เลขาฯ ศอ.บต. เยี่ยมโต๊ะครู และเยาวชน สถาบันปอเนาะต้นแบบ อ.ยะหา เตรียมผลักดันเป็นสถาบันการศึกษาผลิตคนดี มีงานทำ พร้อมร่วมละศีลอดกับผู้แทนปอเนาะ 27 แห่งในพื้นที่
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนปอเนาะต้นแบบ ณ สถาบันศึกษาปอเนาะตะฮ์ฟีซุลกุรอาน ดารุสลาม ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ปอเนาะในโครงการพัฒนาชุมชนปอเนาะต้นแบบ สานใจไทยสู่ใจใต้ เพื่อเยี่ยมเยียนโต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู และนักเรียนที่อยู่โรงเรียนประจำ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายอำเภอยะหา นายกเทศมนตรียะหา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนปอเนาะใน อ.ยะหา เข้าร่วมละศีลอดพร้อมกัน กว่า 27 โรง
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ตั้งใจมาเยี่ยมเยียนบาบอ โต๊ะครู และผู้ช่วยโต๊ะครู นักเรียน เพื่อพบปะ สานสัมพันธ์ในห้วงเดือนรอมฎอน เดือนอันประเสริฐของพี่น้องศาสนาอิสลาม ซึ่งลงพื้นที่ร่วมเยี่ยมเยียนและละศีลอดร่วมกับพี่น้องอิสลามในพื้นที่ในห้วงเดือนนี้ เนื่องจากปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษา และเป็นสถาบันที่ยึดโยงกับจิตวิญญาณของประชาชนในพื้นที่ ศอ.บต.จึงร่วมกับสมาคมสานใจไทย สู่ใจใต้ เตรียมพัฒนาชุมชนควบคู่กับปอเนาะต้นแบบ เสริมสร้างอาชีพแก่นักเรียน เพื่อให้สถาบันปอเนาะเป็นสถาบันสร้างคนดี มีงานทำ และพร้อมผลักดันสถาบันปอเนาะเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสนาที่มีประสิทธิภาพเช่นอดีต ที่สามารถดึงนักเรียนต่างประเทศเข้ามาเรียนในพื้นที่
ด้านนายมูฮัมหมัดอุสมัน กาแต ผู้รับใบอนุญาตปอเนาะ กล่าวว่า สถาบันศึกษาปอเนาะตะฮ์ฟีซุลกุรอาน ดารุสลาม เป็นสถาบันที่มุ่งเน้นให้นักเรียนท่องจำอัลกุรอาน 30 บท ยึดโยงกับวิถีชีวิตอิสลาม ที่มีความจำเป็นต้องมีผู้นำและเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาในลักษณะนี้ในพื้นที่ เพื่อเป็นผู้นำละหมาด ทั้งละหมาด 5 เวลา และละหมาดตารอเวียะในเดือนรอมฎอน ซึ่งในทุกปีสถาบันได้ส่งนักเรียนไปเป็นอิหม่ามทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ทุกครั้งที่มีผู้เสียชีวิตจะนำเด็กๆ ละหมาดและอ่านอัลกุรอานจบ 30 บท โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คำว่าชายแดนใต้เปรียบเหมือนระเบียงเมกกะ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาที่ถูกต้อง มีการเรียนการสอนเหมือนที่เมกกะ ซาอุดีอาระเบีย เพียงแต่เป็นภาษามลายูเท่านั้น ในอดีตจึงมีเยาวชนในต่างประเทศเข้ามาศึกษาศาสนา และจบไปเปิดสถาบันเป็นของตนเอง 7 สถาบัน แบ่งเป็นในประเทศไทย 3 แห่ง มาเลเซีย 2 แห่ง และอินโดนีเซีย 2 แห่ง ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษา ควบคู่กับอาชีพ เพื่อให้นักเรียนได้จบไปแล้ว มีงานรองรับ
สำหรับพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา มีสถาบันปอเนาะทั้งสิ้น 27 แห่ง จดทะเบียนแล้ว 16 แห่ง มีนักเรียนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นสถาบันขัดเกลาจิตใจของเยาวชนให้เป็นคนดีตามหลักศาสนาอิสลาม