xs
xsm
sm
md
lg

อยากสะกิด "ดีเอสไอ-ป.ป.ท.” ให้หันมองเอกชนขอขนน้ำมันนับแสนลิตรจากมาเลย์จะไปลาวแต่กลับหายหลังผ่านด่านสะเดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. เมือง ไม้ขม

หลายวันก่อนเห็นข่าวหน่วยงาน DSI สำนักงานภาคใต้ ร่วมกับหลายหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และหน่วยที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ได้สนธิกำลังเข้าตรวจสอบการดำเนินการอุตสาหกรรมบ่อดิน-บ่อทรายในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.สงขลา เช่นที่ อ.จะนะ และเทพา เพื่อตรวจสอบเอกสารใบอนุญาตว่าเป็นการทำตามที่กฎหมายได้กำหนด และในพื้นที่ซึ่งได้ขออนุญาตหรือไม่

ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอาจจะมีนายทุนบางกลุ่มบางคนที่เป็นผู้มีอิทธิพลอาจจะใช้อิทธิพลในการลักลอบขุดดิน ขุดทราย ซึ่งเป็นทรัพยากรไปขาย เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง เพราะประเทศนี้ภายใต้การบริหารของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เต็มไปด้วยกลุ่มคนสีเทาและทุนสีเทา ทั้งต่างชาติและคนไทยเต็มไปหมดทั้งแผ่นดิน

รวมทั้งเป็นเรื่องที่ดีที่ DSI จะได้ทำงานที่เป็นคดีพิเศษ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการจับกุมบุหรี่ลักลอบหนีภาษี และสุราลักลอบหนีภาษีเป็นด้านหลัก ทั้งที่มีสรรพสามิต และศุลกากรทำหน้าที่หลักอยู่แล้ว

แต่จากการเข้าตรวจสอบ “บ่อดิน-บ่อทราย” ไม่พบว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะในข่าวที่มีการรายงานมายังสื่อกล่าวเพียงว่า ได้มีการตรวจสอบ แต่ไม่ได้ระบุว่ามี “บ่อดิน-บ่อทราย” ที่ไหนที่ทำผิด ทั้งที่ในความเป็นจริงมีบ่อทรายที่ไม่ถูกต้องใน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งล่าสุด “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแจ้งเตือนให้นายทุนหยุดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะที่ “นายกชาย” เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานเพื่อการทวงคืนเอกราชสิ่งแวดล้อมของ จ.สงขลา แต่ไม่เห็นข่าวว่าดีเอสไอ ป.ป.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ อ.รัตภูมิ เพื่อตรวจสอบแต่อย่างใด

ที่สำคัญ ป.ป.ท.มีหน้าที่โดยตรงที่ระบุชัดเจนว่า มีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยการจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบาย และแผนพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กำกับและตรวจสอบเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ติดตามและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ

แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ ป.ป.ท.ไปดำเนินการในเรื่องบ่อดิน-บ่อทราย เป็นเรื่องของเอกชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของภาครัฐแต่อย่างใด ก็ไม่ว่ากัน เพราะในการทำอุตสาหกรรม “บ่อดิน-บ่อทราย” อาจจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นภาครัฐมีส่วนร่วมในการทุจริตอยู่ด้วย

ความจริง ณ วันนี้ การทุจริตในภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่รวมหัวกับนายทุน กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ มีการทุจริตกันมากมาย ซึ่งมีพลเมืองดีส่งจดหมายมายังสื่อแจ้งเบาะแสให้สื่อช่วยตีแผ่การทุจริตในโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการที่มาเป็นอันดับหนึ่งใน จ.สงขลา และภาคใต้ คือ โครงการของชลประทาน และที่มีการร้องเรียนเป็นอันดับ 2 คือ แขวงทางหลวงและทางหลวงชนบท ซึ่งรับผิดชอบในโครงการก่อสร้างถนนหนทาง

เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำ ที่ ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม จ.สงขลา ที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าในการก่อสร้างมีการขุดดินที่ส่อว่าไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง โดยขุดแต่ทรายเพื่อไปขาย ในส่วนของดินไม่ได้ขุดให้ถูกต้องตามสัญญา เป็นก้นอ่างที่ลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่พลเมืองดีร้องเรียนมา กรมชลประทานผู้รับเหมา และกรรมการตรวจรับต้องร่วมกันรับผิดชอบ

อีกโครงการที่มีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบคือ โครงการถนนเลียบคลอง ร.1 ในพื้นที่ของ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่มีผู้สังเกตและพบว่า ในสัญญาจ้างเป็นการ “บดอัดด้วยหินคลุก” แต่ในการทำจริงเป็นการใช้ลูกรังในการบดอัด เท็จจริงอย่างไร ป.ป.ท.ควรจะตรวจสอบ

และอีกโครงการหนึ่งที่มีการร้องเรียนต้องการให้ตรวจสอบ คือ คูระบายน้ำที่ก่อสร้างแทนเกาะกลางถนนสายหาดใหญ่-จะนะ ที่มีผู้ให้ข้อมูลว่า ตามสัญญาจ้างผู้รับเหมาต้องเทคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร ผู้ร้องอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบว่า ความหนาของคอนกรีตได้ 10 เซนติเมตรตามสัญญาหรือไม่

ที่สำคัญ ถ้า ป.ป.ท.มีหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามการทุจริตของภาครัฐอย่างจริงจัง ให้ไปตรวจโครงการถนนและชลประทานทุกโครงการ ตั้งแต่ปี 2562 แล้วอาจจะพบว่า ส่วนใหญ่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง หรือพูดตรงๆ คือการทุจริตนั่นเอง

ส่วน DSI เรื่องใหญ่ที่ควรทำคือการจับกุมขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนข้ามชาติ ที่ล่าสุด ด่านศุลกากร จ.บึงกาฬ ได้ส่งหนังสือถึงด่านศุลกากร อ.สะเดา จ.สงขลา ให้ดำเนินการต่อบริษัท เอสพีพีออยล์ (ไทยแลนด์) ที่นำน้ำมันดีเซลหลายแสนลิตรจากประเทศมาเลเซีย โดยขอเอกสารผ่านประเทศไทยไปประเทศ สปป.ลาว ผ่านด่านศุลกากร จ.บึงกาฬ แต่น้ำมันดังกล่าวไม่ได้ส่งไป สปป.ลาว และเวลาผ่านไป 30 วัน รถบรรทุกน้ำมันทั้ง 8 คัน ไม่มีการเดินทางผ่านด่านศุลกากร จ.บึงกาฬ จน ผอ.ด่านศุลกากรบังกาฬ แจ้งให้ ผอ.ด่านศุลกากรสะเดา ทำการดำเนินคดีต่อบริษัทดังกล่าว

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นการโกงภาษีของประเทศชาติ และไม่ทราบว่าบริษัทดังกล่าว มีการใช้วิธีการทรานซิสเส้นทางด้วยการนำน้ำมันจากประเทศมาเลเซีย โดยไม่เสียภาษีศุลกากร และนำไปขายในประเทศได้กำไรมหาศาล โดยไม่ได้ส่งไป สปป.ลาวตามเงื่อนไข และที่สำคัญบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ไม่ห่างจากที่ทำการศุลกากร อ.สะเดา กี่มากน้อย เป็นไปได้หรือไม่ที่ศุลกากรและสรรพสามิตจะไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้น

และที่ ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันนี้มีกลุ่มทุนนำน้ำมันเถื่อนจากมาเลเซียเข้ามาบรรจุแท็งก์ เพื่อขายให้ลูกค้าวันละหลายแสนลิตร มีรถบรรทุกน้ำมันเข้าไปรับน้ำมัน เหมือนกับเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข่าวว่า “พล.ต.ต.วรา เวชชาภินันทร์” ผบก.ภ.จว.สงขลา เคยสั่งการให้ตำรวจ สภ.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตรวจสอบและจับกุม ปรากฏว่า ตำรวจ สภ.ทุ่งลุงไปจับกุมพ่อค้าที่ขายน้ำมันเป็นแกลลอนรายเล็กๆ และรายงานให้ทราบว่า มีการจับกุมตามคำสั่งแล้ว เศร้านะ ประเทศไทย

รวมทั้งขณะนี้น้ำมันกลางทะเลอ่าวไทยมีการขนถ่ายขึ้นบกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ล่าสุด ผอ.ศุลกากรภาคที่ 5 จับกุมรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนที่เป็นน้ำมันจากทะเลได้เกือบ 40,000 ลิตร ที่ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ขณะนำไปส่งปั๊มน้ำมันที่เป็นเจ้าของ

นี่ต่างหากที่ DSI และ ป.ป.ท. ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเงินภาษีของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น