ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
พลันที่ "สาธิต ปิตุเตชะ" รมช.สาธารณสุข เปิดประเด็นให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มามีส่วนร่วมในการหาเสียงเพื่อช่วยผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีก 70 วันข้างหน้า ได้สร้างความคึกคักทางการเมือง และความคึกคักแก่ผู้ที่ลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่างไรเสีย ชื่อชั้นทางการเมืองของ "อภิสิทธิ์" ในสนามการหาเสียงยังอยู่ในชั้นบรมครู ที่ยังมีแม่ยกและเอฟซีให้การสนับสนุนไม่น้อย โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งในเมืองหลวง
และยิ่งการที่ "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะมีอดีต ส.ส.รุ่นใหญ่อย่าง "ชวน หลีกภัย" และ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นแตกลายงา พร้อมใจกันขับเคลื่อน เพื่อให้ "ประชาธิปัตย์" เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ยิ่งทำให้เป็นที่จับตาของพรรคการเมืองทุกพรรคต่อการขยับตัวของ "ประชาธิปัตย์"
และที่ถือว่าเป็นการเดินหมากทางการเมืองที่ยอดเยี่ยมของ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในยามที่มีผู้สบประมาทว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ "ประชาธิปัตย์" จะเป็นพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.น้อยกว่าปี 2562 เพราะลูกพรรค "ประชาธิปัตย์" ที่เป็น ส.ส.และที่เป็นสมาชิกพรรคที่เคยมีบทบาทในพรรคอย่าง "ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" ก็ยังลาออกไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคของ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับ "ประชาธิปัตย์" ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะ ส.ส.และอดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ในภาคใต้ของ "ประชาธิปัตย์" ล้วนถูกพลังดูดไปอยู่กับ "ลุงตู่" ทั้งสิ้น
แต่หลังจากที่ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะลงสมัครเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ รวมทั้ง "บัญญัติ บรรทัดฐาน" และ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เพื่อรวมกันสู้ศึกเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็มีความ "กาววาว" ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหม่นหมองของ "ประชาธิปัตย์" ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากความปริร้าวภายในพรรค ที่เกิดจากการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และเกิดจากการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคของประชาธิปัตย์ ที่เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็น "กรณ์ จาติกวณิช" ที่ออกออกไปตั้งพรรคกล้า ก่อนจะมาร่วมงานกับ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ในนามของพรรคชาติพัฒนากล้า และ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ที่ลาออกมาสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ และอัญเชิญ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" มาเป็นนายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นปัญหาจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น
แต่....พรรคประชาธิปัตย์มีจุดแข็งอย่างหนึ่งคือมีกติกาที่ชัดเจน และลูกพรรคต้องยอมรับในกติกาของพรรค ไม่พอใจก็ลาออกและต่อสู้กันทางการเมืองตามวิถีทางของแต่ละคน ที่สำคัญ อาจจะขัดแย้งกันอย่างจะไม่ยอมรับ แต่เมื่อถึงคราคับขัน คนของพรรคประชาธิปัตย์จะหยุดขัดแย้งและกลับมาร่วมมือกันเพื่อกอบกู้และร่วมกันทำศึก เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง
เช่นเดียวกับ "หมากเกม" ของ "ชวน หลีกภัย" ที่ประกาศชัดว่าจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการบอกกับประชาชนว่า ถ้ายังต้องการให้ "ชวน หลีกภัย" เป็น ส.ส. ก็ต้องช่วยกันเลือก "ประชาธิปัตย์" ด้วยการกาบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ เพราะถ้ากาบัตรเฉพาะผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง "ชวน หลีกภัย" จะไม่ได้เป็น ส.ส แม้ว่าหมากกลนี้จะเป็นลูกไม้ตื้นๆ แต่ได้ผลในเรื่องของจิตวิทยาในการช่วยให้ประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น
แฟน "ประชาธิปัตย์" ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเผื่อใจเลือก "ประชาธิปัตย์" เฉพาะผู้เป็น ส.ส.เขตและปันใจแบ่งคะแนนเสียงไปให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อเกิดห่วง "นายชวน" ห่วง "บัญญัติ" ห่วง "อภิสิทธิ์" จะไม่ได้เป็น ส.ส. ก็จะต้องเข้าคูหาและกาบัตรเลือกตั้งให้แก่ "ประชาธิปัตย์" ทั้ง 2 ใบ
ลูกไม้การเมืองของ "ประชาธิปัตย์" ในครั้งนี้ยังได้ผล โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ ที่แม้ว่าวันนี้ "ประชาธิปัตย์" ที่เคยส่ง "เสาไฟฟ้า" ลงเลือกตั้งก็ได้รับการขานรับจากคนภาคใต้ แต่วันนี้จะไม่ได้รับการขานรับแล้วก็ตาม ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นว่าเสาไฟฟ้าเหล่านี้ไม่มีอีกแล้วในสนามเลือกตั้ง ผู้สมัครหน้าใหม่ของประชาธิปัตย์ คือ คนยุคใหม่ ที่เป็นคนหนุ่มคนสาว ที่จำนวนหนึ่งไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นหรือระดับชาติมาก่อน นั่นคือการปรับลุคและปรับตัวทางการเมืองเพื่อรับการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ที่สำคัญยิ่งในครั้งนี้
ที่ต้องจับตามอง หลังจากที่ปิดสภาฯ หมดสมัยประชุม เมื่อ "ชวน หลีกภัย" ผนึกกำลังกับรุ่นใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเวทีปราศรัยกับประชาชน จะได้เห็นลีลาและลูกไม้-แม่ไม้ทางการเมืองของนักการเมืองแตกลายงาอย่าง "ชวน หลีกภัย" ที่หลายๆ คนประมาท ว่า เป็น "มีดโกนทื่อ" เชื่อว่า ครั้งนี้ มีดโกนของ "ชวน หลีกภัย" จะไม่ทื่ออย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจจะเป็นการขึ้นเวทีลุยไถเป็นครั้งสุดท้ายของการเป็นนักการเมืองอาชีพในการขึ้นเวทีเพื่อสัประยุทธ์กับคู่ต่อสู้เพื่อนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่ชัยชนะในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ให้ได้
และน่าจะสอดคล้องกับคำพูดของ "นิพนธ์ บุญญามณี" ที่ย้ำอีกครั้งว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ "ประชาธิปัตย์ดีขึ้นๆ" โดยตลอด ไม่เหมือนกับประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งในปี 2562 เป้าหมายของประชาธิปัตย์ที่ตั้งไว้ที่ 30-35 เสียง วันนี้เปลี่ยนแล้วจากการลงพื้นที่ จากการตรวจสอบกระแสตอบรับของประชาชน มั่นใจว่า ในสนามการเลือกตั้งในภาคใต้ จะได้ ส.ส.เขต 40-45 คน นี่คือความมั่นใจของขุนพลที่รับผิดชอบการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ในครั้งนี้