โดย… ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
จังหวัดนราธิวาส เมืองชายแดนที่ติดเขตประเทศมาเลเซียด้านรัฐกลันตัน เป็นสนามเลือกตั้งอีกสนามหนึ่งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องติดตาม ดูการสัปยุทธ์ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายแหล่ ที่แห่แหนส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบให้ความสำคัญ ทั้งที่มีเขตเลือกตั้งแค่ 5 เขต แต่กลับพบว่าทุกพรรคต่างทุ่มเทสรรพกำลังแบบแพ้ไม่ได้
จะเห็นว่าในพื้นที่ของลุ่มน้ำบางนรา หรือนราธิวาสแห่งนี้ 2 นายพลแห่งบูรพาพยัคฆ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ“ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างเหยียบบาทลงไปตรวจราชการ และเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ โดยการหมายมั่นปั้นมือที่จะปักธง ส.ส.ใน จ.นราธิวาสให้เป็นผลสำเร็จ
“รวมไทยสร้างชาติ” คว้าได้บ้านใหญ่อย่าง “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” นายก อบจ.นราธิวาส มาเป็นหัวหอกในการเดินเกมทางการเมืองในครั้งนี้ โดยมอบ “วัชระ ยาวอหะซัน” ส.ส.เขต 1 ที่สังกัดพรรค “ลุงป้อม” พลังประชารัฐ มาอยู่ในสังกัดของ “ลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการตกปลาในบ่อพี่ ที่น่าจะสร้างความแค้นเคืองให้ลุงป้อมไม่มากก็น้อย
เพราะสังเกตได้จากที่พี่ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังจากที่เสียปลาตัวอ้วนในบ่อให้น้องตู่ ก็เปิดเกมสู้โดยให้ ส.ส.บีลา หรือ “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” ส.ส.เขต 2 ที่เหลืออยู่เพียง 1 เดียว จัดทัพใหม่ด้วยการส่ง “อนุมัติ อาหมัด” อดีต ส.ว.สงขลา สายตรงของลุงป้อม ลงไปช่วย ส.ส.บีลา เฟ้นหาผู้สมัคร และจัดเต็มทั้ง 5 เขต โดยมี ส.ส.บีลา กับน้องชายเป็น 2 ตัวเต็งที่หวังว่าจะแก้หน้า และล้มบ้านใหญ่อย่าง “ยาวอหะซัน” ได้สำเร็จ เพราะดูการจัดทัพของลุงตู่แห่งรวมไทยสร้างชาติแล้ว นอกจากวัชระ ยาวอหะซัน แล้ว อีก 4 เขตที่เหลือส่งผู้สมัครชื่อชั้นยังไม่เท่าไหร่ แถมยังเว้นเขตที่ 3 ไว้ให้ “กูเฮง ยาวอหะซัน” ลูกชายคนรอง ที่เป็น ส.ส.ของประชาชาติ เอาไว้ เพราะกูเซ็ง ต้องการให้ลูกชายทั้ง 2 คน ได้เป็น ส.ส.โดยอยู่คนละพรรค เพราะกูเซ็ง ยังต้องไว้ไมตรีกับ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาตินั่นเอง
ในขณะที่ “ประชาชาติ” ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ ส.ส.ใน จ.นราธิวาสมาได้ 2 เขต คือ “กูเฮง ยาวอหะซัน” ทายาทบ้านใหญ่แห่งลุ่มน้ำบางนรา เป็น ส.ส.เขต 3 และ “กมลศักดิ์ ลีมาเมาะ” หรือทนายแวยูแฮ ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ส่วนอีก 2 เขตเป็นของพลังประชารัฐ
ในการเลือกตั้งปี 2566 “ประชาชาติ” คิดใหญ่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 5 เขต เขต 1 นายอัฟฟาน หะยียูโซ๊ะ เขต 2 นายเจ๊ะซู ตาเหย็บ เขต 3 นายกูเฮง ยาวอหะซัน (ส.ส.ปัจจุบัน) เขต 4 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ (ส.ส.ปัจจุบัน) และเขต 5 นายมูหามะรอมือลี อาแซ โดยประชาชาติ ซึ่งทำงานการเมืองในพื้นที่มาตลอด 4 ปีของการเป็นฝ่ายค้าน ต้องการที่นั่งใน จ.นราธิวาสเพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดอีก 1 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเขตที่เพิ่มขึ้นมา
ส่วน “ประชาธิปัตย์” ยุคผลัดใบ เพราะการเลือกตั้งในปี 2566 “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งคัดเลือกผู้สมัครหน้าใหม่ ตั้งแต่เขต 1 ถึงเขต 4 ส่วนเขต 5 ให้ “เจะอามิง โตะตาหยง” อดีต ส.ส.เก่า ที่ในปี 2562 ทิ้ง “ประชาธิปัตย์” ไปซบอกพรรครวมพลังของ “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลายเป็น ส.ส.สอบตก ครั้งนี้ “เจ๊ะอามิง” อาสาลงสู้กับคู่แข่งจากพรรคต่างๆ ในเขต 5 เพื่อแจ้งเกิดอีกครั้ง
สำหรับเขต 1 ประชาธิปัตย์ส่งนายวสันต์ ดือเร๊ะ” เขต 2 ส่งนายเมธี อรุณ เขต 3 ส่งนายสุลัยมาน มะโซ๊ะ และเขต 4 ส่งนายไวดี เจ๊ะหามะและใน 5 ที่นั่งของ จ.นราธิวาส ประชาธิปัตย์มีความฝัน มีความหวังว่าจะได้ ส.ส.กลับคืนมาประดับพรรค อย่างน้อยที่สุด 2 ที่นั่ง และอาจจะบวก 1 นั่นคือ “เมธี อรุณ” นักร้องชื่อดังวงลาบานูน ที่เป็นศิลปินที่ชื่นชอบในเรื่องการเมือง และทำกิจกรรมกับคนในพื้นที่มาโดยตลอด ส่วนคนที่ 2 คือเจะอามิง โตะตาหยง เพราะยังเชื่อในชื่อชั้น และประสบการณ์ในการเป็น ส.ส. หลายสมัยที่แจ้งเกิดได้
ในขณะที่ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งครั้งนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคและรองนายกฯ บวกรัฐมนตรีสาธารณสุข สู้ไม่ถอย ไม่สนใจกับการถูกพรรคคู่แข่งนำเรื่อง “กัญชาเสรี” มาโจมตีว่าผิดหลักการของศาสนา เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ “เสี่ยหนู” ได้ “นัจมุดดีน อูมา” ขุนพลของพรรคประชาชาติ ที่อำลาวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวพน้าพรรคประชาชาติ อย่างเป็นที่เข้าใจในเส้นทางการเมือง มาสวมเสื้อ “ภูมิใจไทย” เป็นแม่ทัพรับผิดชอบการเลือกตั้งในพื้นที่ จ.นราธิวาส ด้วยความช่ำชองและมียุทธศาสตร์ที่พลิกแพลงตามสถานการณ์ ทำให้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล และ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” หรือโกเกี๊ยะ แม่ทัพภาคใต้ของภูมิใจไทยต่างมีลุ้นว่า โดยฝีมือของนัจมุดดีน และ “สิรภพ ดวงสอดศรี” ผู้ร่วมรับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ ส.ส. 2 บวก 1 หรืออย่างต่ำไม่น้อยกว่า 2 ที่นั่ง
“ภูมิใจไทย” มีการเลือกเฟ้นตัวบุคคลที่เชื่อมั่นว่าจะสู้ศึกในครั้งนี้ได้ทุกเขต เช่น เขต 1 ส่งนายลุตฟี หะยีอีแต นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบาเจาะ เขต 2 ส่งนายราชวัตร เดินตุลาการ ผอ.การศึกษาเอกชน เขต 3 ส่ง น.ท.สกรี ศริริกานนท์ อดีตเจ้าหน้าที่ นพค. 41 จ.นราธิวาส เขต 4 ส่งนายซาการีนา สะอิ อาจารย์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และเขต 5 ส่งนายสุกนรี มะเต๊ะ ผช.เลขานุการ รมช.มหาดไทย
ก่อนหน้าที่จะมีการยุบสภาเพื่อเข้าสู้โหมดการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองหลายพรรค ตั้งแต่พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ประชาชาติ ต่างเข้าไปเพื่อพบปะ แถลงนโยบายของพรรค กับชมรมต้มยำกุ้ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะชมรมต้มยำกุ้งคือที่รวมตัวของคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าไปทำร้านอาหารหรือ “ร้านต้มยำกุ้ง” ที่ประมาณกันว่าทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการ และที่เป็นลูกจ้าง ที่รวมตัวอยู่ในชมรมต้มยำกุ้งในทุกรัฐของมาเลเซียมีไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ซึ่งหากพรรคการเมืองใดโน้มน้าวให้คนกลุ่มนี้สนับสนุนผู้สมัครและพรรคการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะได้คะแนนที่เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะคน 200,000 กว่าคนมีภูมิลำเนาในพื้นที่ จ.นราธิวาส และปัตตานีมากที่สุด และคะแนนตรงนี้คือตัวแปรสำหรับผู้สมัครและพรรคการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งกระแสของพรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐ และภูมิใจไทยที่ต้องการล้มบ้านใหญ่ที่ “มะยูโซ๊ะ” ต้องการมาแทนที่บ้านใหญ่ “ยาวอหะซัน” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ “ประยุทธ์” และ “ประวิตร” สองพี่น้องแห่งบูรพาพยัคฆ์จึงให้ความสำคัญกับสมรภูมิการเลือกตั้งใน จ.นราธิวาส เพราะเห็นโอกาสในการที่จะปักธง ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้
แต่...ส.ส.ของ จ.นราธิวาสมีเพียง 5 เขต และ 4 ที่นั่งมี ส.ส.เก่าที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้องแห่งบ้านใหญ่ยาวอหะซัน “วัชระ ยาวอหะซัน” ที่ย้ายจากพลังประชารัฐมายังรวมไทยสร้างชาติ และ “กูเฮง ยาวอหะซัน” กับ “กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” แห่งประชาชาติ ที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา แม้จะเป็นหัวหน้าพรรคเล็ก แต่เป็นพรรคใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่ตะเกียงขาดน้ำมัน และ “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” ผู้ที่ยังภักดีต่อลุงป้อม และต้องการที่จะเป็นบ้านใหญ่ของลุ่มน้ำบางนรา จึงไม่ง่ายสำหรับประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยในการตีป้อมค่ายให้แตกพ่าย
แต่ในขณะเดียวกัน ทั้งประชาชาติและบ้านใหญ่ยาวอหะซัน รวมทั้ง “ส.ส.บีลา” ก็ไม่ง่ายในการรักษาป้อมค่ายอย่าให้ถูกตีแตก ดังนั้น สนามเลือกตั้ง จ.นราธิวาส แห่งลุ่มน้ำบางนรา ดินแดนปลายด้ามขวานจึงเป็นสนามสัประยุทธ์ที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุดในสนามของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้