คอลัมน์ จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
อีก 2 เดือนจะถึง “รอมฎอน” เดือนถือศีลอดหรือเดือนแห่งความบริสุทธิ์ของพี่น้องมุสลิม แต่สำหรับมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับกลายเป็นเดือนแห่งการอกสั่นขวัญแขวน เพราะทั้งช่วงเวลาก่อน ระหว่าง และภายหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน กลับเป็นที่วิตกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะก่อเหตุร้ายมากมายขนาดไหน
เพราะกองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น ถูกฝังชิปไว้แล้ว ขณะที่คนทั่วไปก็มักถูก “อุสตาซ” หรือครูสอนศาสนาใช้คำสอนที่บิดเบือนทำให้เชื่อว่า “ซีแย” หรือคนไทยเป็นศัตรูกับ “นายู” ดังนั้น “จูแว” หรือนักต่อสู้เพื่ออิสลามจึงลุกขึ้นทำหน้าที่กำจัดเหล่าศัตรู
คำสอนที่ถูกบิดเบือนจากหลักศาสนาคือ การฆ่าซีแยในเดือนรอมฎอนจะ “ได้รับผลบุญ” มากกว่าในเวลาปกติถึง 10 เท่า สิ่งนี้ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ก่อนปี 2536 และจนถึงขณะนี้ก็ยังยากลบล้างความเชื่อเช่นนั้นออกไปได้ ดังนั้น หลายปีที่ผ่านมาจึงมีข่าว “รอมฎอนเลือด” ปรากฏบนแผ่นดินปลายด้ามขวานมาตลอด
ขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงทำข้อตกลงกับบีอาร์เอ็นตามนโยบาย “รอมฎอนสันติสุข” โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดปิดล้อม ตรวจค้น และไล่ล่า แถมยังอนุญาตให้แนวร่วมทั้งที่มีและไม่มี “หมายจับ” ได้กลับสู่ครอบครัวและเดินอวดโฉมหน้ากันได้อย่างภาคภูมิโดยไม่ต้องกลัวถูกจับกุม
ขณะที่บีอาร์เอ็นก็ “โชว์เพา” ให้เห็นว่ามีอำนาจสั่งการได้จริง ทำให้สถานการณ์ช่วงรอมฎอนปีที่แล้วเกือบไม่มีเหตุร้าย แต่สุดท้าย “ขบวนพูโล” เกิดหมั่นไส้ทั้งบีอาร์เอ็นและ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงก่อเหตุขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี และนราธิวาส
สำหรับปีนี้ หน่วยงานความมั่นคงจะเจรจากับบีอาร์เอ็นให้ “หยุดยิง” ช่วงเดือนรอมฎอนอีกหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะยังไม่รู้ว่าตัวแทน “คณะพูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นจะเริ่มต้นเจรจากันครั้งใหม่ได้ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามแผนที่กำหนดไว้ได้หรือไม่
แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็ได้เห็น พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พบปะผู้นำศาสนาและองค์กรมุสลิมต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยกันทำให้ปีนี้เป็น “รอมฎอนสันติสุข” อีกครั้ง
แล้วยังขอความร่วมมือจุฬาราชมนตรี ให้ช่วยนำข้อความที่บอกกล่าวผู้นับถือศาสนาว่า ชายแดนใต้เป็นแผ่นดิน “ดารุสลาม” หรือสันติภาพ ไม่ใช่ “ดารัลฮีรบี” หรือดินแดนแห่งสงคราม มารณรงค์เผยแพร่ในพื้นที่ ส่วนจะเปลืองงบประมาณทำไวนิลไปเปล่าๆ หรือไม่ ต้องดูกันต่อไป แต่ต้องชื่นชมว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง
แต่ตอนนี้มีประเด็นสำคัญที่อาจเป็น “เชื้อไฟ” ให้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็นนำไปกระพือต่อให้ลุกโชนขึ้นได้คือ การตั้ง “คณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง” ที่มีแต่นายทหารและนายตำรวจร่วมเป็นกรรมการรวม 22 คน
กรณีบิดเบือนประวัติศาสตร์แบบที่ต้องดับไฟแต่ต้นลมคือ ช่วง 2-3 ปีมานี้บีอาร์เอ็นรุกคืบด้วยเวทีเสวนา ทัศนา และผลิตสื่ออย่าง “การ์ดเกม Patani Colonial Territory” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกชาวชายแดนใต้เดินเข้าไปใช้แรงงานที่กรุงเทพฯ เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่สร้างความเกลียดชังและคับแค้น
พลันที่คำสั่งแต่งตั้งกรรมการชุดนี้ถูกเผยแพร่ก็มีการดาหน้าออกมาโจมตีของเครือข่ายใต้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็น รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนและแนวร่วมโลกสวย โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนมากขึ้น พร้อมชี้ประเด็นที่คณะกรรมการไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เข้าร่วมเลยแม้แต่น้อย
อันที่จริงก็เห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาการบิดเบือนในทุกเรื่อง แม้ในด้านวัฒนธรรมที่มีการอ้าง “อัตลักษณ์มลายู” แต่แฝงไว้ซึ่งการสร้างความแตกต่างเพื่อนำไปสู่ความแปลกแยก ก่อนที่ท้ายที่สุดจะก้าวไปสู่ความแตกแยกทางสังคมของคนในชายแดนใต้
แต่ก็เห็นด้วยกับบางมุมคิดต่อต้านเรื่องความไม่หลากหลายของบุคคลที่ร่วมเป็นกรรมการ ทำให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องการบังคับใช้กฎหมายเป็นด้านหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่แม่ทัพภาค 4 และ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ประธานคณะทำงานต้องนำไปเป็นการบ้านปรับแก้ให้สอดคล้องบริบทสังคม
เพราะวันนี้บีอาร์เอ็นได้ยกระดับ “ไฟใต้” ไปสู่ “สากล” ได้สำเร็จแล้ว สิ่งนี้ยืนยันได้จากมี “2 นายทหาร” ในฐานะตัวแทนพิเศษรัฐบาลเดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่กรุงเจนีวา และมี 6-7 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ของไทย
ขณะที่บีอาร์เอ็นก็ยกระดับกองกำลังติดอาวุธให้มี “เครื่องแบบทหาร” และมี “บัตรประจำตัว” บอกสังกัดว่าเป็นระดับ “อาร์เคเค” หรือ “ฮาลีเมา” หรือ “เปอร์มูดอ” ซึ่งในอนาคตหากมีการปิดล้อม ปะทะและวิสามัญฯ เราจะได้เห็นศพนักรบขบวนการแบ่งแยกดินแดนเสียชีวิตในเครื่องแบบแน่นอน
เชื่อว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าใจดี เพียงแต่ยังพยายาม “ปากแข็ง” ว่าสถานการณ์ดีขึ้น มีเหตุร้ายเพียงจิ๊บๆ หรือปีละราว 100 เหตุเท่านั้น จึงมีคำถามว่า ถ้าไฟใต้กำลังจะมอดดับจริง ทำไมยังต้องของบประมาณจัดซื้อ “เครื่องมือพิเศษ” ที่มีราคาแพงอย่างเร่งด่วนอีก แถมยังมีข่าวล็อกสเปกให้ “บริษัทเพื่อนลูก” ด้วย
ด้านสถานการณ์ความไม่สงบล่าสุดมีการปาระเบิดไปป์บอมบ์เข้าใส่จุดตรวจชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา มีการบุกยิงทหารพราน ปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ จ.ปัตตานี เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ต้องถามถึงแผนป้องกันเหตุอะไรหรอก เพราะถึงถามก็คงจะไม่มีคำตอบอะไรกลับมา
ก็ได้แต่หวังว่านับจากนี้ไปฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีการเปิดปฏิบัติการที่ทำให้สถานการณ์มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพราะต้องการ “สร้างภาพ” ให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นว่าต้องเร่งรัดให้มีการจัดซื้อ “เครื่องมือพิเศษ” โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นนับเป็นการแสวงผลประโยชน์ของใครบางคนหรือบางกลุ่มใช่หรือไม่
ความจริงก็เห็นด้วยถ้าจัดซื้อ “เครื่องมือพิเศษ” ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เมื่อมีแล้วจะทำให้การแก้ปัญหาไฟใต้ได้ผล แต่ไม่เห็นด้วยกับการซื้ออุปกรณ์แบบเดียวกับ “จีที 200” หรือ “เรือเหาะ” ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ
ต้องไม่ลืมว่าช่วง “ไฟใต้ระลอกใหม่” กว่า 19 ปีมานี้ สังคมไทยเราได้เทงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 4.9 แสนล้านบาทเพื่อใช้กับการแก้วิกฤตบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน แถมเชื่อว่ายังต้องถมงบประมาณเพิ่มเติมไปแบบไม่รู้จุดจบอีกในวันข้างหน้า ซึ่งเงินทั้งหมดทั้งปวงนั้นล้วนมาจาก “ภาษีของประชาชน” ทั้งสิ้น