คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ถ้าได้อ่าน “จดหมายน้อย” ที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย สื่อไปยังฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งระบุว่า รัฐไทยต้องการเห็นสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอนที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2566 แล้วนั้น ก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ให้ความสนใจ ปล่อยให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นกำหนด
ก่อนหน้านี้ ตันศรี ซุลกิฟลี ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย ได้เดินทางเยือน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้พบผู้นำศาสนาอิสลาม และเจ้าอาวาสบางวัดเพื่อแสดงความจริงใจในการทำหน้าที่ แต่หลังกลับมาเลเซียก็นัด “ฝ่ายเทคนิค” ของคณะพูดคุยทั้ง 2 ฝ่ายให้ไปหารือกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่านอกจากพูดคุยเรื่องสันติสุขช่วงรอมฎอนแล้ว ยังอาจรวมถึงช่วงเข้าพรรษาที่เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธด้วย
แต่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ของผู้อำนวยความสะดวกกลับไม่มีมนต์ขลังใดๆ เพราะ “ถูกเท” จากฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือ จึงถือเป็นการปฏิเสธว่า ไม่เอาด้วยกับ “รอมฎอนสันติสุข” ที่สำคัญ ตันศรี ซุลกิฟลี ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้แกนนำบีอาร์เอ็นเดินเข้าสู่โต๊ะประชุมแต่อย่างใด ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการรอบต่อไปในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้จะเดินหน้ากันได้อย่างไร
ส่วนเหตุรุนแรงในพื้นที่ล่าสุด มีการยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ หรือ ผสร.ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แล้วชิงปืนไปได้ 2 กระบอก คือ ปืนยิงเร็วของราชการ และปืนพกสั้นส่วนตัวของผู้เสียชีวิต แม้เจ้าหน้าที่ไม่ให้รายละเอียด แต่จากรูปการเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น เพื่อตัดเขี้ยวเล็บเจ้าหน้าที่รัฐและต้องการนำอาวุธไปใช้ก่อการต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็น “วิธีการเดิมๆ” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วกว่า 20 ปี
ถือเป็นปกติหากวันไหนที่กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นมีความพร้อม พวกเขาก็จะก่อเหตุเพื่อช่วงชิงอาวุธจาก “กองกำลังท้องถิ่น” ที่ขาดความชำนาญในเรื่องการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะจากชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชรบ.) หรือชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เพื่อนำไปเสริมเขี้ยวเล็บให้ฝ่ายตน ประเด็นนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก หรือเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีเหตุซุ่มโจมตี “นายทหารสัญญาบัตร” ที่บ้านโสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ขณะที่เดินทางกลับจากปฏิบัติงานมวลชน แต่โชคดีที่ทำได้เพียงให้ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุร้ายเยี่ยงนี้จะยังเกิดขึ้นได้อีกในระหว่างเดือนรอมฎอนปี 2566 นี้
สำหรับห้วงเดือนรอมฎอนปี 2566 นี้ต้องถือว่า “พิเศษ” กว่าทุกปีที่ผ่านๆ มา เพราะประจวบกับจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. จึงมีการรณรงค์หาเสียงของทุกพรรคการเมืองกันคึกคัก ซึ่งในพื้นที่พิเศษอย่างชายแดนภาคใต้ต้องยอมรับความจริงว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” มีส่วนเข้าสนับสนุนคนของขบวนการเข้าร่วมด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปัจจุบัน บีอาร์เอ็นประกาศชัดมาตลอดว่า ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ต้องมีการส่งตัวแทนของขบวนการลงต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยแน่นอน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้มีตัวแทนไปทำหน้าที่เรียกร้องสภาในสิ่งที่ขบวนการต้องการ
ต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาทำให้วันนี้ บีอาร์เอ็นมีตัวแทนอยู่ทั้งในระดับ “อบต.” ขึ้นสู่ “เทศบาล” ไปจนถึง “อบจ.” แล้ว และยังเชื่อกันอีกว่า บีอาร์เอ็นยังส่งคนไปฝังตัวเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ท้องที่และท้องถิ่นด้วย โดยมีทั้งได้เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผรส. โดยเฉพาะกองกำลังท้องถิ่นที่ได้รับการติดอาวุธในนาม ชรบ. และ ชคต.
หากถามว่าประเด็นที่เพิ่งกล่าวมานี้ไม่ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงฝ่ายปกครอง และโดยเฉพาะตำรวจในท้องที่รับรู้หรือไม่ คำตอบที่ได้จากคนในสังกัดเหล่านั้นจะเป็นเช่นไรยอมรู้แก่ใจกันแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีของสังคมในพื้นที่ว่า พวกเขาไม่มีปัญญาในการ “แยกปลาออกจากน้ำ” จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องรอให้เกิดเหตุจนมีพยานหลักฐานชี้ชัดแล้วจึงค่อยดำเนินการ
เมื่อบีอาร์เอ็นใช้การเลือกตั้งทุกระดับเป็นเครื่องมือได้ “เหตุรุนแรงในพื้นที่” จึงย่อมต้องมีมากขึ้น และที่สำคัญต้องมีการใช้ความรุนแรงจัดการกับ “คู่แข่งทางการเมือง” ของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะ “พวกหัวคะแนน” ไล่เรียงไปตั้งแต่การใช้อำนาจหน้าที่หรืออิทธิพลข่มขู่เพื่อชี้นำให้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายตนเอง แล้วอาจจะขยายไปได้ถึงขั้นลงไม้ลงมือด้วยอาวุธอีกด้วย
ช่วงเวลานี้แม้แต่ “ผู้นำศาสนา” ที่สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน หรือบางพรรคการเมืองก็อยู่ในข่ายที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าคำตอบสุดท้ายของบีอาร์เอ็น ได้แก่ ถ้าการข่มขู่ไม่ได้ผล มีทางเดียวเท่านั้นคือ “ตาย” แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ สังคมชายแดนใต้กลับยังได้เห็นว่า มีผู้นำศาสนาจำนวนมากที่แสดงตัวว่ามีบทบาทต่อพรรคการเมืองบางพรรคอย่างมีเลศนัย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังเรื่อง “มือที่สาม” โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพลการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งพร้อมจะสวมรอยในการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วย โดยเมื่อปฏิบัติการแล้วมักโยนให้เป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบและสร้างความไขว้เขวให้แก่กระบวนการดำเนินคดี แถมฝ่ายเจ้าหน้าที่เองมักชอบที่จะปิดคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการโยนความผิดว่าเป็นเหตุที่มาจากเรื่องของ “ความมั่นคง”
และแม้แต่ “ปีกการเมือง” ของบีอาร์เอ็นก็จะฉกฉวยสถานการณ์มาใช้ป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปกติอยู่แล้ว โดยมักอ้างว่าเหตุรุนแรงเกิดจากเจ้าหน้าที่ เช่น หลังจากกองกำลังติดอาวุธยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต ฝ่ายปฏิบัติการไอโอของบีอาร์เอ็นออกมาประโคมโหมโห่ทันทีว่า “เจ้าหน้าที่สยามจัดการกับนายู” หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นผู้ปฏิบัติการฆ่าชาวมลายู แล้วกลับโยนความผิดให้บีอาร์เอ็น
เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ยังมีปฏิบัติการสร้างความรุนแรงด้วย “วาทกรรม” ทั้งจากพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างมีหาเสียงด้วยการป่าวประกาศนโยบาย “ปาตานีแมแดแก” หรือ “เมอร์เดก้าปัตตานี” แปลให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า “เอกราชปัตตานี” แถมยังมีเลยเถิดไปกว่านั้นด้วยการประกาศ “สนับสนุนขบวนการบีอาร์เอ็น” แบบโต้งๆ ก็มี
อีกทั้งมีหลายพรรคการเมืองหรือหลายผู้สมัคร ส.ส.นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ที่หน่วยความมั่นคงใช้บังคับอยู่ในพื้นที่ โดยทำการโจมตีต่างๆ เพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งหลายนโยบายที่นำมาหาเสียงหมิ่นเหม่ที่อาจจะขัดกับหลักคิดในเรื่องของ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” จึงต้องถามดังๆ ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะมีมาตรการในเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ดังนั้น ต้องขอบอกไว้ตรงนี้ว่า สนามเลือกตั้ง ส.ส.ในชายแดนภาคใต้เวลานี้จัดว่า “ไม่ธรรมดา” เพราะอาจมีการผสมโรงประเด็นต่างๆ ได้มากมาย ทั้งจากสถานการณ์ภายในและภายนอก ทั้งจากที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเมือง
ที่สำคัญห้วงแห่งรอมฎอนเวลานี้อยากให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มเข้มลงไปยัง “กองกำลังท้องถิ่น” ไม่ว่าเป็น “อส.” ทั้งที่เป็น อส.อ. และ อส.จ. รวมถึง “ทหารพราน” ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือ “เครื่องมือ” ของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง และจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะ “รับงาน” ปลิดชีพใครต่อใครเพื่อแลกกับค่าจ้างได้ตลอดเวลาด้วย
นอกจาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” แล้ว “ตำรวจ” และ “ฝ่ายปกครอง” ต้องมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายในห้วง “เดือนรอมฎอน” ที่ทับซ้อนกับ “การเลือกตั้ง ส.ส.” ในครั้งนี้ โดยเฉพาะ “คนเป็นนาย” ต้องไม่เอาแต่หลบแดดนั่งหน้าขาววอกอยู่ในห้องแอร์ และโดยเฉพาะ “แม่ทัพนายกอง” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” รวมถึง “นายอำเภอ” ต้องติดตามให้รู้ข้อเท็จจริง ต้องลงพื้นที่ ไม่เอาแต่นั่งรับรายงานอย่างเดียว