xs
xsm
sm
md
lg

สนามเลือกตั้ง “ปัตตานี” แข่งดุ “ประชาธิปัตย์-ประชาชาติ-ภูมิใจไทย” ใครจะเข้าวิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

การเลือกตั้งในปี 2566 ในการแบ่งเขตของ กกต.ครั้งล่าสุด ปรากฏว่า จ.ปัตตานี มีเขตเลือกตั้งเพิ่มมาอีก 1 เขต จาก 4 เขตเป็น 5 เขต ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีจำนวน ส.ส.เพิ่มจาก 12 เขตเป็น 13 เขตเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรค ทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ต่างเร่งสรรหาผู้สมัครที่มีชื่อชั้นมาลงสมัครเพื่อให้ประชาชนได้คัดเลือก ในขณะที่หลายพรรคยังหาผู้สมัครที่ได้ไม่ครบ ส่วนพรรคที่ได้ผู้สมัครแล้วก็เดินหน้าในการหาเสียงอย่างเต็มที่ ตั้งแต่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศยุบสภา และ กกต.ก็ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง

ในวันนี้จะนำไปเจาะสนามเลือกตั้ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่พรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง ทั้งพรรคเก่าแก่และพรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นที่เรียกว่า "พรรคเฉพาะกิจ" ต่างส่งผู้สมัคร โดยหมายมั่นปั้นมือที่จะได้ ส.ส.ใน จ.ปัตตานี เพื่อแย่งชิง ส.ส.จำนวน 5 คนอย่างเต็มที่

และพรรคที่มีความพร้อมที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคแรกๆ ที่มีการประกาศชื่อผู้สมัครก่อนพรรคอื่นๆ และผู้สมัครของพรรคก็เดินหาเสียงด้วยการพบปะประชาชนในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนปี 2566 ด้วยซ้ำ และ “ประชาธิปัตย์” ก็เป็นพรรคแรกๆ ที่ทำการเปิดปราศรันในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีประชาชนมารับฟังการปราศรัย จากขุนพลของพรรคอย่างเนืองแน่น

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2562 “ประชาธิปัตย์” ซึ่งไม่มีการเตรียมพร้อม รวมทั้งผู้สมัครทิ้งพื้นที่ เนื่องจากการยึดอำนาจของ “คสช.” และรวมทั้งถูกพรรครวมพลัง ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่มีฐานคะแนนเดียวกัน แย่งชิงคะแนนเสียงไปบางส่วน ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเสียที่นั่งให้พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส.ปัตตานีเพียงเขตเดียวคือ เขตเลือกตั้งที่ 1 และ ส.ส.ของประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ด้วยคะแนนไม่ถึง 20,000 คะแนน คือ “อันวาร์ สาและ” ซึ่งในการเลือกตั้งในปี 2566 “อันวาร์ สาาและ” ได้ซาโยนาระจากประชาธิปัตย์ไปซบอกของ "ลุงป้อม" เป็นลูกพรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครในเขต 1 เพื่อต่อกรกับผู้สมัครของประชาธิปัตย์ที่เป็นบ้านเก่า ซึ่งเป็นที่เกิดทางการเมืองของตนเอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์เลือกผู้สมัครหน้าใหม่ส่งให้ประชาชนในพื้นที่ได้เลือกให้เป็น ส.ส.ทั้ง 5 เขต โดย เขต 1 ส่ง สนิท อาแว อดีตกำนัน ต.ราตาปันนัง อ.เมือง “สนิท นาแว” เคยลงสมัคร ส.ส.ในเขตนี้ในนามพรรคการเมืองอื่น แต่สอบไม่ผ่าน ครั้งนี้มาสวมเสื้อประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนจัดตั้งจากสมาชิกพรรค เมื่อบวกกับคะแนนส่วนตัว ทำให้ถูกจับตามองว่า “สนิท” เป็นตัวเต็งของผู้สมัครในเขต 1 และหากมีการบริหาร และการจัดการที่ดีทั้งจากพรรค และจากผู้สมัคร มีโอกาสที่ “ประชาธิปัตย์” จะปักธงได้ ส.ส.ในเขตนี้

เขตเลือกตั้งที่ 2 ประชาธิปัตยส่ง “มนตรี ดอเลาะ” อดีตนายก อบต.มะกรูด และอดีตนายกเทศบาล ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่วนในเขตที่ 3 ประชาธิปัตย์ ส่ง ดร.ยูในดี วาบา ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นลูกชายของนิมุกตาร์ บาวา ซึ่งเป็นผู้กว้างขวาง และมีประชาชนนับหน้าถือตาคนหนึ่งในพื้นที่ และเป็นอีก 1 เขตที่เป็นความหวังของประชาธิปัตย์เขตเลือกตั้งครั้งนี้

เขต 4 ประชาธิปัตย์ส่ง “สุริยา กูทา” อดีตกำนัน ต.กระโด และเขต 5 ประชาธิปัตย์ส่ง “คอเล็บ เจ๊ะนา” ซึ่งเป็นลูกชายของ สมมาตร เจ๊ะนา อดีต ส.ส.ของ จ.ปัตตานี ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ในการปราศรัยของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ผู้เป็นหัวหน้าพรรค ยืนยันกับประชาชนที่มารับฟังการปราศรัยถึงความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ที่ย้ำว่า “พร้อมมาเป็นปีแล้ว และพร้อมกว่าทุกพรรคการเมือง เพราะหลังจากที่ กกต. ประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ จาก 4 เขต เป็น 5 เขต ประชาธิปัตย์ก็เปิดตัวผู้สมัครในเขต 5 แบบไม่ลังเล ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์ เสนอยุทธศาสตร์ในการสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ และการสร้างสันติภาพ เพื่อนำไปสู่สันติสุขเป็น นโยบาย ที่หลังการประกาศออกไปได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ มีกลุ่มผู้นำประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมกันผลักดัน “ยุทธศาสตร์” ที่ประชาธิปัตย์นำเสนออย่างเต็มที่ ทำให้ประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่าจะได้ ส.ส.ในพื้นที่ จ.ปัตตานีอย่างน้อยก็ 2 เขตขึ้นไป

ในขณะที่นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เลือกตั้งครั้งนี้เรามีความพร้อมทุกอย่าง และมีเวลาเตรียมตัว โดยเฉพาะในการคัดคนเพื่อส่งลงสมัครครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีความพร้อม มีคุณภาพ ทั้งการศึกษา ด้านการผ่านงานบริหารท้องถิ่น บริหารการศึกษา เป็นอดีตผู้นำท้องที่ที่เป็นผู้ที่ประชาชนยอมรับ และเป็นผู้รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี เราไม่หนักใจ แม้แต่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ผู้สมัคร ส.ส.ของประชาธิปัตย์จะต้องแข่งขันกับอดีต ส.ส.ของพรรค ที่เป็นผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม ในสนามการเลือกตั้งที่ จ.ปัตตานี ประชาธิปัตย์ต้องแข่งขันกับ ส.ส.ของพรรคประชาชาติ ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ที่ “สมมุติ เบญจลักษณ์” เป็น ส.ส. และยังมีประชาชนให้การสนับสนุน เพราะมีบทบาททั้งในพื้นที่ และในสภาผู้แทน

เขตเลือกตั้งที่ 3 ต้องสู่กับ “อนุมัติ ซูสารอ” ที่ ลาออกจากพรรคประชาชาติ ไปสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ ของลูงตู่ และต้องสู้กับอับดุลบาซิม อาบู ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทยยังเชื่อมั่นว่า “อับดุลบาซิม” จะได้รับการเลือกจากประชาชนในพื้นที่กลับมาได้อีกครั้ง โดยมี "สิรภพ ดวงสอดศรี" ที่เป็นสายตรงของเนวิน ชิดชอบ รับผิดชอบพื้นที่ จ.ปัตตานี ของภูมิใจไทย

สำหรับพรรคประชาชาติ ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มี ส.ส. 2 เขต คือเขต 3 “อนุมัติ ซูสารอ” และเขต 4 “สมมุติ เบญจลักษณ์” และเกือบได้ ส.ส.ในเขต 2 ที่ผู้สมัครคือ “อารีฟีน จะปากียา” ที่”พ่ายแพ้ให้อับดุลบาซิม อาบู จากพรรคภูมิใจไทยเพียง 400 คะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าประชาชาติจะยังไม่มีการเปิดตัวผู้สมัครครบทุกเขต แต่ก็มีการสรรหาผู้สมัครไว้แล้ว เพียงรอวันเวลาในการเปิดตัวเท่านั้น

สำหรับประชาชาติ แม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่อาจจะไม่สามารถดึงงบประมาณลงในเขตเลือกตั้งของ ส.ส. แต่ ส.ส.ของประชาชาติ มีการเกาะติดพื้นที่ ดูแลประชาชน และมีบทบาทในสภาผู้แทน รวมทั้ง วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรค มีการลงพื้นที่พบปะประชาชน ผู้นำศาสนาทั้งพุทธ และมุสลิม และดำเนินแนวทางส่งเสริมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นลักษณะของพรรคการเมืองท้องถิ่น และชาตินิยมที่มีโอกาสในการได้ที่นั่งใน จ.ปัตตานี ไม่ต่ำกว่า 2 เขตเลือกตั้ง

แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปได้สูงว่าการเลือกตั้งของ จ.ปัตตานี จะได้ ส.ส.เขต แบบกระจัดกระจาย คือ พรรคการเมืองใหญ่ๆ จะมีการแบ่งปัน ส.ส. ได้ไป แบบคนละเขตสองเขต ในจำนวน 3-4 พรรคการเมือง ส่วนพรรคเฉพาะกิจ อย่างรวมไทยสร้างชาติ ที่มุ่งจะขายลุงตู่ และนโยบาย ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อไป อาจจะต้องเหนื่อย จากกระแสไม่เอาทหาร และการดอง พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่กลายเป็นปมในหัวใจของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้ผู้สมัครของรวมไทยสร้างชาติ ต้องเข็นครกขึ้นเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้

แม้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีค่ายทหาร และมีกำลังพลมากกว่า 50,000 นาย แต่การเข้าคูหาเพื่อกาบัตรเลือกตั้งอาจจะไม่สามารถสั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้มีคำสั่งที่เป็นนโยบายที่ชัดเจนต่อกำลังพล ในการวางตัวเป็นกลาง และไม่ฝักใฝ่กับ การเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น