นครศรีธรรมราช - เปิดผลงานวิจัยนวัตกรรม “พัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา” สุดล้ำจ่อต่อยอดพัฒนาเครื่องมือแพทย์รักษาโรคตาเขในมนุษย์
ที่ห้องประชุมช่อประดู่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เข้าติดตามนวัตกรรมต้นแบบในโครงการพัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา โดยใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก และเชื่อมต่อกับระบบในโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โดยนักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะบริหารเข้าร่วมติดตาม
สำหรับโครงการนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนาในระบบการประมวลผลเพื่อตรวจจับแกนไม้โดยอัตโนมัติ ให้มีความถูกต้องแม่นยำ จนสามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบอัตโนมัติส่วนอื่นๆ ของการตัดผ่าท่อนซุง เป็นแผ่นไม้แปรรูปที่มีจำนวนแผ่นต่อ 1 ท่อนซุงให้มากที่สุด ขนาดแผ่นไม้ดีและสวยที่สุด โดยมีส่วนที่เสียน้อยที่สุด อันเนื่องมาจากแกนไม้ส่งผลต่อการอบไม้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อควบคุมอัตราการเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ให้ต่ำที่สุด ใช้เชื้อเพลิงน้อยสุด เป็นการเพิ่มมูลค่าของการแปรรูป การวิจัยพัฒนานี้อยู่ในระหว่างการปรับสเกลจากต้นแบบให้เป็นเครื่องจักรที่สามารถใช้ได้จริง และยังสามารถพัฒนานวัตกรรมนี้เป็นระบบตรวจจับโรคทางดวงตา เช่น โรคตาเข การตรวจจับรักษาโรคทางรูม่านตาได้อีกด้วย
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มีการตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมให้ปี 2570 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2580 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย การพัฒนานี้ดำเนินการโดยภาคราชการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีภาคการศึกษา และทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีกองทุนที่คอยสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศให้ก้าวหน้า
ขณะที่ ผศ.กรกต สุวรรณรัตน์ นักวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า การวิจัยนวัตกรรมการตรวจจับแกนไม้ยางพารานี้ สืบเนื่องจากเดิมมีการใช้มนุษย์ที่เรียกว่า “นายม้า หางม้า” เป็นผู้คอยควบคุมสังเกตแกนไม้ในการเข้าสู่เครื่องจักรเพื่อตัดผ่า ปัจจุบันเริ่มมีการขาดแคลน จึงได้พัฒนานวัตกรรมตัวนี้ขึ้น เพื่อลดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ของไม้ที่ต้องตัดผ่าแล้วติดแกนไม้ หรือไส้ไม้ไปด้วย เมื่อเข้าสู่การอบจะแตก ระบบนี้จะสามารถลดความสูญเสียได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานกับนักวิชาการวิศวกรรมเครื่องกล ในการพัฒนาระบบในโรงงาน และที่สำคัญนั้นได้ใช้แนวคิดนี้ พัฒนาวิจัยระบบเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในทางจักษุวิทยา ในการตรวจจับโรคที่เกี่ยวกับดวงตาด้วย