ตรัง - พุทธศาสนิกชนร่วมใจกันสืบทอด “งานบุญให้ทานไฟ” เนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดควนนาแค ประเพณีที่ยังคงเหลือเพียงหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคัก หลังหยุดจัดมาเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
พระครูประยุตอัครธรรม เจ้าอาวาสวัดควนนาแค ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมด้วย นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านควน และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เดินทางมาร่วมพิธี “งานบุญให้ทานไฟ” ประจำปี 2566 กันอย่างคับคั่ง ซึ่งวัดควนนาแค สภาวัฒนธรรมประจำตำบลบ้านควน อบต.บ้านควน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 แล้ว และยังคงเป็นวัดเดียวใน จ.ตรัง ที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ โดยเว้นการจัดมาเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชา รวมทั้งสร้างความรักความสามัคคีในชุมชน โดยชาวบ้านต่างนำอุปกรณ์และวัตถุดิบมาทำอาหารกันอย่างสดๆ ใหม่ๆ จำนวนกว่า 100 ร้าน เพื่อให้ได้อาหารคาวหวานที่ยังคงมีความร้อนถวายพระภิกษุ สามเณร จำนวน 100 รูป โดยมีพระประสิทธิโสภณ รองเจ้าคณะจังหวัดตรัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการรับภัตตาหาร และแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมพื้นบ้านประจำถิ่น หรือหากินยาก เช่น ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง ขนมรู ขนมครก ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ขนมกวนสาคู ขนมเทียน
นอกจากนั้น ยังมีน้ำชา กาแฟ เหนียวปิ้งหมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง โดยเฉพาะขนมเบื้อง หรือขนมฝามี ซึ่งเป็นขนมโบราณอายุกว่า 100 ปี และเป็นตัวเอกของงานนี้ที่ต้องนำถวายพระภิกษุสงฆ์ตามความเชื่อเหมือนสมัยพุทธกาล ทั้งนี้ เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จแล้วได้สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน
สำหรับ “งานบุญให้ทานไฟ” เป็นการทำอาหารร้อนๆ ถวายพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำบุญสมัยโบราณ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในคืนที่มีอากาศหนาวเย็น โดยจะได้ผิงไฟ และใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟเพื่อทำขนมถวายพระ โดยประเพณีการให้ทานไฟ จะนิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย หรือเดือนยี่ หรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นในภาคใต้ (แต่เดิม) อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมในวันมาฆบูชาที่มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวเหลือน้อยเต็มทีแล้ว