ยะลา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เปิดศูนย์เรียนรู้เลี้ยงโคฯ ที่ จ.ยะลา มุ่งยกระดับภาคใต้เป็น ‘ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลมุสลิมโลก’
วันนี้ (17 มี.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงวัว ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ หมู่บ้านกำปงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงโคบาลทั้งระบบแก่เกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลัง กพต.มีมติอนุมัติเห็นชอบการดำเนินกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ 7 ปี (พ.ศ.2565-2571) ซึ่งมีประชาชนร่วมให้การต้อนรับกว่า 1,500 คน
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กพต.ได้อนุมัติหลักการกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โดยมอบหมายให้ ศอ.บต. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินการขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเงินทุนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตร จำนวน 1,500 ล้านบาท แก่เกษตรกรที่เป็นวิสาหกิจชุมชน 1,000 แห่ง ใน 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ โดยศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงวัว บ้านกำปงบารู จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีมาตรฐานและครบวงจร มีการสอนการเลี้ยงโคกุรบาน การปลูกพืชอาหารสัตว์ การผลิตอาหารโค TMR และปุ๋ยออแกนิก
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มีการมอบพันธุ์กระถิน และหญ้าเนเปียร์ให้แก่เกษตรกร พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาและมุ่งสร้างอาชีพให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อยกระดับปศุสัตว์ในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตอาหารฮาลาลของมุสลิมโลกในระยะเวลาอันใกล้ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมพัฒนา เพื่อขยายผลทำให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลของโลก นำไปสู่อาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
สำหรับศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงวัว บ้านกำปงบารู เป็นสถานที่เรียนรู้การเลี้ยงโคตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สืบเนื่องจาก ศอ.บต. เล็งเห็นว่า จชต.มีการบริโภค และซื้อขายเนื้อโคเป็นจำนวนกว่า 40,000 ตัวต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,000 ล้านบาท แต่พบว่าโคเนื้อส่วนใหญ่ที่มีการซื้อขายเป็นโคเนื้อที่มาจากนอกพื้นที่มากกว่าในพื้นที่ ศอ.บต.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งส่งเสริมการเลี้ยงโคในพื้นที่ให้มีมาตรฐาน สร้างตลาดการซื้อขายทั้งในประเทศ และมีแผนส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย