xs
xsm
sm
md
lg

อนุรักษ์ “ตะลิงปลิง” ไม้ผลรสเปรี้ยวประจำถิ่นใต้ มาปรุงเป็นเมนูหรอยได้อย่างหลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชาวชุมชนบ่อสีเสียด ต.นาท่ามเหนือ อ.เมืองตรัง ยังคงร่วมใจอนุรักษ์ “ตะลิงปลิง” ไม้ผลรสเปรี้ยวประจำถิ่นใต้ ด้วยการปลูก และนำมาปรุงเป็นอาหารกันหลากหลายเมนูมากขึ้น ทั้งทานสด ยำ แกง หรือตำน้ำพริก

ชาวชุมชนหมู่ 6 บ้านบ่อสีเสียด ต.นาท่ามเหนือ ถือเป็นหนึ่งในชุมชนของ จ.ตรัง ที่ยังคงร่วมใจกันอนุรักษ์ “ต้นตะลิงปลิง” หรือที่มีชื่อท้องถิ่นเรียกกันอีกมากมาย เช่น มูงมัง ที่เกาะสมุย ลิงปลิง ที่ จ.ระนอง บลีมิง ที่ จ.นราธิวาส รวมทั้งเรียกว่า หลิงปลิง หรือมะเฟืองตรน ในหลายจังหวัดของภาคใต้ โดยเป็นไม้ผลประจำถิ่น ซึ่งในอดีตเคยมีการปลูกกันทั่วไปแทบทุกบ้าน แต่ในช่วงระยะหลังกลับมีจำนวนน้อยลงไปมาก อันเนื่องมาจากความนิยมที่ลดลงในการนำผลตะลิงปลิงไปบริโภค หรือนำส่วนต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น

“ตะลิงปลิง” ถือเป็นพืชร่วมวงศ์กับมะเฟือง แต่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนตรงขนาดของผล โดยผลมะเฟืองจะมีขนาดใหญ่กว่าผลตะลิงปลิง ทั้งนี้ ชาวใต้จะรู้จักตะลิงปลิงในแง่ของสรรพคุณทางสมุนไพรที่มีมากมายนับ 20 ชนิด เช่น ช่วยลดไข้ ขับเหงื่อ ละลายเสมหะ แต่ที่น่าสนใจ และเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านอาหารที่กำลังสูญหายไป คือการนำผลมารับประทานแบบสดๆ และปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลายชนิด โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ซึ่งมะนาวจะมีราคาแพงมาก ตะลิงปริงจึงกลายเป็นตัวเลือกด้านความเปรี้ยวที่สามารถใช้ทดแทนได้อย่างดี


สำหรับเมนูยอดฮิตของตะลิงปลิง ได้แก่ ตะลิงปลิงจิ้มพริกเกลือ ซึ่งจะให้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน แบบกินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเบื่อ หรือยำตะลิงปลิงปลาทูสมุนไพร โดยมีส่วนผสมคล้ายยำทั่วไป คือ หอมแดง มะกรูด พริกชี้ฟ้า ตะไคร้ และกุ้งแห้ง เพียงแค่จะไม่ใส่ขิงหรือมะนาว เช่นเดียวกับน้ำพริกตะลิงปลิงกุ้งสด ก็เป็นอีกเมนูที่น่าลิ้มลอง โดยมีส่วนผสมเหมือนน้ำพริกทั่วไป คือ พริกแดง หอมแดง และกะปิ แต่ทั้ง 2 เมนูจะมีจุดเด่นตรงที่มีการใส่ตะลิงปลิงลงไปเพื่อให้ความเปรี้ยว นอกจากนั้น ยังมีแกงส้มตะลิงปลิงอีกหนึ่งในเมนูชื่อดังด้วย

นางห่วง สมาธิ อายุ 74 ปี ชาวชุมชนหมู่ 6 บ้านบ่อสีเสียด บอกว่า ตะลิงปลิงที่เหมาะต่อการนำมารับประทานแบบสดๆ และปรุงเป็นอาหารนั้นจะเป็นผลที่แก่จัด แต่ถ้าเป็นผลสุกจะให้รสชาติที่เฝื่อนๆ ออกไป โดยมักจะออกผลดกในช่วงหน้าร้อน และสามารถเก็บไปขายในตลาดท้องถิ่นได้ โดยปีนี้มีราคาพุ่งขึ้นเป็น 35-40 บาท เนื่องจากล่าสุดได้มีผู้คนให้ความสนใจหวนกลับมาบริโภคตะลิงปลิงในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตะลิงปลิงนับเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย เพียงแค่ 3 ปีก็ให้ผลผลิตแล้ว และเก็บผลขายได้ต่อเนื่องไปยาวนาน














กำลังโหลดความคิดเห็น