โดย.. เมือง ไม้ขม
เป็นเวลา 19 ปีเต็ม และย่างเข้าสู่ปีที่ 20 ที่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไฟใต้” ที่เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และใน 5 อำเภอของ จ.สงขลา โดยรัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการดับไฟใต้ไปแล้ว 4.9 หมื่นล้านบาท แต่ “ไฟใต้ก็ยังคงลุกโชน” และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด
แม้ว่าจะมีการตั้งโต๊ะเพื่อหาทางออกจากวิกฤตของไฟใต้ ด้วยการเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกขบวนการ โดยเฉพาะ “บีอาร์เอ็น” ตั้งแต่ พ.ศ.2556 สมัยที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบัน แต่การเจรจา โดยเฉพาะในยุคที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลา 8 ปี มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยไปแล้ว 4 คน แต่ไม่มีความคืบหน้าจากการเจรจาที่น่าพอใจ เนื่องจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นที่เป็นคู่เจรจาเห็นว่า รัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพยังไม่มีความจริงใจที่จะใช้เวทีการเจราจา เพื่อยุติปัญหาของไฟใต้
ในขณะที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นด้วยและต้องการให้นักการเมืองและพรรคการเมืองร่วมกันผลักดันการเจรจา เพื่อให้เกิดมรรคผล โดยเห็นว่าปัญหาการแบ่งแยกดินแดนไม่อาจจะจบลงด้วยการใช้กำลังและอาวุธ แต่ต้องจบที่การเจรจา ทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีการแบ่งแยกดินแดน
“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีต รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนักการเมืองที่คลุกคลีอยู่กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เริ่มเป็น ส.ส.สมัยแรกของพรรคประชาธิปัตย์ จึงรับรู้ถึงรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทั้งผ่านทาง ส.ส.ของพรรค และประชาชนในพื้นที่ รู้ถึงความเป็นมาของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแต่ละขบวนการ เพราะ “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่มีการพูดคุยแบบลับๆ กับผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในขณะที่เป็นรัฐบาลมาโดยตลอด
ดังนั้น ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า “ประชาธิปัตย์” นอกจากจะเสนอยุทธศาสตร์ 3 ส นั่นคือการ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” แล้ว ยังเสนอยุทธศาสตร์เฉพาะพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยยุทธศาสตร์ “นำสันติภาพสู่สันติสุข” โดยการเจรจาตามกระบวนการสันติวิธี ที่ผลักดันโดยฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ผลักดันโดยฝ่ายความมั่นคงเพียงอย่างเดียว
หลังมีการนำเสนอยุทธศาสตร์ของการใช้สันติภาพสู่สันติสุข ที่มาจาก “นิพนธ์ บุญญามณี” มีเสียงตอบรับจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งเห็นด้วยกับการสร้างสร้างสันติภาพเป็นด่านหน้า ที่จะทำให้สันติสุขเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในเรื่องของสันติภาพต้องมีพรรคการเมืองเป็นผู้เขียนนโยบาย และผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ และตรงกับสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเรียกร้องมาโดยตลอด
หลังการประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีกลุ่มเยาวชน กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มที่เป็นปีกทางการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างต้องการมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพสู่สันติสุขของ “ประชาธิปัตย์” ด้วยการเข้าพบกับ “นิพนธ์ บุญญามณี” และแกนนำในพื้นที่เพื่อนำข้อเสนอจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเยาวชนที่เห็นต่างจากหน่วยงานความมั่นคง เพื่อให้นำไปพิจารณาในการทำยุทธศาสตร์ ให้การนำนโยบายสันติภาพสู่สันติสุขเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการที่จะเห็น
“อับดุลอาชิ เจ๊ะฮะ” หนึ่งในตัวแทนของภาคประชาชน กล่าวว่า 19 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียทั้งชีวิตประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐกว่า 7,000 คน มีผู้บาดเจ็บ พิการกว่า 20,000 คน ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท มีการเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน 10 ปี แต่ไฟใต้ยังคงลุกโชน ประชาชนในพื้นที่ยากจนและว่างงาน ทุกคนอยากเห็นสันติภาพ เพราะหากสันติภาพเกิดขึ้นได้ สันติสุขในพื้นที่ก็จะตามติดมา ประชาชนจะอยู่กันอย่างสงบสุขอย่างในอดีต
“วิชาญ พุฒแก้ว” หนึ่งในคนไทยพุทธที่อพยพออกจากพื้นที่ กล่าวว่า วันนี้คนไทยพุทธเหลืออยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เกิน 20,000 คน ที่เหลืออพยพออกมาเพื่อความปลอดภัย แต่เรือกสวนไร่นา บ้านเรือนยังอยู่ ทุกคนต้องการกลับไปทำมาหากินในบ้านของตนเอง จึงเห็นด้วยที่ “ประชาธิปัตย์” จะขับเคลื่อนนโยบายสันติภาพสู่สันติสุข และขอให้คนไทยพุทธได้มีส่วนในนโยบายดังกล่าวด้วย และเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เดินมาถูกทาง ที่กล้านำเสนอนโยบายดังกล่าว โดยเชื่อว่าจะส่งผลให้ “ประชาธิปัตย์” มีผู้แทนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าเดิม
“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีต รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ประชาธิปัตย์” ตั้งใจจริงกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสังเกตว่าในยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ปัญหาความรุนแรงจะลดน้อยลง เพราะมีการเจรจาในทางลับกับขบวนการเพื่อหาทางออกจากความรุนแรง และในการเป็นฝ่ายค้าน คนของประชาธิปัตย์จะให้ความสนใจกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่นำเสนอนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “สันติภาพสู่สันติสุข” ได้มีการกลั่นกรองจนตกผลึกแล้วว่า นโยบายจะนำพาจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากความขัดแย้งด้วยการเจรจาสันติภาพตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วย “ยุทธศาสตร์ 3 ส” ที่เป็นนโยบายหลัก เมื่อบวกกับนโยบาย “นำสันติสุขสู่สันติภาพ” ที่ “ประชาธิปัตย์” นำเสนอต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางหนึ่งคือการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทางหนึ่งคือการนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น และประชาชนเห็นด้วย ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่อย่างอบอุ่นอีกครั้ง
ต้องไม่ลืมว่า แผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้ “ประชาธิปัตย์” เคยได้ ส.ส. 11 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 12 คน และท่ามกลางความผิดหวังในวิธีการดับไฟใต้ของรัฐบาล ที่ล้มเหลวมาตลอดระยะ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” คือทางเลือกของประชาชนเพื่อออกจากความขัดแย้ง และความสูญเสียที่ยาวนานถึง 20 ปี