xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงในกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังถูกหมกเม็ด! แล้วไฟใต้จะมอดดับได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังก้าวข้าม “ความรุนแรง” ไปไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะกับเครือข่ายแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ “บีอาร์เอ็น” หรือในชื่ออะไรก็ตาม

เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องหนีไม่พ้นปฏิบัติการ “ติดตาม ไล่ล่า ตรวจค้น จับกุม” และเมื่อไม่ยอมจำนนก็ต้องมีการปะทะกันด้วยอาวุธ และต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น หากไม่เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็เจ้าหน้าที่ ซึ่งหลายครั้ง “ชาวบ้าน” อาจเป็นผู้รับเคราะห์พ่วงไปด้วย

ล่าสุดคือการปิดล้อมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นที่ภูเขาหลังหมู่บ้าน ต.ดาฮง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มีการปะทะและจบลงด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษวิสามัญฯ กลุ่มฝ่ายตรงข้ามได้ 3 ศพ ส่วนที่เหลือหลบหนีไปได้

ดังนั้น นโยบายไม่ใช้ความรุนแรงของ พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ประกาศไว้ขณะที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2565 จึงไม่เป็นจริงได้ ตราบใดที่กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นพร้อมที่จะสู้ตายหากมีการปิดล้อมจับกุม

อย่าว่าแต่การปิดล้อมบนภูเขาที่ผู้ก่อเหตุใช้ตั้งค่ายพักเลย แม้แต่ตามบ้านเรือนในชุมชนที่เข้าไปหลบซ่อนเป็นครั้งคราว การปะทะนำไปสู่การ “จับตาย” แทบทุกครั้ง ยกเว้นแต่เป็นแนวร่วมระดับ “เปอร์มูดี” ที่ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ “จับเป็น” ได้โดยไม่มีการสูญเสีย

เมื่อเวลานี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่มีนโยบายอะไรใหม่จากที่ทำมาแล้วตั้งแต่สมัย “แม่ทัพเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ คือการบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก แล้วเชิญผู้นำศาสนากับผู้นำท้องที่มาช่วยเกลี้ยกล่อมให้มอบตัว ซึ่งเคยมี “ผู้นำท้องที่” ถูกคมกระสุนจากกลุ่มถูกปิดล้อมเสียชีวิตมาแล้วด้วย

ถึงวันนี้ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องที่เริ่มปฏิเสธวิธีการจากหนักไปหาเบาแล้ว เพราะเห็นว่าไม่ต่างจาก “พิธีกรรม” เพื่อให้เจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วยังปล่อยให้นำศพไปแห่กันได้เยี่ยง “วีรบุรุษ” นี่คืออีกสาเหตุหลักที่เป็นผลพวงทำให้ “ไฟใต้” ไม่มีทางสงบ

การปล่อยให้พิธีกรรมดำเนินไปเช่นนั้น คนในพื้นที่ต่างรับรู้แล้วว่ามีแต่จะ “เข้าทาง” องค์กรต่างประเทศที่จับจ้องอยู่ โดยเฉพาะ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ได้นำไปใช้เป็นหลักฐานทำรีพอร์ตว่า เป็นการ “ขัดกันด้วยอาวุธ” และมีการ “เข่นฆ่าโดยไม่เป็นธรรม”

มีการตั้งข้อสังเกตสำคัญคือ ระยะหลังที่มีวิสามัญฯ ในป่าเขาสิ่งที่จะต้องตามมาเสมอคือ การรวมกลุ่มของคนที่ส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิง” เข้ากดดันให้เจ้าหน้าที่นำศพออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยอ้างเงื่อนเวลาต้องเร่งทำพิธีทางศาสนา จนหลายต่อหลายครั้งหวุดหวิดกระทบกระทั่งกันขั้นรุนแรง

ที่สำคัญในการรวมตัวของมวลชนเข้ากดดันเจ้าหน้าที่รัฐมักจะมีปฏิบัติการ “ไอโอ” โดยเฉพาะการไลฟ์สดบอกเล่าเรื่องราว รวมทั้ง กล่าวหาฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวกลับได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากมวลชน

ตอนทำพิธีศพมักจะยกย่องผู้ถูกวิสามัญฯ ว่าเป็น “ซาอีด” หรือนักรบผู้พลีชีพเพื่อปกป้องมาตุภูมิ โดยมีชายฉกรรจ์ทั้งในและนอกหมู่บ้านเข้าร่วมจำนวนมาก มีการเข้าแถว “จูบ” และทำ “วันทยาหัตถ์” ศพ แถมตอนแห่ไปยังกุโบร์ก็จะตะโกนคำสรรเสริญด้วยศัพท์แสงใหม่ๆ เช่นคำว่า “เมอร์เดกา ปาตานี” เป็นต้น

หากจับสังเกตกลุ่มคนที่เข้าร่วมพิธีศพจะพบว่า มักแสดงออกถึงความโกรธแค้นเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการไม่ยอมรับว่าผู้ตายกระทำผิด ซึ่งดูเหมือนกับว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนไทย และไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย

ที่ต้องเขียนถึงเรื่องนี้ซ้ำๆ เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่เคยคิดที่จะแก้ไข ทั้งที่รู้ว่าการทำพิธีศพผู้ถูกวิสามัญฯ แบบยกย่องให้เป็นการชาอีด หรือนักรบผู้พลีชีพนั้นเป็นที่มาของการ “ตายหนึ่งเกิดร้อย” อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชายแดนใต้ก้าวข้ามปัญหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปไม่ได้

ดังนั้น จึงขอเห็นต่างจาก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข และ พล.อ.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เชื่อว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น เพราะเวลานี้มีเหตุร้ายในแต่ละปีเพียงกว่า 100 กรณีเท่านั้น

คอลัมน์นี้เคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่า เหตุร้ายที่ลดลงไม่ได้บ่งชี้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพราะยังมีปรากฏการณ์อุบัติใหม่ทางมวลชนเกิดขึ้นมากมาย นอกจากพิธีศพที่กล่าวไปแล้วยังมี เช่น การแสดงอัตลักษณ์เข้มข้น ซึ่งบ่งชี้ว่าบีอาร์เอ็นมีความก้าวหน้าในการเปิดแนวรบด้านมวลชนอย่างน่ากังวล

วันก่อนในวงประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) พล.อ.วัลลภ ได้แจ้งความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขว่าเป็นที่น่าพอใจ ฝ่ายบีอาร์เอ็นทำ “โรดแมป” และพร้อมหารือในเงื่อนไขที่ไทยเป็น “รัฐเดี่ยว” ที่แบ่งแยกไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ยังมีสารัตถะสำคัญในการพูดคุย 3 เรื่องคือ 1.เรื่องการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่และการแสวงหาทางออกทางการเมือง 2.เรื่อง “อัตลักษณ์” และการออกแบบ “ชุมชนปัตตานี” ตามแนวคิดที่บีอาร์เอ็นเสนอ และ 3.เรื่อง “ทางการเมือง” ที่บีอาร์เอ็นต้องการการมีส่วนร่วม

พล.อ.วัลลภ แทนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ด้วย “4 วงกลม” พูดถึงเวทีคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทย เวทีของ สล.3 และภาคประชาสังคม แต่กลับไม่ได้พูดถึงเรื่อง “เจนีวาคอลล์” และ “ไอซีอาร์ซี” ที่ได้เข้ามามีส่วนได้เสียกับมาตรการดับไฟใต้ตามที่บรรดา “นายพล” ที่ปรึกษาของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไฟเขียวให้เข้ามาทำหน้าที่ “หุ้นส่วน” ในการสร้างสันติภาพ

ประเด็นหลังนี้เชื่อว่า สล.3 เองอาจมีผู้เข้าใจและรู้เรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของ 2 องค์กรต่างประเทศนี้ไม่กี่คน ดังนั้นเมื่อไม่รู้หรือ “ถูกปิดบัง” จึงเป็นการรู้สถานการณ์ไฟใต้แบบไม่เป็นจริงหรือไม่ครอบคลุม โอกาสที่จะ “แก้โจทย์” ได้ถูกต้องจึงไม่มีทางเป็นไปได้

เรื่องที่ พล.อ.วัลลภ นำมาบอกกล่าวจึงเป็นคนละเรื่องกับถ้อยแถลงของฝ่ายบีอาร์เอ็น ไม่ว่าจะผ่านปากระดับ “แกนนำ” หรือ “โฆษก” โดยเฉพาะกับเรื่องราวที่กล่าวหารัฐบาลไทยว่า “มือหนึ่งถือน้ำผึ้ง อีกมือถือยาพิษ” รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อ “เอกราช” หรืออย่างน้อยคือ “เขตปกครองตนเอง” หรือ “เขตปกครองพิเศษ”

ที่สำคัญ พล.อ.วัลลภ ไม่ยืนยันต่อที่ประชุมว่า สุดท้ายของกระบวนการพูดคุยจะจบลงที่การให้พื้นที่ชายแดนใต้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง” อย่างที่ฝ่ายบีอาร์เอ็น มาเลเซีย รวมทั้งเจนีวาคอลล์ต้องการหรือไม่

แน่นอนทุกภาคส่วนต่างต้องการเห็น “ไฟใต้มอดดับ” ไม่ว่าจากการแก้ปัญหาในพื้นที่ หรือการพูดคุยนอกพื้นที่กับบีอาร์เอ็น โดยให้ภาคประชาชนอย่าง สล.3 มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

แต่ถ้าความจริงยังถูกหมดเม็ด หรือมีการพูดความจริงไม่ครบถ้วนอย่างที่เป็นอยู่ในเวที สล 3 นั่นจึงเป็นได้เพียงอีกหนึ่ง “พิธีกรรม” ของมาตรการดับไฟใต้ที่ไร้ผล แถมยังเป็นการใช้ “งบประมาณ” ที่สูญเปล่าเหมือนกับหลายๆ โครงการทั่วประเทศของ “กอ.รมน.” อย่างที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น