นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ กล่าวว่า กลุ่มอาการ “ปวดหลัง” เป็นปัญหาทางสุขภาพที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน จากสถิติมนุษย์ร้อยละ 80 เคยมีอาการปวดหลัง ปวดเอว หรืออาจปวดร้าวลงขา ภาวะเหล่านี้สามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยทำงาน หรือวัยสูงอายุ ซึ่งสาเหตุของการปวดหลังจะแตกต่างกันไปแต่ละวัย และบางสาเหตุอาจก่อให้เกิดการทำลายเส้นประสาทสันหลัง อันอาจนำไปสู่ความพิการ หรือทุพพลภาพในอนาคตได้
สาเหตุของอาการปวดหลัง
1.กล้ามเนื้อบริเวณหลังอักเสบจากการใช้กิริยาท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2.หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และกดทับเส้นประสาท
3.ความเสื่อมของกระดูกสันหลังและข้อต่อ จากอายุที่มากขึ้น
4.ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด หรือกระดูกสันหลังแอ่น
5.ภาวะโรคกระดูกพรุนอย่างรุนแรงอันเป็นสาเหตุให้เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง
6.ภาวะติดเชื้อ หรือภาวะอักเสบที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง
7.เนื้องอกของเส้นประสาทไขสันหลัง หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8.อาการปวดร้าวจากโรคของอวัยวะภายใน เช่น โรคนิ่วในท่อไต โรคของระบบมดลูก และรังไข่
9.ภาวะเคร่งเครียดทางอารมณ์ และจิตใจ
ลักษณะอาการปวดหลังที่สำคัญ และควรไปพบแพทย์
1.มีภาวะไม่สามารถกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไว้ได้
2.มีอาการอ่อนแรงของขาร่วมด้วย หรือเดินไม่ถนัด มีรองเท้าหลุดเองบ่อยๆ
3.ปวดหลังตลอดเวลา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
4.ปวดหลัง และมีไข้หนาวสั่นอย่างรุนแรง
การส่งตรวจวินิจฉัยทางรังสี (เอกซเรย์) ผู้ป่วยโรคปวดหลังไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ทุกราย แพทย์จะพิจารณาเลือกเป็นรายๆ ในกลุ่มผู้ป่วยต่อไปนี้
- มีอาการปวดหลังต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือน หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
- มีอาการกลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระไม่ได้
- มีอาการขาอ่อนแรง หรือชาขาอย่างรุนแรงตลอดเวลา
- มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีไข้ร่วมด้วย
- เป็นโรคปวดหลังในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติผิดปกติต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ ประวัติเคยเป็นมะเร็ง ประวัติเคยใช้ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ หรือยาลูกกลอนเป็นเวลานาน
นอกเหนือจากนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีเอกซเรย์พิเศษ ได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจวินิจฉัยพิเศษเหล่านี้ตามแต่จากประวัติ และการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
การรักษาอาการปวดหลัง
1.นอนพักโดยนอนราบกับพื้น และใช้หมอนรองใต้เข่า และหลีกเลี่ยงกิจกรรมงานต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง
2.ใน 2-3 วันแรกให้ใช้การประคบเย็น โดยใช้ถุงน้ำแข็งประคบตรงบริเวณที่ปวดอย่างน้อย 5-10 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง ใน 2-3 วันถัดมาสามารถประคบร้อน โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเป็นเวลา 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง
3.ยาแก้ปวด ยาอักเสบกล้ามเนื้อ ยาคลายเส้น โดยควรรับประทานตามแพทย์สั่ง หลักจากได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์แล้วเท่านั้น
4.การบริหารร่างกาย และกายภาพบำบัด
5.การฉีดยาลดอาการอักเสบเข้าในโพรงกระดูกสันหลัง (Epidural steroid injection)
6.การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยการส่องกล้อง (Endoscopic-Microscopic Disectomy)
7.การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง และเชื่อมกับกระดูกสันหลังโดยเหล็กสกรูพิเศษ (Lumbar Interbody Fusion)
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคนิคการผ่าตัดมีมากมาย การจะเลือกวิธีการรักษาชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเป็นสำคัญ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์กระดูกและข้อ เพื่อการดูแลอย่างถูกต้อง และให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด