“ข้าว” เป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย การปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่ และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมและเผยแพร่เพื่อพัฒนาชาวนา เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ทั้งการตลาด และการส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวจึงมีความจำเป็น
ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านบ่อหิน ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กองวิจัยพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุ์ข้าว จากธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ จำนวน 9 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์เบาแดง ข้าวพันธุ์ถุงเงิน ข้าวพันธุ์ตูลกลาง ข้าวพันธุ์อัลฮำดูสันล๊ะ ข้าวพันธุ์อาลลีบาบา ข้าวพันธุ์หนุนห้อง ข้าวพันธุ์ดอกมุด ข้าวพันธุ์เข็มเงิน และข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว เพื่อต้องการคืนเชื้อพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองที่สูญหายไปแล้วใน จ.สตูล คืนกลับให้เกษตรกรนำมาปลูกขยายเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต
ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมาประเมินใน 9 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และมีความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จะนำกลับไปปรับปรุงพัฒนาเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ หรือบางพันธุ์มีการกระจายตัว จะนำกลับไปทำให้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ขยายเมล็ด เพื่อคืนกลับสู่เกษตรกรในปีต่อไป เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยให้เกษตรกรนาข้าวคัดเลือกพันธุ์ที่ชื่นชอบที่สุดเพื่อนำกลับมาปลูกในพื้นที่อีกครั้ง เป็นการอนุรักษ์ และส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง
นายเอกราช แก้วนางโอ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวว่า สำหรับข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่มีลักษณะเด่นกินอร่อย อิ่มนาน มีคุณสมบัติด้านโภชนาการสูง แต่มีข้อด้อยอยู่ 2-3 ข้อ คือมีอายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างนาน 5-6 เดือน ในบางปีที่ฝนทิ้งช่วง มีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยว สิ้นเปลืองปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอื่นค่อนข้างมาก ผลผลิตต่ำอยู่ที่ประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเทียบกับข้าวพันธุ์ปรับปรุง ถือว่ามีความแตกต่างกันมากพอสมควร และปลูกได้แค่ปีละครั้ง คือในช่วงฤดูฝน หรือฤดูนาปีนั่นเอง
การหายไปของพันธุ์ข้าวในพื้นที่เกิดจากปัจจัย :
กาลเวลาผ่านไป การปลูกน้อยลง การเก็บเมล็ดพันธุ์ก็น้อยลง เลยทำให้บางพันธุ์เมล็ดพันธุ์ได้สูญหายไป และถูกลืมเลือน แต่จะมีธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติที่จะได้นักวิชาการรุ่นก่อนๆ ถึงรุ่นปัจจุบัน เก็บพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์เวลาต้องการเชื้อพันธุกรรม มาคืนพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่อไป
สถานการณ์ข้าวในพื้นที่ อ.ละงู :
นางปวีณา นิลมาตย์ เกษตรอำเภอละงู ระบุว่า สำหรับสถานการณ์ข้าวในพื้นที่ อ.ละงู ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ทำนา ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมี 2 กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมแรกคือการสนับสนุนค่าบริหารจัดการไร่นา กิจกรรมที่ 2 คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ทำนา สำหรับปีนี้เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับเกษตรอำเภอละงู 5,000 กว่าไร่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วพื้นที่จะลดลง 20% เกษตรกรส่วนมากจะปลูกในพันธุ์ส่งเสริม และพันธุ์พื้นเมือง ผลผลิตที่ได้อยู่ที่ 430-450 กิโลกรัมต่อไร่
การส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ อ.ละงู :
สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าว จะพบว่าเป็นการปลูกเพื่อรับประทานภายในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อจำหน่าย เหลือทานจึงจะขาย พบว่าข้าวที่นี่จะปลอดสารพิษ 100% เนื่องจากพบว่าไม่ใช้สารเคมี โดยจะนิยมทำนาปีละ 1 ครั้ง กิจกรรมการส่งเสริมโดยเฉพาะครั้งนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว หรือศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อนำเกษตรกรที่ทำนา เรียนรู้กระบวนการตลอดถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
ปัจจุบันตรงนี้ได้จัดทำเป็นแปลงใหญ่ข้าวของ ต.เขาขาว อ.ละงู และพบว่าปัจจุบันมีเพียงผู้สูงวัยเท่านั้นที่ทำนา ทางเกษตรอำเภอละงู จะอนุรักษ์พื้นที่ที่ยังมีการปลูกอยู่ รวมทั้งกับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง นอกจากนี้ ทางเกษตรอำเภอยังมีการส่งเสริมในการแปรรูปข้าวเกรียบ น้ำนมข้าว โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ร่วมกันขับเคลื่อนในการนำข้าวมาแปรรูปเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างมูลค่า