ชุมพร - อาจารย์สถาบันดัง ร่วมทีมวิจัยฝรั่ง ศึกษาเก็บข้อมูลผลกระทบยาฆ่าแมลง ถางป่า เผาป่า ทำวิกฤตปริมาณผึ้งลดลงอย่างผิดปกติ ชวนช่วยกันควบคุม และแบนยาฆ่าแมลง
ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.ชุมพร ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง พร้อมอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากสถาบันผึ้งของมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เดินทางเข้าพบ นายสุวิทย์ ดำแก้ว ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยี การเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.ชุมพร เพื่อขอความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลตัวอย่างผึ้งโพรง สายพันธุ์พื้นเมือง เพื่อนำไปศึกษาและวิจัย หลังพบปริมาณของผึ้งทั่วโลกลดลงอย่างมาก
ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงผึ้ง ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกพบว่ามีปริมาณลดลงอย่างมาก
ทางประเทศไทยจึงได้ร่วมกับทีมวิจัยจากสถาบันผึ้งของมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาศึกษาว่า “ผึ้งโพรง” ซึ่งเป็นผึ้งพื้นบ้านของเราจะได้รับถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ climate change เหมือนผึ้งของทวีปยุโรป ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือไม่
ดร.จักราวุธ กล่าวว่า จากการจัดเก็บข้อมูล พบว่า ผึ้งโพรงบ้านเราได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ การถางป่า เผาป่า การทำลายแหล่งอาหารของผึ้งโพรง รวมไปถึงการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปริมาณผึ้งลดลง เช่นเดียวกับผึ้งยุโรปของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เราต้องช่วยกันคุมควบและแบนยาฆ่าแมลงดังกล่าว
ดร.จักราวุธ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังพบผึ้งโพรงของเราทางภาคตะวันออก เป็นโรคโนซีมา (Nosema disease) โดยผึ้งจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต ปล้องท้องยืดและบวมโต สีขุ่น แตกต่างจากผึ้งปกติ
การลงเก็บข้อมูลในครั้งนี้จะศึกษาว่าดอกไม้เป็นจุดการแพร่กระจายของเชื้อได้หรือไม่ และที่มีการอพยพผึ้งของแต่ละฟาร์มไปในแต่ละพื้นที่ จะส่งผลการต่อแพร่กระจายของเชื้อได้หรือไม่ และแพร่กระจายได้โดยผึ้งที่เป็นพาหะหรือไม่ โดยเฉพาะเชื้อจะแพร่ไปสู่ผึ้งชนิดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งทางทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชุดนี้ จะเก็บข้อมูลไปศึกษาต่อไป
“สำหรับภาคใต้มีต้นเสม็ดขึ้นเองตามธรรมชาติในชายทะเลและพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของผึ้งโพรง และต้องยอมรับว่า น้ำผึ้งโพรงของภาคใต้มีคุณสมบัติที่ดี มีสรรพคุณด้านต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลินทรีย์สูงมาก เช่นเดียวกับน้ำผึ้งโพรงทางภาคตะวันออก ในขณะที่ทางภาคเหนือซึ่งมีสวนกาแฟ สวนลำไย น้ำผึ้งโพรงจะได้กลิ่นหอมอร่อย ทั้งนี้ ถ้าจะกินน้ำผึ้งที่ดีที่สุดต้องเป็นน้ำผึ้งชันโรง ถึงจะแพงแต่ก็มีคุณสมบัติดีที่สุด รสชาติเปรี้ยวอมหวานเกิดจากการหมักบ่มตามธรรมชาติของจุลินทรีย์โปไบโอติกส์ ที่มีประโยชน์มากอีกด้วย” ดร.จักราวุธ กล่าว