอีกจุดหนึ่งที่มาถ่ายรูปเช็กอิน ซึ่งประตูชัยแห่งวัฒนธรรมมลายู หรือปินตูกืรบังมลายู นับเป็นคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
สำหรับการเฉลิมฉลองในเทศกาลฮารีรายอในปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา โดยประชาชนจากต่างพื้นที่ รวมทั้งชาวมาเลเซียมีการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งตลอดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาวของเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลฟิตรีของประเทศมาเลเซีย จึงคาดว่าตลอดสัปดาห์นี้ยาวไปถึงสัปดาห์หน้าจะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมาพักผ่อนในพื้นที่มากขึ้น