ตรัง - ศาลเจ้าท้ายปักกุ้ง (หนองเทา) ศาลเจ้าเก่าแก่คู่เมืองตรัง ที่มีอายุมากกว่า 140 ปีแล้ว สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก “พาดผ้าแดงไหว้เจ้า กินข้าวตับจาก” เนื่องในวันคล้ายวันเทวสมภพองค์ท้ายปักกุ้ง
ศาลเจ้าท้ายปักกุ้ง หรือศาลเจ้าหนองเทา ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดนิโครธาราม ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดตรังอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้มีการจารึกไว้ในธรรมเนียมศาลเจ้า 100 ปีว่า เป็นศาลเจ้าในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย ที่มีอายุมากกว่า 140 ปีแล้ว
ศาลเจ้าได้มีการจัดประเพณี "พาดผ้าไหว้เจ้า กินข้าวตับจาก" ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 ตามปฏิทินไทย หรือในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 2 ตามปฏิทินจีน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเทวสมภพองค์ท้ายปักกุ้ง โดยมีการจัดประเพณีดังกล่าวมาตั้งแต่อดีต สืบสานกันมาจนปัจจุบัน ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่ได้มีการอนุรักษ์เอาไว้
สำหรับ “พาดผ้าแดงไหว้เจ้า” คือ การนำผ้าสีแดง ซึ่งถือเป็นสีมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีนมาพาดบ่า เปรียบเสมือนชุดเข้าเฝ้า แล้วไหว้สักการะองค์ศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า จากนั้นจะมีการแสดงมโนราห์ เพื่อถวายแด่องค์ท้ายปักกุ้ง
ส่วน “กินข้าวตับจาก” จะทำขึ้นหลังเสร็จพิธีโข้กุ้นทหารแล้วในช่วงบ่าย โดยเป็นการเลี้ยงสาธุชนที่ได้ร่วมกันจัดงาน หรือสาธุชนที่มาไหว้สักการะองค์ศักดิ์สิทธิ์ หรือจัดให้มีการทานเลี้ยง แต่เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ชาวบ้านเลยนำตับจากมาใช้แทนโต๊ะและนั่งพื้นเพื่อกินอาหารเลี้ยง เป็นวงกลม วงละ 6-7 คน
สำหรับอาหารที่นำมาใช้จัดเลี้ยงจะเป็นสำรับจีนกวางตุ้ง โดยมีเมนูที่ขาดไม่ได้และปัจจุบันยังมีที่เดียวเท่านั้น คือ ซอสส้มเจืองกินคู่กับผักกาด ผักกาดดอง และแตงกวา นอกจากนั้น ยังมีเมนูเคายุกต์ (เกาหยุก) หมูย่างเมืองตรัง ผัดมันแกวเต้าหู้ยี้ หมี่น้ำหล่อ และตบท้ายความอร่อยด้วยเหล้าเชี่ยงชุน