ด้วยความเป็นคนยะลา ทำงานกับผู้หญิงและเด็กมาตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ “ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ” รับรู้และต่อสู้ในแนวทางที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถทำได้ จนวันนี้เธอตัดสินใจลงทำงานการเมืองในนามว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ “พรรคภูมิใจไทย” เพื่อเป็นปากเสียงให้ผู้หญิงและเด็ก ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะประสานงานระดับพื้นที่ สล.3 เป็นต้น
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ปาตีเมาะได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 4 คน ทำให้เธอได้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ที่สูญเสีย และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เป็นเวลากว่า 14 ปีที่เธอได้เข้ามาทำงานภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือเด็กและสตรี ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการเยียวยา การให้คำปรึกษากับผู้ได้รับผลกระทบ ประสานกับฝ่ายรัฐในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐและสิทธิต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประสบการณ์และการทำงานกับผู้หญิงและเด็กในพื้นที่กว่า 10 ปี ต้องมีพื้นที่ให้ผู้หญิง
"เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนเป็นภาพความรู้สึก และพบเจอจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งแค่ดิฉันคนเดียวคงไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงได้ หรือตะโกนดังพอให้กลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงหยุดกระทำต่อเด็กและสตรี หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจที่ลงมาแก้ไขปัญหา หรือเข้ามามีบทบาทอยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ว่าสิ่งที่ดิฉันไปพบเจอมาเป็นอย่างไร เราควรจะแก้ไขไปในทิศทางไหนให้ถูกต้อง ให้ถูกวิธี แต่เสียงดิฉันมันก็ยังดังไม่พอ ในฐานะที่ทำงานกับผู้หญิงพยายามเรียกร้องพื้นที่การตัดสินใจของผู้หญิงทุกระดับ จนวันนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันกำหนดอนาคตตนเอง กำหนดอนาคตบ้านของเราเอง เพราะดิฉันเกิดและเติบโตมาในพื้นที่ย่อมรู้ปัญหา จะนำประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ ตลอดจนรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไปกำหนดเป็นนโยบายและวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในทางที่ดีขึ้น"
"ทางเดียวที่จะสามารถทำได้ คือการเข้าสู่เส้นทางของนักการเมือง หลายคนคิดว่าผู้หญิงกับการเมืองจะไปได้อย่างไร อยากให้ประชาชนมองว่าการเมืองทุกวันนี้เต็มไปด้วยผู้ชาย หากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราต้องให้โอกาสผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในสภาเพิ่มขึ้น มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ตรงกันข้ามหากมีผู้หญิงในสภาสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ชาย คงเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า"
เพิ่มสิทธิและบทบาทของผู้หญิง พร้อมมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจา
"หากมีโอกาสได้เข้าสู่เส้นทางนักการเมือง สิ่งที่จะทำคือเรื่องของสิทธิและบทบาทของผู้หญิง รวมทั้งการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยตรง การมีพื้นที่ตัดสินใจของผู้หญิงในทุกระดับ โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ถึงระดับนโยบายของประเทศ ต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 30 ต่อ 70% รวมทั้งในการออกกฎหมาย ออกระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ต้องมีตัวแทนผู้หญิงเข้าไปนั่งด้วย"
"สันติภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าร่วมบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ในฐานะปาร์ตี้ C ต้องรู้ว่าเขาคุยหรือตกลงอะไรกัน เรามีส่วนในการเสนอการแก้ไขของเราเอง กระบวนการพูดคุยควรต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่รัฐบาลชุดไหนเห็นความสำคัญก็เกิดขึ้น หรือบางชุดก็หยุดไป ในส่วนของงบประมาณประจำปีควรจะมีตัวเลขกลมๆ ในทุกระดับ มีในส่วนพัฒนาสตรีโดยเฉพาะถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เมื่อช่วยเหลือสตรีมักมองแค่เรื่องอาชีพ เย็บเสื้อผ้า ทำขนม หากไม่พัฒนาศักยภาพ 10 ปีก็ส่งเสริมเหมือนเดิม ไม่เกิดการต่อยอดและพัฒนา สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนงบประมาณ ซึ่งต้องจัดการกับงบประมาณเหล่านี้"
ทุกระดับการเมืองควรมีผู้หญิง
"เราพยายามส่งเสียงอยู่ตลอด พัฒนาคุณภาพ ความเข้มแข็ง ความเชื่อมั่นให้ผู้หญิง ผู้หญิงในพื้นที่ยังขาดโอกาส ขาดองค์ความรู้ ความรู้คืออำนาจ สิ่งแรกที่จะทำให้ผู้หญิงกล้ามีจุดยืนของตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้คือความรู้ในประเด็นนั้นๆ กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง บอกความต้องการของตนเองเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ต้องสร้างโอกาส มีความรู้แต่ขาดโอกาสก็เสียเปล่า ชุมชน สังคมต้องเห็นคุณค่าในความเป็นผู้หญิง คิดว่าถ้าจะผลักดันเฉพาะระดับข้างล่างคงไม่พอ จึงขออาสาเข้าไปนั่งในรัฐสภา เพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิง และสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในคณะกรรมการต่างๆ"
ปาตีเมาะ บอกว่า นโยบายที่จะลงมาพัฒนาพื้นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ และต้องอยู่ได้เช่นกัน ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิต รวมทั้งระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรให้คนสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มันย่ำแย่ ตอนนี้เชื่อมั่นว่าไม่มีใครรู้ปัญหาได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่
มุมมองด้านศาสนา
"ผู้หญิงกับการเป็นผู้นำเป็นเรื่องถกเถียงกันมานาน จากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้ชายมีฟัตวาหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2562 พูดถึง "การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ หมายถึงการเป็นตัวแทน ไม่ใช่ว่าเป็นผู้นำทางศาสนา การเป็นตัวแทนทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน จึงไม่ผิดหลักศาสนา" แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ การกระจายข่าวสารฟัตวาจึงสำคัญในการที่จะจัดการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจการเมือง เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในการเข้าไปผลักดันนโยบายต่างๆ เราไม่ได้ไปนำละหมาด"
เชื่อภูมิใจไทยว่า "พูดแล้วทำ"
"จากที่ไม่เคยคิดจะลงการเมืองอีก หลังจากลงสมัครกับพรรคหนึ่งในสมัยที่แล้ว แต่ประสบการณ์การทำงานในด้านการช่วยเหลือผู้หญิง การปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิง การพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมความเท่าเทียม รวมถึงการส่งเสริมสันติภาพในชายแดนใต้ ทำให้เข้าใจปัญหา และข้อจำกัดของชายแดนใต้มากมาย ดิฉันจึงตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคภูมิใจไทย ในฐานะว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ"
"เมื่อรับปากแล้วก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เห็นว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ผู้สมัครของภูมิใจไทยลงเกาะพื้นที่ตลอด ว่าที่ผู้สมัครก็เช่นกัน ลงพื้นที่ไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อได้รับเลือกแล้วไม่ใช่แค่นั่งในสภาแล้วจบ หรือทิ้งพื้นที่ ทำให้เห็นว่างานการเมืองไม่ใช่ 4 ปี มาให้ประชาชนเห็นหน้าก่อนเลือกตั้ง สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมเป็นการยกระดับชีวิตของคนที่เป็นหมอคนที่ 1 ใกล้ประชาชนที่สุดคือ อสม. ช่วงโควิดที่ผ่านมา อสม.ทำงานหนักมาก ภูมิใจไทยชูนโยบายเงินเดือน อสม. 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ทำได้จริง เชื่อมั่นว่านโยบายที่ให้ประชาชนรับรู้ ไม่ใช่นโยบายขายฝัน พูดแล้วทำได้จริง รอบนี้ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็สามารถทำได้แน่นอน"
"อีกเรื่องที่เป็นส่วนในการตัดสินใจ คืออุดมการณ์ของการสร้างพรรค เป็นพรรคที่เพียบพร้อมไปด้วยคนที่มีความสามารถ และมีศักยภาพที่มีหัวใจรักชาติบ้านเมือง ดิฉันจึงเลือกที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย สิ่งที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันสนับสนุน และจะก้าวผ่านความขัดแย้งไปด้วยกัน"
พร้อมทำงานการเมือง ขอโอกาสจากพื้นที่
"วันนี้ดิฉันพร้อมแล้วกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานการเมืองที่เข้าใจผู้หญิงด้วยกัน และทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะกลับมาพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ การศึกษา บทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั่วประเทศให้กลับมาดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางนักการเมืองอย่างเต็มตัว 4 ปีไม่นาน ลองเลือกคนใหม่เข้าไป ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง สมัยหน้าก็ไม่ต้องเลือก ให้โอกาสผู้หญิงได้มีพื้นที่ทางการเมือง อุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงในพื้นที่และทั่วประเทศ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงให้ดียิ่งขึ้น"