นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เกียรติต้อนรับนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมพบปะและหารือการพัฒนาระบบการเงินอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ สหกรณ์อิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนสภาเกษตรในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อการบริการจัดการการเงินที่โปร่งใส เป็นธรรมและดำเนินการภายใต้หลักการของศาสนาอิสลามในกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ “ผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ” ด้วยการพัฒนา “ระบบการเงินจุลภาค หรือระบบไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance)”
เนื่องจากเห็นว่าระบบการเงินจุลภาคมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ข้อเสนอดังกล่าวยังให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาระบบการเงินสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ตั้งแต่การฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน การชำระเงิน การโอนเงิน การออมเงิน การประกันภัยและการจ่ายเงินซะกาตให้คนยากคนจนและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมถึงกิจการขนาดเล็กของประชาชนที่รวมตัวกันเป็นการเฉพาะ ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การจัดหาเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอื่นๆ ของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนยากจนและคนเกือบจน (Near-poverty) ในพื้นที่
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นจำเป็นจะต้องประกอบสรรพกำลังของทุกส่วน มุ่งเน้นในการตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้าที่อยู่ในฐานะยากจนหรือเกือบจน โดยเฉพาะในระยะต่อไปจะทำให้เกิด “ระบบการเงินระดับจุลภาค” ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ การทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่ดีที่จะช่วยพัฒนาประชาชนและชุมชนให้ยั่งยืน การระดมทรัพยากรเพื่อให้บริการทางการเงินและการสนับสนุนอื่นๆ แก่คนยากจน การเรียนรู้และประเมินผลเพื่อหาวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนได้เร็วขึ้น การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและการฝึกอบรมคนยากจนในชนบทให้มีทักษะพื้นฐานและส่งเสริมคนเหล่านั้นให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อการมีส่วนร่วมในการจ้างงานและการสร้างรายได้ในชนบท โดยที่ประชุมวันนี้ หากเห็นชอบเป็นหลักการร่วมกันแล้วจะได้มีการจัดตั้งกลไกการพัฒนาข้อเสนอร่วกมันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพัฒนานวัตกรรมข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่ฟังข้อมูลการนำเสนอของ ศอ.บต. เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก สมควรที่จะกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายของประเทศไทย และเชื่อมโยงระบบการเงินทั้งระบบให้อยู่ในระบบเดียวกัน เบื้องต้น เห็นชอบเป็นหลักการและจะได้เสนอผู้บริหาร I-Bank เข้ามาพัฒนาข้อเสนอร่วมกัน โดยเฉพาะธนาคารมีข้อมูลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวพอสมควร ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการทำงานในหลายลักษณะที่เหมาะสมตามสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มประชาชนอย่างแท้จริง
"เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์และสอดรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้าไม่ถึงการเงินของรัฐเป็นอย่างมาก ธนาคารมุ่งหวังจะพัฒนาระบบการเงินและการเงินเร่งด่วนของประชาชน เมื่อประสบปัญหาจะสามารถเข้าถึงเงินด่วนได้โดยใช้หลักการความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งจะต้องออกแบบระบบการจัดการที่ดีร่วมกันต่อไป"
ด้านนายอาพันดี หะซั้น กรรมการดำเนินการสหกรณ์อิสลามบีนา จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์มีความเห็นชอบกับการพัฒนาข้อเสนอดังกล่าวร่วมกัน เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มด้อยโอกาสอย่างแท้จริง เป็นมิติการเข้าใจปัญหาและการวางแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นตอของปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด อย่างเช่น สหกรณ์มีกลุ่มเป้าหมายการทำงานเรื่องนี้กว่า 6 พันคน ที่ผ่านมา ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้มีงานทำ มีรายได้ มีความสามารถและมีวินัยการเงินที่ดี นำไปสู่การออมเพื่อตนเอง ครอบครัว และเห็นด้วยว่าเป้าหมายของโครงการจะต้องไปสู่การทำให้คนยากจนจ่ายซะกาตได้เพื่อนำไปสู่เรื่องการศึกษาและการศาสนา เช่น การไปอุมเราะห์และฮัจญ์ เป็นต้น
เป็นการทำงานมิติใหม่ที่ทำให้ทุกคนมีความคิด มีวินัย และมีความหวังในการดำรงชีวิต ไม่ใช่การปล่อยกู้อย่างเดียวเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะเชื่อมโยงการฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน การชำระเงิน การโอนเงิน การออมเงิน การประกันภัยและการจ่ายเงินซะกาต ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ โดยสหกรณ์มีประสบการณ์และมีเครือข่ายการทำงานวงกว้างจะได้ร่วมมือกันผลักดันการทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป