ตรัง - บินสำรวจสัตว์ทะเลหายากของเมืองตรัง พบประชากรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “พะยูน” มีไม่น้อยกว่า 180 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้พบพะยูนคู่แม่ลูกถึง 12 คู่ ขณะที่หญ้าทะเลอาหารของพะยูนก็พบเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อวันที่ 17-21 มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) โดยการสนับสนุนของท่าอากาศยานตรัง และสนามบินภูเก็ตแอร์พาร์ค นำโดย นายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ผอ.ศวอล.) ได้ร่วมกันออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่ จ.ตรัง ด้วยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และวิธีการสำรวจทางเรือ โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ร่วมกับนักบินอาสาสมัครคือ Mr.Eduardo Angelo Loigorri และ น.ส.ภิญญดา ภิธัญสิริ ณ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ และหมู่เกาะใกล้เคียง จ.ตรัง
โดยล่าสุดจากผลการสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายากบริเวณพื้นที่ จ.ตรัง ปีนี้พบพะยูนไม่น้อยกว่า 180 ตัว ในจำนวนนี้เป็นพะยูนคู่แม่ลูก 12 คู่ พบโลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) 19 ตัว และเต่าทะเล 174 ตัว ส่วนผลการประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่า พะยูนได้แสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบพะยูนคู่แม่ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนก และเต่าทะเล โดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติของสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูล และภาพถ่ายจากการสำรวจดังกล่าว ไปใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของพะยูน โลมา และเต่าทะเลในบริเวณพื้นที่ จ.ตรัง ต่อไป
นายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ผอ.ศวอล.) บอกว่า ภารกิจครั้งนี้เป็นการสำรวจสัตว์ทะเลหายากหลักๆ คือพะยูน เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นเมืองหลวงของพะยูน รวมทั้งสำรวจโลมา และเต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่พบมากเป็นไฮไลต์ของ จ.ตรังด้วย โดยผลการสำรวจครั้งล่าสุดปีที่แล้วพบพะยูนกว่า 170 ตัว ขณะที่ปีนี้พบกว่า 180 ตัว รวมทั้งยังมีการพบประชากรพะยูนที่ จ.กระบี่ และ จ.สตูล เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนอาหารพะยูน คือ หญ้าทะเล ในพื้นที่ จ.ตรัง ทั้งที่เกาะมุกด์ และแหลมไทรก็พบมากขึ้น