ปัตตานี - คนทำนาเกลือตันหยงลุโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี โอดครวญผลิตเกลือไม่ได้ 2 ปีแล้ว เนื่องจากสภาวะฝนตกบ่อยและน้ำในอ่าวปัตตานีความเค็มลดลง ร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขด่วน
วันนี้ (7 ก.พ.) จากภาวะฝนตกบ่อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาวะน้ำในอ่าวปัตตานีเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำกร่อย จากสภาวะน้ำจืดคุกคามในอ่าวปัตตานีรุนแรงกว่า 2 ปีมาแล้ว ทำให้ความเค็มของน้ำทะเลในอ่าวลดต่ำลงอย่างรุนแรง จากปกติที่มีความเค็ม 30-32 PPM ลดเหลือความเค็มไม่เกิน 15 PPM บางจุดเหลือความเค็มไม่เกิน 6 PPM
ทำให้ชาวนาเกลือตันหยงลุโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ต้องโอดครวญเพราะผลิตเกลือไม่ได้ผลมา 2 ปีต่อเนื่อง ทำให้ชาวนาเกลือที่นี่ไม่มีเกลือใส่แกง ทำให้ต้องหาซื้อเกลือผงสำเร็จรูปมาใช้ในครัวเรือนแทน ทั้งที่คนในครอบครัวมีอาชีพทำนาเกลือประจำทุกปี
นายแวอุเซ็ง ลาเต๊ะ ผู้มีอาชีพทำนาเกลือตันหยงลุโล๊ะ ได้เล่าถึงปัญหาจากผลกระทบดังกล่าวว่า ปกติภูมิอากาศบ้านเราผ่านหน้าฝนจะเข้าฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำนาเกลือเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม เมื่อช่วงปลายกุมภาพันธ์พื้นนาและน้ำในนาเกลือจะเริ่มมีความเค็มสูงพร้อมจะผลิตเป็นเกลือทะเล และช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคมเป็นช่วงการเก็บเกลือเข้ายุ้งประมาณ 7-8 พันถัง แต่ช่วงปีที่ผ่านมาบางคนได้เก็บผลผลิตเกลือมากสุดเพียงแค่ 700 ถัง โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เก็บผลผลิตเกลือ เพราะไม่มีเกลือที่จะให้เก็บ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากภาวะน้ำจืดคุกคามในอ่าวปัตตานีในรอบ 20-30 ปี และรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำรงอาชีพของชาวประมงในรอบอ่าวอย่างหนัก และต่อเนื่องมาแล้วในรอบหลายปี โดยเฉพาะผลกระทบต่ออาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวชุมชนรอบอ่าว ไม่สามารถเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่คลอง ต.หนองแรด ต.ยามู ต.บางปู และ ต.บาราโหม เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่าวจากน้ำเค็มกลายเป็นน้ำจืด ทำให้ระบบหวงโซ่ของอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้พืชน้ำทะเลในอ่าวได้สูญพันธ์ุมาแล้วหลายชนิด เช่น ประเภทสาหร่ายผมนาง ที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวชุมชนรอบอ่าว ที่สร้างรายได้นับล้านบาทต่อปี สาหร่ายผักกาด หอยหลายชนิดได้สูญหายยังไม่หวนกลับ เป็นต้น
ทำให้อาชีพประมงของคนส่วนใหญ่รอบอ่าวต้องสูญหายไปตามสภาพเสื่อมโทรมของอ่าว ทำคนหนุ่มสาววัยทำงานต้องออกไปขายแรงงานนอกพื้นที่ และข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งแม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยสะดวกมากนักแต่จำยอมต้องไปเพราะไม่มีรายได้ ทำให้สภาพสังคมในรอบอ่าวเหลือเพียงผู้สูงอายุ
ล่าสุด ผลกระทบเหล่านั้นทำให้ชาวนาเกลือตันหยงลุโล๊ะไม่สามารถผลิตเกลือทะเลในฤดูกาลได้ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว จึงเรียกร้องอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาด่วน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้