“ขนมดัวร์บุรี” ขนมพื้นบ้านที่หาทานยาก มีเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนนี้เท่านั้น ซึ่งชาวบ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อนุรักษ์ขนมดัวร์บุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า “ขนมไส้แดง” ไว้เป็นของคู่เมืองสตูล โดยวันนี้ชาวบ้านท่าแลหลา กำลังช่วยกันทำขนมดัวร์บุรี เพื่อส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ และเตรียมขายในช่วงเย็นก่อนละศีลอดในเดือนรอมฎอน สร้างรายได้ให้ผู้ผลิตกว่า 2,000 บาทต่อวัน
ขณะที่ส่วนผสมของขนมดัวร์บุรี แยกเป็นส่วนผสมของไส้ ประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า น้ำตาล กะทิ เกลือ น้ำนมแมวเพื่อให้ได้กลิ่นหอม และสีผสมอาหาร ซึ่งสามารถใช้สีอะไรก็ได้ตามชอบ แต่สูตรดั้งเดิมจะใช้สีแดง เมื่อได้ส่วนผสมแล้วก็นำทั้งหมดมากวนด้วยไฟกลาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อไส้สุกได้ที่แล้วนำมาพักให้เย็น
สำหรับส่วนผสมของแป้งห่อไส้จะใช้แป้งหมี่ ละลายด้วยน้ำเปล่า ไม่ข้นหรือเหลวจนเกินไป จากนั้นใช้จวักตักแป้งใส่กระทะที่ทาน้ำมัน ป้องกันแป้งติดกระทะ แล้วเกลี่ยให้เป็นแผ่นขนาดเท่ากันพอห่อขนมได้ จากนั้นยกลงมาห่อไส้สีแดงที่เตรียมไว้ พับเป็นครึ่งวงกลม เป็นอันเสร็จสิ้น จะได้ขนมดัวร์บุรี เนื้อแป้งนุ่มๆ หวานเล็กน้อย รสชาติกลมกล่อม
ขั้นตอนการทำที่ต้องใช้ความชำนาญ นับเป็นขนมที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นกว่า 100 ปีแล้ว โดยจะจัดทำเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม เพื่อไว้ละศีลอดในช่วงตอนเย็น จำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาท สามารถสั่งออเดอร์ล่วงหน้าได้ที่ “ก๊ะช๊ะ บ้านท่าแลหลา” โทร.08-0545-3577
ด้านองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ซึ่งนำโดย นางสำลี ลัคนาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ต้องการที่จะเข้ามาส่งเสริม อนุรักษ์ขนมพื้นบ้านชนิดนี้ให้อยู่คู่ ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล ที่กำลังจะสูญหายไปให้เป็นที่รู้จัก และควรค่าของการอนุรักษ์ เพราะด้วยรสชาติที่อร่อย นุ่มละมุนลิ้น และสีสันที่ชวนรับประทาน เป็นเอกลักษณ์ของ “ขนมดัวร์บุรี” หรือ “ขนมไส้แดง”