กระบี่ - เกษตร จ.กระบี่ นำนวัตกรรม BCG Model ดันทุเรียน อ.ปลายพระยา 2 ตำบลสู่ทุเรียนคุณภาพ เพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตทุเรียนทะเลหอยจังหวัดกระบี่ ด้วย “BCG Model”
จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 6,615 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 3,513 ไร่ ผลผลิต 1,051 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 299 กิโลกรัม อำเภอปลายพระยาเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในจังหวัดกระบี่ จำนวน 4,165.74 ไร่ ผลผลิตทุเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความโดดเด่นด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุมในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลปลายพระยา มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 2,416.74 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 788.86 ไร่ และตำบลเขาเขน มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 1,310 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 789 ไร่
ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ 2 ตำบลของ อ.ปลายพระยา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในจังหวัดและพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งยังมีศักยภาพสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ และมีคุณสมบัติที่สามารถส่งเสริมในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 (IG) จนได้ได้รับเครื่องหมาย GI คุ้มครองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
นายชำนาญ นุ่นดำ เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ได้ส่งเสริมการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพการผลิตทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่ ด้วย “BCG Model” ด้วยการห่อผลด้วยถุงห่อทุเรียน Magik Growth ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งใน BCG Model เป้าหมายเพื่อลดการใช้สารเคมีในสวนทุเรียนโดยใช้ถุงห่อผล รวมถึงส่งต่อความรู้ให้แก่เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรแกนนำ และผู้สนใจให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงาน ภาครัฐ และภาคเอกชนในการขยายผลองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
ผลงานวิจัยถุงห่อทุเรียนนอนวูฟเวนจะมีความคงทนต่อสภาวะการใช้งาน สามารถใช้ได้ 3 รอบการเก็บเกี่ยวช่วยให้เปลือกทุเรียนบางลง 20-30% น้ำหนักผลสูงขึ้น 10-15% ป้องกันหนอน กระรอก กระแต เจาะผล และลดเพลี้ยแป้ง ราดำได้ทำให้ลดการใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มห่อ จนถึงเก็บเกี่ยว (2 เดือน) นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตทุเรียนที่ห่อถุงได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด 10-30%