xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ร่วมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านเครื่องยนต์เรือ และอุตสาหกรรมเรือทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบ.บต. ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยสถาบันการศึกษา ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านเครื่องยนต์เรือ และอุตสาหกรรมเรือทั้งระบบ โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพของไทย และสหพันธ์ธุรกิจต่อเรือของประเทศตุรเคีย

วันนี้ (8 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ผ่านระบบการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบหมายให้ นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. เป็นผู้เเทนประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องยนต์เรือ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ และผลักดันสาขาการต่อเรือให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลียน โดยในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอภิวัฒน์ ถาวรแก้ว นักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ อาจารย์ประจําคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายธิติ ส่งตระกูล ประธานกรรมการบริษัท ลันตาครูซ จำกัด นายรอเฉด ใบกาเด็ม และ ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ผู้บริหารวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลียน Mr.Sinan Aktaş ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอินซาน ประเทศตุรเคีย และ Mr.Sadullah เจ้าของธุรกิจผู้ผลิตเรือยอชต์รายใหญ่ที่ส่งออกไปประเทศเยอรมนี และประเทศสหรัฐอเมริกา ปีละมากกว่า 100 ลำ และเป็นผู้มีบทบาทในสหพันธ์ธุรกิจต่อเรือของประเทศตุรเคีย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

โดยที่ประชุมมีการหารือและมีข้อสรุปที่สำคัญ จำนวน 3 ประเด็น คือ


ประเด็นที่ 1 การพัฒนาโครงการในการผลิตนวัตกรรมเครื่องยนต์เรือ จากเครื่องยนต์สันดาปเป็น EV หรือไฮบริด เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานของผู้ประกอบการ และลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเกาะ หรือการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากสำนักงานนวัตกรรมเเห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัย ปละสถาบันการศึกษา พร้อมด้วยภาคเอกชนทั้งของประเทศไทยและของประเทศตุรเคียในการพัฒนานวัตกรรม โดยจะกำหนดหารือเพื่อกำหนดกรอบและระยะเวลาการทำงานให้มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

โดยนายธิติ ส่งตระกูล ประธานกรรมการบริษัท ลันตาครูซ จำกัด กล่าวว่า "ทางบริษัทมีประสบการณ์ด้านการเดินเรือมากกว่า 60 ปี และมีความพร้อมที่จะพัฒนา เป็นความน่ายินดีที่ทางบริษัทได้มีโอร่วมสนับสนุนการพัฒนาในครั้งนี้ เนื่องจากมีช่างผู้เชี่ยวชาญในด้านการต่อเรือ ซ่อมเรือ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์เดินเรือและการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์สำหรับเรือทุกประเภท เป็นอู่เรือที่ใช้ Marine Airbags สามารถรับเรือขนาดน้ำหนักถึง 3,500 ตัน มีความยินดีที่มีโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมเรือของประเทศไทย"

นอกจากนี้ นายอภิวัฒน์ ถาวรแก้ว นักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "ศักยภาพและความพร้อมของภาคเอกชนมีค่อนข้างสูงประกอบกับความร่วมมือทางด้านวิชาการที่ได้มีความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเห็นควรที่จะมีการหารือให้พัฒนาโครงการให้มีความพร้อมตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ตามที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกำหนด โดยทางสำนักงานยินดีที่จะประสานและหารือเพื่อกำหนดกรอบแนวทาง และข้อเสนอของโครงการให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนก่อนเสนอขอรับทุนต่อไป"

ประเด็นที่ 2 การพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและการสนับสนุนสถาบันการศึกษาโดยความร่วมมือเอกชนในการพัฒนาการเรียนการสอน และการเป็นสถานที่ฝึกงานทั้งประเทศไทย และประเทศตุรเคีย โดยทางภาคเอกชนที่มีอู่ต่อเรือ และวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลียน ร่วมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี เพื่อเพิ่มจำนวนชั่วโมงของการปฏิบัติจริงให้มีทักษะ และสามารถทำงานได้ทันทีหลังจากการเรียนจบ รวมทั้งการวางหลักสูตรและความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในการฝึกภาคปฏิบัติและการศึกษาแลกเปลี่ยนของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้วิทยาลัยซึ่งเบื้องต้นได้ผ่านความเห็นชอบหลักสูตรในชั้นที่ 1 แล้ว อยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ และคาดการณ์ว่าจะสามารถรับนักศึกษารุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2566 ในบางสาขาที่มีความพร้อมก่อน และในปี 2567 ในสาขาเพิ่มเติม รวมทั้งวางแผนที่จะยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

ด้าน ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ผู้บริหารวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลียน กล่าวว่า "ถือเป็นโอกาสก้าวสำคัญของวิทยาลัยที่พัฒนาหลักสูตรต่อเรือ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเป็นการพัฒนาความมือด้านการศึกษา เทคโนโลยี และธุรกิจกับประเทศตุรเคีย ผ่านสถาบันการศึกษา เนื่องจากประเทศตุรเคียเป็นประเทศที่มีท่าเรือและอุตสาหกรรมต่อเรือเพื่อส่งออกไปหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เเละประเทศเยอรมนี เป็นต้น เนื่องจากสตูลในอดีตเมื่อ 60-70 ปี ที่แล้ว เคยมีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้จึงจะเป็นการพัฒนาที่มีร่องรอยเดิมจากในอดีต และมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาจังหวัดสตูลให้เป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ และแรงงานที่มีทักษะในสาขาอุตสาหกรรมต่อเรือส่งไปภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก"

ศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า "ทางตนและคณะพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานทั้งของเอกชน รวมทั้งในส่วนของวิทยาลัยด้วย โดยยินดีที่จะประสานกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสนับสนุนการวางหลักสูตร และการสนับสนุนบุคลากรเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย"

ประเด็นที่ 3 ความร่วมมือของภาคเอกชนในการลงทุนร่วมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ รวมถึงการพัฒนาระบบการขนส่งทางเรือ เพื่อให้ไทยและตุรเคียเป็นประเทศร่วมกันพัฒนาทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระยะต่อไป

โดยนายธิติ ส่งตระกูล ประธานกรรมการบริษัท ลันตาครูซ จำกัด กล่าวว่า "มีความพร้อม ละมีความยินดีที่จะร่วมทุนกับภาคเอกชนจากประเทศตุรเคีย เเละโดยเฉพาะหากทางตุรเคียสามารถนำตลาดที่เอกชนจากประเทศตุรเคียมีศักยภาพมาใช้ประเทศไทยในการผลิตเพื่อส่งออก จะทำให้อุตสาหกรรมเรือของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด"

ท้ายของการประชุม นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. กล่าวสรุปประเด็นความร่วมมือทั้ง 3 ส่วนเมื่อได้หารือเชิงหลักการในวันนี้แล้วจะทำแผนต่อเนื่อง และนำไปสู่การพูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 2 ประเทศโดยท่านทูตไทยในประเทศตุรเคีย และท่านทูตตุรเคียในประเทศไทยได้รับทราบและเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว หากได้ข้อสรุปประมาณเดือนพฤษภาคมหลังการเลือกตั้งจะนำไปสู่เรื่องของการทำความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะรัฐบาลกับรัฐบาลของประเทศไทย และประเทศตุรเคียเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทั้ง 3 เรื่องให้เป็นไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น