xs
xsm
sm
md
lg

จากรากสู่โลก : เปิดหมุดหมายอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการพัฒนาสู่ The University of Glocalization

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เรียกว่าการเติบโตจากรากสู่โลก หรือ The University of Glocalization ไว้ครั้งเข้ารับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับข่าวร้อนแรงทางการเมืองเรื่องการศึกษา และมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งภาคใต้ กองบรรณาธิการจึงเปิดหมุดหมายการบริหารที่ว่าด้วยการพัฒนาดังกล่าวมาเผยแพร่อีกวาระหนึ่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในบริบทสังคมโลกและสังคมไทย จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมืองความเป็นเมือง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Transformation) ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง วัฒนธรรรม สงครามและการก่อการร้าย และที่สำคัญคือสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการสร้างสังคมวิถีใหม่/วิถีใหม่แห่งอนาคต (New Normal/Next Normal) ด้านหนึ่งได้นำมาซึ่งความร่วมมือของประชาคมโลกในการสร้างธรรมาภิบาลโลก (Global Governance) การให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leaving No One Behind) ซึ่งได้รับการประเมินว่ามีความถดถอยลงไปมากในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ทว่าในด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งพลวัตและพลัง “การทบทวนโลกาภิวัตน์” (Rewiring Globalization) “โลกาภิวัตน์ที่ลดลง” (Deglobalization) มีการสร้างความหมายและอัตลักษณ์ใหม่ของความเป็นรัฐชาติ/ท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) ที่เข้มข้นเด่นชัด และทำให้เกิดพื้นที่/สถานีของการเชื่อมต่อและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็นโลกาภิวัตน์และความเป็นท้องถิ่น ที่เรียกว่า Glocal Space (Globalization + Localization) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ การแสวงหาทางเลือกใหม่ของการพัฒนา และที่สำคัญคือการนวัตกรรมสังคม 
สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นโอกาสและความท้าทายที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นโยบายและการปฏิรูประบบอุดมศึกษา ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (2566-2570) ที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ มีธงนำเป้าหมายที่ชัดเจน เน้นการใช้อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะสูง เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาประเทศ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพลังความรู้เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี บทบาทมหาวิทยาลัยในภาพรวม ยังมี “ช่องว่าง” ทำให้เกิดการตั้งคำถามเชิงคุณให้ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ ความต้องการอันหลากหลาย มีทักษะและสมรรถนะที่มากพอสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยคุณค่าและการปรับบทบาทเชิงสถาบัน การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในระบบให้ปริญญา ไม่มุ่งปริญญา และ/หรือแตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไปพร้อมๆ กับการเป็น “ปัญญาให้สังคม” มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวแบบพลิกโฉม สร้างหมุดหมายใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ สามารถเป็นกลไก-ฟันเฟืองขับเคลื่อนสร้างโอกาสใหม่ๆ จากความท้าทาย 
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิบายต่อไปว่า บริบทดังกล่าวได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยประการแรกคือ การกำหนดวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ ภายในปี 2567” เป็นนวัตกรรมสังคมในความหมายของการสร้างกระบวนการทางความคิด แนวคิด วิธีการ กระบวนใหม่ นโยบาย และแนวทางการพัฒนา การแก้ไขปัญหา มุ่งตอบสนองความต้องการสังคมในมิติต่างๆ และประการที่ 2 การกำหนดตำแหน่งแห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพันธกิจหลักและยุทธศาสตร์มุ่งสู่การจัดการศึกษาเพื่อเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริม การสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยมีพันธกิจที่สำคัญ คือ 
(1) จัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการสร้างสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรมสังคมและการเป็นผู้ประกอบการ
(2) วิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเป็นผู้ประกอบการ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(3) บริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และ
(4) พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน 
มหาวิทยาลัยจากรากสู่โลก หรือ The University of Glocalization จึงมีที่มาจากองค์ประกอบสำคัญของบริบทการเปลี่ยนแปลง วิสัยทัศน์ การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และพันธกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในความหมายของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เติบโตแข็งแกร่งเชิงพื้นที่และขับเคลื่อนสู่การสร้างอัตลักษณ์และการรับรู้ในระดับโลกหรือสากล ด้วยกระบวนการนี้จะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายการเชื่อมต่อกับสังคม/ชุมชน พื้นที่ (Social Engagement Plugin) เกิดนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่และอาณาบริเวณบนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอาณาบริเวณ การหนุนเนื่องสู่การเติบโต การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในระดับชาติและนานาชาติ ตอบสนองการพัฒนาประเทศในเชิงยุทธศาสตร์จากฐานราก (Development from Below) จากความร่วมมือของหลายภาคีพันธมิตร (Quintuple Helix) เกิดสะพานเชื่อมการรับรู้สู่สากลและพลังดึงดูดสู่พื้นที่ในรูปแบบบต่างๆ ขณะที่มหาวิทยาลัยก็โดดเด่น มีอัตลักษณ์ในการเป็นศูนย์กลาง/ความเชี่ยวชาญทั้งในแง่ประเด็น พื้นที่และการสร้างองค์ความรู้-ทฤษฎีจากฐานราก

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณได้กำหนด “หมุดหมาย” (Milestones) การบริหารเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตการเป็นมหาวิทยาลัยจากรากสู่โลกในเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน 6 หมุดหมาย ประกอบด้วย
 
หมุดหมายที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ ปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรแบบผสมผสาน/บูรณาการข้ามศาสตร์ และหลักสูตรแบบ TSU Gen Next Academy สร้างทางเลือกในการจัดการเรียนรู้ เช่น Dual Degree หลักสูตร 2+2 หลักสูตร 3+1 และ Pre-Degree ยกระดับหลักสูตรที่มีศักยภาพสูงให้ได้การยอมรับและรับรองในระดับนานาชาติ (International Accreditation) โดยส่งเสริมการจัดการเรียนรู้และวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้และการตีพิมพ์เผยแพร่ในนานาชาติ โดยเน้นกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างการเรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติ จัดตั้ง “ธนาคารหน่วยกิตมหาวิทยาลัยทักษิณ” (TSU Credit Bank) และจัดทำหลักสูตร TSU Sandbox พัฒนา “ผู้ประกอบการ” ด้านเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง การพัฒนาวิสากิจขนาดกลาง/ย่อม และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อความยั่งยืน ตามหมุดหมายในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 พัฒนานิสิตให้เป็น Glocal Citizenship การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 สนับสนุนกิจกรรมรวมกลุ่มนิสิตและการแก้ไขปัญหา Lost Generation โดยมีทุน/ทรัพยากรสนับสนุนที่เหมาะสม และพัฒนาการเรียนรู้ในสถานการณ์วิกฤต และแสวงหาผู้เรียนใหม่ด้วยแพลตฟอร์มการสื่อสารที่หลากหลายและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

หมุดหมายที่ 2 สร้างผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา “พื้นที่นวัตกรรมสังคม” (TSU Social Innovation Polis) จัดทำแผนงานวิจัย Area-Based, Issue-Based ด้วยแผนงานวิจัยแบบมุ่งเป้า สร้างความเชื่อมโยงงานวิจัยตลอดเส้นทาง (Research and Development Impact Pathway) เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานและคุณค่า (Research Supply/Value Chain Management ) และประเมินความคุ้มค่าจากงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยการวิเคราะห์ (SROI) ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยด้วยกระบวนวิเคราะห์ตาม SRL/TRL เพื่อต่อยอดงานวิจัย สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยวิจัย/ศูนย์วิจัย และศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พัฒนาศักยภาพนักวิจัยและทักษะความสามารถนักวิจัยเป็นนวัตกรสังคมด้วยแนวคิด TSU Social Innovator ตามระดับ SRL/TRL สนับสนุนการร่วมมือกับต่างประเทศ สร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่ สร้างแรงจูงใจ-เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ใช้ สนับสนุนการเผยแพร่/อ้างอิงและความร่วมมือในระดับนานาชาติ ด้วย Live DNA Profile, TSU Publication Clinic, TSU Research Cafe เสริมความเข้มแข็งและการใช้ประโยชน์งานวิจัยและการแปลงเทคโนโลยี/องค์ความรู้ “เป็นทุน”
 
หมุดหมายที่ 3 การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ (Research Utilization) การสร้างผลประโยชน์ร่วมจากงานวิจัยในอนาคต (Tech Seeker/ Tech Provider) ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจและการประกอบการ (Business Entrepreneur Shift Support and Training : TSU-BEST) และด้วยการระดมทุนเพื่อการประกอบการ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ และยกระดับมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้วย Smart SME และ SMEs IDE พัฒนาอาจารย์/นักวิจัยที่มีทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรม ด้วยโครงการ TSU Talent Mobility Program, TSU Pre Talent Mobility, TSU-Academy และ Pre Seed Fun พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างเทคโนโลยี/นวัตกรรมด้วยการจัดตั้งอุทยานการบริการวิชาการ
 
หมุดหมายที่ 4 พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ พัฒนางานวิจัย งานสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมทางวัฒนธรรม การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการจัดทำแผนที่วัฒนธรรม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เน้นมิติด้านพหุวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้ เป็นแหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และปรับการให้บริการออนไลน์แบบ Metaverse บริหารจัดการทรัพย์สินทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์

หมุดหมายที่ 5 พัฒนามหาวิทยาลัยสู่มาตรฐานระดับนานาชาติบนฐานท้องถิ่น

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ จัดระบบกลไกให้ทุกพันธกิจเพื่อรองรับความเป็นสากล ส่งเสริมการพัฒนานิสิตสู่สากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในลักษณะ Strategic Partner และผลักดันให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับในระดับโลกในฐานที่เป็นที่ยอมรับ เช่น U-Multirank, Scimago Institutions Ranking, The World University Rankings โดย Times Higher Education (THE)

หมุดหมายที่ 6 มีระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศ

กลยุทธ์และแนวทางสำคัญ ได้แก่ สร้างทัศนคติและความภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกที่ดีของมหาวิทยาลัย (Proud to be TSU Members) ด้วยวัฒนธรรมนวัตกรรม การพัฒนาระบบงานให้เป็น Multi Generation การสร้าง Growth Mindset และ Outward Mindset สร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายด้วย “พื้นที่กลาง” ที่เรียกว่า TSU Policy Lab ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) พัฒนาไปสู่การเป็น Digital University พัฒนาการสื่อสารองค์กรให้ทั่วถึงและสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัย ด้วย TSU Rebranding การสื่อสารแบบ 2 ทาง และการสื่อสารงานวิจัยสู่สาธารณะ พัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวด้วยแนวคิดมหาวิทยาลัยในสวน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างพื้นที่เรียนรู้แบบเปิด และสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนสังคมมีส่วนร่วมสร้างธรรมาภิบาล

การเป็นมหาวิทยาลัยจากรากสู่โลกที่เรียกว่า “The University of Glocalization” ตามหมุดหมายจะทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสังคม การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และการมีระบบปฏิบัติการตามพันธกิจด้วยการ “รู้ราก รู้โลก” ด้วยมุมมองระดับโลก ปฏิบัติการในระดับพื้นที่/ท้องถิ่น ที่จะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในทุกระดับ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ สรุปทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น