โดย… เมือง ไม้ขม
ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ (ถ้าไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น) พรรคประชาธิปัตย์ตั้งตัวเลข ส.ส.ในภาคใต้ไว้ 35 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งขุนพลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในสมรภูมิภาคการเลือกตั้งทั้งประเทศและภาคใต้อย่าง “นิพนธ์ บุญญามณี” ผู้อำนวยการเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรค และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ต่างก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบย้ำแล้วย้ำอีกว่า ครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์ทำได้” ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ประชาธิปัตย์ได้เพียง 22 ที่นั่ง แพ้กราวรูดใน 2 จังหวัดใหญ่อย่าง “สงขลา” และ “นครศรีธรรมราช”
ทั้งนี้ ในภาคใต้จังหวัดใหญ่ๆ ที่มี ส.ส.แบบเป็นกอบเป็นกำมีเพียง 3 จังหวัด นั่นคือ สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยมี ส.ส.รวมกัน 25 ที่นั่ง ดังนั้น ถ้า “ประชาธิปัตย์” ต้องการจะได้ ส.ส.ภาคใต้ 35 ที่นั่งขึ้นไปก็ต้องชนะใน 3 จังหวัดดังกล่าว หรือถ้าจะเสีย ก็ต้องเสียให้น้อยที่สุด
มาติดตามดูสนามเลือกตั้งใน จ.สงขลา เขต 1 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 “ประชาธิปัตย์” ที่เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างยาวนาน เสียที่นั่งให้แก่ “วันชัย ปริญญาศิริ” จากพรรคพลังประชารัฐ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “วันชัย ปริญญาศิริ” ได้ลาออกมาลงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา โดยที่ “พลังประชารัฐ” ยังไม่ได้เคาะว่าจะส่งใครลงสมัครในพื้นที่ สงขลา เขต 1 แทน
ดังนั้น สงขลา เขตเลือกตั้งที่ 1 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “สรรเพชญ บุญญามณี” จากค่ายประชาธิปัตย์ ที่ถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่ง กับ “เจือ ราชสีห์” อดีต ส.ส.เขต 1 ของประชาธิปัตย์ ที่ครั้งนี้สวมเสื้อ “รวมไทยสร้างชาติ”
อีกคนคือ “ประสงค์ บริรักษ์” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ที่ลงสนามใหญ่เป็นครั้งแรกในสีเสื้อของ “ภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ผู้สมัครในภาคใต้ใช้ภาพถ่ายของ “เจ๊เปี๊ยะ” นาที รัชกิจประการ และ “เสี่ยเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการทำโปสเตอร์หาเสียง ส่วนหัวหน้าพรรคอย่าง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ไม่มีภาพถ่ายในโปสเตอร์หาเสียง ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกๆ ของพรรคการเมืองพรรคนี้
พื้นที่สงขลา เขต 1 จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 3 พรรค 3 ผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นๆ เชื่อว่ายังยากที่จะฝ่าคลื่นลมเข้าสู่เส้นชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ และเมื่อฟังเสียงประชาชนในสงขลาเขต 1 คะแนนเสียงที่สนับสนุน “สรรเพชญ” ยังมาเป็นอันดับ 1
เขตเลือกตั้งที่ 2 คือพื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ในอดีตเขตเลือกตั้งที่ 2 ตระกูล “ลาภาโรจน์กิจ” ครองตำแหน่ง ส.ส.เขต 2 อย่างต่อเนื่อง จนมาเสียที่นั่งให้แก่ “ศาสตรา ศรีปาน” เด็กหนุ่มโนเนมทางการเมืองแห่งพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ศาสตรา ศรีปาน” ได้เปลี่ยนสีเสื้อจากค่ายลุงป้อม มาสวมเสื้อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ของ “ลุงตู่” โดยมีผู้ท้าชิงอย่าง “นิพัฒน์ อุดมอักษร” เลขานุการนายก อบจ.สงขลา และนายกสมาคมเอสเอ็มอี จ.สงขลา จากพรรคประชาธิปัตย์ และมีรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ “เจษฎาพงษ์ ชูแก้ว” จากพรรคภูมิใจไทย “วชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์” จากพรรคก้าวไกล และ “จุรี นุ่มแก้ว” ดาวติ๊กต็อก จากพรรคชาติพัฒนากล้า ที่น่าจะสร้างสีสันในการเลือกตั้งครั้งนี้
ในเขตเลือกตั้งที่ 2 “ประชาธิปัตย์” และตัวผู้สมัครใช้เวลาในการหาเสียงมาก่อนคนอื่นๆ จึงน่าเป็นคู่ชิงกับ “ศาสตรา ศรีปาน” ที่เป็น ส.ส.ในขณะนี้ ซึ่งเป็นอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งที่ประชาธิปัตย์มีโอกาสสูงในการทวงที่นั่งคืนมา
เขตเลือกตั้งที่ 3 ส.ส.ในปัจจุบันคือ “พยม พรหมเพชร” ที่ครั้งนี้ “ครูยม” ทิ้ง “ลุงป้อม” มาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะมั่นใจในกระแสความนิยมของคนสงขลาในตัว “ลุงตู่” มากกว่า “ลุงป้อม” แต่ก็ต้องพบกับศึกหนักที่ตีกระหนาบทั้งซ้าย-ขวา อย่าง “สมยศ พลายด้วง” หรือ “เถ้าแก่ถึก” ผู้รับเหมารายใหญ่ของ จ.สงขลา ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และ “ไพร พัฒโน” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ และอดีต ส.ส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับเขตนี้ “เถ้าแก่ถึก” ลงพื้นที่เปิดตัว รวบรวมหัวคะแนนก่อนผู้สมัครคนอื่นๆ ส่วน “ไพร พัฒโน” เดินเข้าพบประชาชนแบบน้ำซึมบ่อทราย ในขณะที่ “ครูยม” ถ้าจะกลับเข้าสภาอีกครั้งต้องอาศัยคะแนนนิยมในตัว “ลุงตู่” อย่างเดียว แต่เกจิทางการเมืองเชื่อว่า เมื่อถึงโค้งสุดท้าย “สมยศ พลายด้วง” หรือ “เถ้าแก่ถึก” จะสับขาเข้าสู่เส้นชัยเป็นคนแรก
เขตเลือกตั้งที่ 4 ส.ส.ในปัจจุบันคือ “ร.ต.อ.อรุญ สวัสดี” แห่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โค่นแชมป์จาก “ประชาธิปัตย์” อย่าง “ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว” แบบเฉียดฉิว และวันนี้ ผู้กองรุน มีปัญหาสุขภาพ แม้จะเปลี่ยนมาสวมเสื้อพรรคของ “ลุงตู่” ก็ยังคงเหนื่อยกับเรื่องของสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย โอกาสของแชมป์เก่า ที่ต้องการทวงที่นั่งคืนอย่าง “ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว” จึงมีมากขึ้น
ในขณะที่ “ภูมิใจไทย” ก็หมายมั่นที่จะปักธงในเขตเลือกตั้งที่ 4 ให้ได้ โดยส่ง “ส.จ.เต้ง” ว่าที่ ร.ต.ไกรธนู แก้วทะนง ส.อบจ.หลายสมัยของ อ.ระโนด จ.สงขลา และทั้ง “เจ๊ะเปี๊ยะ” และ “เสี่ยเกี๊ยะ” ต่างก็ทุ่มเททรัพยากรและโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ “ส.จ.เต้ง” ตอกเสาเข็มในเขตเลือกตั้งที่ 4 ให้ได้
เขตนี้ดูลมล่าง-ลมบนแล้ว ถ้า “ชัยวุฒิ” ไม่ประมาทก็จะได้เป็น ส.ส. อีกครั้ง
เขต 5 เป็นเขตเลือกตั้งเดียวที่ประชาธิปัตย์ไร้คู่แข่งที่จะมาต่อกรเพราะเป็นเขตของ "นายกชาย" ส.ส.เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ คู่แข่งจากพรรคต่างๆ ที่ประกาศตัวลงสมัครในเขต 5 ยังไม่ใช่คู่แข่งของ "นายกชาย" จึงเป็นโอกาสให้ "นายกชาย" ทิ้งพื้นที่ไปช่วยลูกพรรคในการหาเสียง โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะมีใครตลบหลังเพื่อเจาะไข่แดง
เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งที่ 6 ที่มี ส.ส.คือ "น้องน้ำหอม" สุภาพร กำเนิดผล ศรีภริยาของ "นายกชาย" ที่ได้ตำแหน่ง ส.ส.จากการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2564 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ คู่แข่งยังเป็น "เสี่ยโบ๊ต" อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ คนเดิม และเป็นผู้สมัครที่อยู่พรรคเดิม คือ พลังประชารัฐ
ดังนั้น เมื่อดูตามรูปการแล้ว เขต 6 เป็นอีกหนึ่งเขตที่ “ประชาธิปัตย์” จะยังรักษาที่นั่งไว้ได้โดยไม่เหนื่อย แต่ก็อย่าประมาท “เสี่ยโบ๊ต” เพราะถ้าได้กุนซือดีก็มีโอกาสขึ้นชั้นเป็น ส.ส.หนุ่มได้
เขตเลือกตั้งที่ 7 เจ้าของตำแหน่งคือ ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคภูมิใจไทย “ณัฐฎ์ชนน ศรีก่อเกื้อ” ซึ่งเป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของภูมิใจไทยใน จ.สงขลา ที่ครั้งนี้ยังพบกับคู่แข่งคนเดิมคือ “ศิริโชค โสภา” อดีต ส.ส.หลายสมัยแห่งค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่ครั้งนี้ขยันลงพื้นที่แต่หัววัน เพราะหวังที่จะทวงตำแหน่งแชมป์กลับคืนมา
ในเขตนี้ “จุดอ่อนของภูมิใจไทย” ที่ “ณัฐฎ์ชนน” เองก็รู้ดีคือ นโยบายกัญชาเสรี ที่ได้รับการปฏิเสธจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ ส่วนจุดอ่อนของ “ศิริโชค” คือเหนียวหนึบ ดังนั้น ถ้าแก้จุดอ่อนได้ ก็จะแย่งกันเข้าป้ายเป็น ส.ส.ได้อีกครั้ง
ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ เป็นการส่งลงสมัครเพื่อหวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากกว่าที่จะได้ ส.ส.เขต ซึ่งเมื่อดูจากความขยันของ “ศิริโชติ” และกลยุทธ์ของ “นิพนธ์ บุญญามณี” เชื่อว่า “ศิริโชค จะกลับมาเป็น ส.ส.เขต 7 อีกครั้ง”
ส่วนเขต 8 ส.ส.ปัจจุบันคือ “พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่” ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีจุดแข็ง ถึงแม้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงจะมีผู้สมัครจากหลายพรรคการเมืองเสนอตัวให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งนี้มีโอกาสเปลี่ยน แต่เมื่อดูฐานดูประวัติของผู้สมัครแต่ละพรรคที่เป็นคู่แข่งของ “สุรินทร์” แล้ว ยังเชื่อว่า “สุรินทร์” ยังรักษาตำแหน่ง ส.ส.ไว้ได้ แต่ครั้งนี้ต้องออกแรงมากขึ้น
สุดท้ายที่เขต 9 ซึ่งเป็นเขตที่เพิ่มขึ้นของ จ.สงขลาในการเลือกตั้งครั้งนี้ เขตนี้ “ประชาธิปัตย์” ส่ง “สิงห์โต” ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ทายาทของ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง เพื่อหวังปักธงแบบกันความผิดพลาด ซึ่งเขตนี้มีคู่แข่งที่พอจะต่อกรได้เพียงคนเดียวคือ “ล่องหิ้น ทิพย์แก้ว” ส.อบจ.สงขลา เขต อ.บางกล่ำ จ.สงขลา อดีตประธานสภา อบจ.สงขลา นักการเมืองท้องถิ่นที่มีญาติเยอะ
ดูแล้วเขต 9 นับเป็นสนามประลองกำลังระหว่าง “สิงห์หนุ่ม” กับ “เสือเฒ่า” เขตนี้วงการพนันต่อให้ “สิงห์หนุ่ม” เป็นฝ่ายได้เปรียบแบบไม่มีใครกล้ารอง
เลือกตั้งรอบนี้ “กูรูทางการเมือง” มองสนามเลือกตั้งของ จ.สงขลา ว่า “ประชาธิปัตย์” น่าจะได้ที่นั่งที่เสียไปเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 กลับคืนมาทั้งหมด แม้จะมีเขตเลือกตั้งที่ยังอ่อนไหวสำหรับ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งต้องทำงานหนักขึ้นและมียุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง นั่นคือในเขต 7 เขต 2 และเขต 3 ที่เป็นเขตแย่งชิงของ “ภูมิใจไทย” และ “รวมไทยสร้างชาติ”
แต่ถ้าฟังจากปากของ “นิพนธ์ บุญญามณี” และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” สองขุนพลที่รับผิดชอบการเลือกตั้งของภาคใต้ในครั้งนี้แล้ว ยังคง “อุบไต๋” ของกลยุทธ์เพื่อทำให้ได้ ส.ส.แบบยกจังหวัดสงขลาให้สำเร็จ เพราะสงขลาเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ “ประชาธิปัตย์” ที่เป็นบ้านเกิดทั้งของ “นิพนธ์” และ”เดชอิศม์” ที่จะต้องกอบกู้ศักดิ์ศรีไว้ให้ได้นั่นเอง
เอาเข้าจริงๆ “รวมไทยสร้างชาติ” มีเพียงคะแนนนิยมในตัว “ลูงตู่” เพียงคนเดียว และจุดอ่อนคือการแย่งชิงคะแนนกันเองระหว่าง “ลูงตู่” กับ “ลุงป้อม” ที่ทำให้คะแนนที่ควรจะได้เป็นกอบเป็นกำถูกแบ่งออกไป และยังมี “ภูมิใจไทย” และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มาแชร์คะแนนเสียงในทุกเขตเลือกตั้ง
ในขณะที่ “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองที่มีฐานคะแนนของพรรค มีสมาชิกพรรคที่เป็นจุดได้เปรียบ การที่จะได้ ส.ส.ยกจังหวัดจึงอยู่ที่ยุทธศาสตร์ในสนามเลือกตั้ง ถ้า “เทกระเป๋าสู้” โอกาสที่ “ประชาธิปัตย์” จะยกจังหวัดย่อมเป็นไปได้
แต่ที่สำคัญ “ประชาธิปัตย์” จะยกจังหวัดแค่ใน “สงขลา” เพียงจังหวัดเดียวไม่ได้ “ประชาธิปัตย์” ต้องยกจังหวัดที่ “นครศรีธรรมราช” และ “สุราษฎร์ธานี” ให้ได้ด้วย เพื่อที่ “ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส. 35 ที่นั่งขึ้นไปในภาคใต้ เพื่อให้ได้ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบที่ 80 เสียง ตามที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งต้องการ