xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาแล้วที่ต้องขอความร่วมมือดับไฟใต้จากมาเลเซีย ภายใต้การนำของเพื่อนเก่าเราอย่าง “อันวาร์ อิบราฮิม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นจริงหรือไม่ ให้ดูเหตุล่าสุดที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีการวางเพลิงเผาเครื่องจักรกลบริษัทรับสร้างทางเพื่อล่อลวงเจ้าที่หน้าให้ติดกับดักระเบิดซุ่มโจมตี ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ และถูกใช้ซ้ำซาก แต่กลับยังสร้างความสูญเสียได้ถึงขั้นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับ “สว.สส.สภ.บันนังสตา” ต้องพลีชีพไป 1 ศพ แถมยังมีตำรวจชั้นประทวนบาดเจ็บพ่วงด้วย

คอลัมน์นี้ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียและบาดเจ็บ แม้จะได้รับบำเหน็จความชอบ แต่ก็ทดแทนกันไม่ได้เลย เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบดูแลพ่อแม่ ครอบครัวขาดเสาหลัก ภรรยากลายเป็นหญิงหม้าย ลูกๆ ขาดพ่อ นั่นคือเรื่องสุดเศร้าสำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ล่าสุด

แต่ช่วงนี้มีหลายเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจ อย่างการเยือนไทยของ “ตันศรี ซุลกีฟลี ไซนัล อาบีดิน” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซีย ผู้อำนวยความสะดวกให้แก่กระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น เพื่อสานต่อสารัตถะของการเจรจารอบใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นี้

และที่สำคัญเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 “อันวาร์ อิบราฮิม” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นำคณะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะให้ชงข้อเสนอเรื่องราววิกฤตไฟใต้เข้าสู่โต๊ะเจราจาที่กำลังจะเกิดขึ้นบ้าง

จริงๆ แล้ว อันวาร์ อิบราฮิบ ถือเป็นผู้นำมาเลเซียที่มีท่าทีเป็น “พันธมิตรแน่นแฟ้น” ของไทยเรา แถมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการไทยมานานนับตั้งแต่ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีแล้วมาเป็นฝ่ายค้าน เขาเคยพบปะพูดคุยกับทั้งนักการเมือง ฝ่ายปกครอง และระดับนำกองทัพมาเราอย่างต่อเนื่อง

หากรัฐไทยบาลใช้ความเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นแสวงหาความร่วมมือที่ดีจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย โดยเฉพาะในด้านการเกื้อหนุนมาตรการดับไฟใต้ด้วยแล้ว เชื่อว่าไฟใต้บนแผ่นดินปลายด้ามขวานของเราอาจจะดับได้อย่างถาวรก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่าที่บีอาร์เอ็นดำรงอยู่ได้และกลายเป็นเสี้ยนหนามทิ่มตำไทยเราอยู่จนทุกวันนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก “รัฐบาลท้องถิ่น” ให้หลังพิง โดยเฉพาะ “พรรคฝ่ายค้าน” โดยที่ดูเหมือนว่า “รัฐบาลกลาง” ของมาเลเซียเองก็ไฟเขียวให้ทุกขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยเรามาตลอด

วันนี้มาเลเซียเองไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายรัฐที่มีชายแดนติดกันหรืออยู่ใกล้กับชายแดนใต้ของไทย โดยเฉพาะรัฐกลันตัน และรัฐตรังตานูต่างเป็นเหมือนฐานที่มั่นให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เคลื่อนไหวอย่างสะดวกดาย ทั้งในด้านการไหลไปมาของกองกำลัง และอาวุธยุทโธปกรณ์

โดยเฉพาะกับหมู่บ้านตามแนวชายแดนฝั่งตรงข้าม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นที่ทราบดีว่ามี “หมู่บ้านจัดตั้ง” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นไว้สำหรับฝึกอาวุธและฝึกยุทธวิธีก่อการร้าย แต่ก็แปลกที่หน่วยงานความมั่นคงไทยเราไม่เคยนำเรื่องเหล่านี้ไปหารือกับตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียแม้แต่ครั้งเดียว

ในอดีตมาเลเซียเคยมีเสี้ยนหนามสำคัญคือ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ที่ใช้ดินแดนชายแดนใต้ของไทยเคลื่อนไหวและเป็นฐานที่มั่น รัฐบาลเสือเหลืองต้องมาร้องขอให้ช่วยเจรจากับ “จีนเป็ง” เลขาธิการพรรคให้ยินยอมวางอาวุธ ผลสุดท้ายกองทัพไทยทำสำเร็จแล้วดึงมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้ทั้งหมด

มาเลเซียสูญเสียงบประมาณนับหมื่นนับแสนล้านบาทแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายามานาน แล้วตอนขอให้ไทยช่วยเจรจาสงบศึกก็ทุ่มมาให้อีกราว 7,000 ล้านบาท ส่วนใครได้ไปบ้างเป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่ ดังนั้น การที่เวลานี้ไทยเราจะขอให้ฝ่ายมาเลเซียช่วยเหลืออย่างจริงจังบ้างก็น่าเป็นเรื่องสมควรทำมิใช่หรือ

เวลานี้จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจะนำปัญหาไฟใต้ไปพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหรือไม่ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้คนไทยแทบไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลย

ที่ผ่านๆ มาผู้นำรัฐบาลเรามักอ้างว่า วิกฤตไฟใต้เป็นเรื่อง “ภายในของไทย” ซึ่งรัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เองโดยไม่ต้องพึงพาต่างประเทศ ดังนั้น เรื่องราวของไฟใต้จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องแอบ “คุยกันใต้โต๊ะ” มาโดยตลอด

แต่วันนี้สถานการณ์ไฟใต้ไม่ควรเป็นเรื่องราวที่ต้องแอบคุยกันใต้โต๊ะ และไม่ใช่เรื่องภายในของไทยเราเองอีกต่อไป เพราะเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าทุกขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยเราล้วนมี “ผู้บงการ” และตั้ง “ฐานที่มั่น” อยู่ในมาเลเซีย

ที่สำคัญนับ 10 ปีต่อเนื่องมาที่รัฐไทยและขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เป็นตัวเอกในขณะนี้ ได้ร่วมกันตั้งโต๊ะเจรจาไม่ว่าจะเรียกว่า “พูดคุยสันติภาพ” หรือ “พูดคุยสันติสุข” โดยที่มีรัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก เพื่อยุติปัญหาที่มีมายาวนานกว่า 60 ปีมาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น เวลานี้ยังมีองค์กรจากชาติตะวันตกอย่าง “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจรจาทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และในต่างประเทศ โดยอ้างว่าได้เข้ามาทำหน้าที่ “สักขีพยาน” หรือเพียงแค่ “ผู้สังเกตการณ์” ก็ตาม

ถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลไทยและหน่วยงานความมั่นคงยังกล้า “แถ” หรือไม่ยอมรับความจริงว่า เรื่องราวไฟใต้ที่ปลายด้ามขวานทองของเราได้ถูกยกระดับสู่สากลไปแล้ว ซี่งไม่แตกต่างไปจากกรณี “อาเจะ” ของอินโดนีเซีย หรือ “อาบูไซยาฟ” ของฟิลิปปินส์ รวมถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ในหลายประเทศ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐไทยต้องยอมรับความจริงว่า วิกฤตไฟใต้ได้มีการยกระดับไปสู่สากลแล้ว หรือตั้งแต่ที่ยอมให้องค์กรอย่าง “เจนีวาคอลล์” ได้เข้ามาเป็นผู้ออกแบบการเจรจา และมีตัวแทนจาก “ไออาร์อาร์ซี” ได้เข้ามานั่งในโต๊ะเจารจาด้วย

ถ้า “ท่านผู้นำ” รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงไม่ว่าจะเป็น “กองทัพ” หรือ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” ยอมรับความจริง และต้องการดับไฟใต้แบบถูกฝาถูกตัว ถึงเวลาแล้วที่เราต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของเพื่อนเก่าเราคือ “อันวาร์ อิบราฮิม”

อันเป็นไปแบบเดียวกันกับที่ฝ่ายมาเลเซียเคยขอความร่วมมือจากรัฐบาลและกองทัพไทยให้ช่วยจัดการปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งฝ่ายไทยเรากลับตั้งให้ช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จนทำให้มาเลเซียมีความสงบสุขมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าคำตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลา” นั่นอาจแปลความได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดับไฟใต้ยังไม่ “อิ่มหนำสำราญ” กับงบประมาณที่ถูกเผาผลาญกันไปแล้วเกือบ 5 แสนล้านบาท นับจากช่วงไฟใต้ระลอกใหม่คุโชนราว 20 ปีที่ผ่านมาใช่หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น