ปัตตานี - ประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีเรียกร้องให้รัฐแก้ไขน้ำเค็มจากอ่าวไทยไม่สามารถไหลเข้าอ่าวปัตตานีทำให้เกิดภาวะน้ำจืดแทนที่ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ไม่มีสัตว์น้ำทะเลกุ้งปูปลาให้จับ 4 เดือนมาแล้ว
วันนี้ (30 ม.ค.) สภาพน้ำทะเลในอ่าวปัตตานีเกิดปัญหาวิกฤตครั้งใหญ่จากภาวะน้ำจืดมาแทนที่น้ำเค็มในอ่าวเกือบทั้งหมด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกระแสลมของระบบนิเวศชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณปากทางเข้าออกของน้ำเค็มจากอ่าวไทยเข้าสู่อ่าวปัตตานี และการไหลเวียนของน้ำจืดจากอ่าวปัตตานีไหลสู่อ่าวไทย จากภาวะคลื่นซัดชายฝั่งนำเม็ดทรายกองรวมเป็นสันทรายทอดยาวหลายกิโลเมตรจนกลายเป็นแหลมทราย หรือที่เรียกกันติดปากว่าแหลมตาชี ทำให้ปิดทางเข้าออกของน้ำเค็มจากอ่าวไทย และน้ำจืดจากอ่าวปัตตานี ไม่สามารถไหลหมุนเวียนเหมือนในอดีต
จากภาวะดังกล่าวทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีทยอยสูญหายจากอ่าวหลายชนิด ล่าสุด มีการสำรวจพบว่าสาหร่ายผมนางที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจประจำถิ่นเริ่มหายไปแล้ว รวมทั้งสาหร่ายผักกาดเริ่มไปเช่นกัน นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับอนาคตของอ่าวปัตตานี ถ้าเกิดปล่อยให้เป็นเช่นนี้
นายมะแอ สาและ แกนนำประมงอนุรักษ์พื้นบ้านบ้านบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า 4 เดือนมาแล้วที่เราชาวประมงอวนลอยกุ้งขาวในอ่าวปัตตานี เนื่องจากไม่มีสัตว์น้ำให้จับ โดยเฉพาะกุ้งขาวที่เป็นกุ้งตามฤดูกาลที่ชาวประมงจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในรอบปี แต่ปีนี้กลับไม่มีกุ้งให้จับ รวมทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ เพราะเกิดจากภาวะน้ำจืดยาวมารวม 4 เดือนมาแล้ว ทำให้ชาวประมงเกิดภาวะขัดสนอย่างรุนแรง เพราะไม่มีรายได้เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว เพราะพวกเราที่นี่ยึดอาชีพทำประมงอวนลอยมาแต่เด็ก หนุ่ม จนแก่เฒ่าเป็นอาชีพ เมื่อพวกเราไม่สามารถทำประมงพวกเราจะเอารายได้มาจากไหนเลี้ยงชีพ
“อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาให้น้ำเค็มจากอ่าวไหลเข้าอ่าวปัตตานีแรงเหมือนเดิม พวกเราจะได้มีอาชีพประมงลอยอวนกุ้งอย่างยั่งยืนถึงลูกหลานต่อไป” นายมะแอ กล่าว
นายมะแอ สาและ และนายอูมาร์ ตะโล๊ะสมิแล ได้ชี้ให้เห็นสภาพบริเวณคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยที่มีความรุนแรงประจำทุกปี ซึ่งจุดดังกล่าวมีระยะห่างกันระหว่างชายฝั่งอ่าวไทยกับอ่าวปัตตานีเพียง 20 เมตร เมื่อยืนบริเวณจุดดังกล่าวจะมองเห็นทั้ง 2 อ่าวได้อย่างชัดเจน ถ้าหากมีการเปิดให้น้ำเค็มอ่าวไทยเข้ามาสู่อ่าวปัตตานีเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำจืดในอ่าวปัตตานีนั้นก็ทำได้ แต่สุ่มเสี่ยงกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะหมู่บ้าน แม้จุดนี้แต่ก่อนเคยเป็นปากแม่น้ำเข้าออกตามข้อมูลคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง ก่อนที่จะกลายเป็นดินงอกจากการพัดเม็ดทรายของคลื่นทะเลจากกระแสลมช่วงมรสุมเข้าพัดชายฝั่งเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นที่ตั้งของชุมชนตำบลแหลมโพธิ์จนปัจจุบัน
ด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ภายหลังรับทราบปัญหาน้ำจืดในอ่าวปัตตานีแล้ว เบื้องต้น ได้สั่งการให้หน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะทรัพยากร ประมงจังหวัดปัตตานีเข้าไปดูเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขต่อไป