ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน หลังท่องเที่ยวกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำโรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จัดนัดพบแรงานมีคนมาสมัครเพียง 387 ตำแหน่ง ยังขาดอีกเกือบ 3 พันตำแหน่ง
นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางรษิกา ชาญณรงค์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลเดือนธันวาคม 2565 มีผู้เดินทางมาภูเก็ตมากกว่า 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 726.52% เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 2. 9 ล้านคน
และคาดว่าในเดือนมกราคม และเดือนต่อไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้จากการที่จีนอนุญาตให้คนในประเทศเดินทางออกได้ โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่พักในโรงแรม/รีสอร์ต ร้อยละ 93.33 สร้างรายได้หมุนเวียนให้จังหวัดมากถึง 148,236 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 1,276.35 เป็นรายได้ที่มาจากชาวต่างชาติ 133,409.63 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งประเทศพบว่า เป็นที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร
จากปัจจัยของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการต่างๆ โดยข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สถานประกอบการแจ้งความต้องการไว้ ตำแหน่งงานว่าง 3,378 ตำแหน่ง มีผู้มาสมัครงานเพียง 387 คน ซึ่งเหลือตำแหน่งงานว่างจำนวน 2,991 ตำแหน่ง
นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้จังหวัดภูเก็ต ได้กำหนดมาตรการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ทั้งระยะสั้น และระยะยาวครอบคลุมในหลายด้าน เช่น สำรวจตำแหน่งงานว่างที่ชัดเจน เพื่อจัดหาแรงงานมาให้ในจำนวนที่เพียงพอ บูรณาการการจัดการด้านแรงงานระหว่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน จ.ภูเก็ต ผ่านการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ เช่น การประชุมเสมากาแฟ ทุกวันพฤหัสบดี หรือการประชุมร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.ภูเก็ต โดยมีสถานประกอบการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวง พม. เข้าร่วมเพื่อวางแผนการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการเรียนการสอนให้กลุ่มคนครอบคลุมทุกกลุ่ม สำหรับให้มาทำงาน เป็นการดูแลสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตไม่ขาดแรงงานอีกต่อไปในอนาคต โดยทุกฝ่ายกำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง
พร้อมทั้งมีมาตรการการจัดหากำลังแรงงาน เช่น จัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน การร่วมมือกับอาชีวศึกษา นำนักเรียนมาทำงาน partime การพัฒนาอาชีพ (Up-skill, Re-skill) โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต และได้หารือร่วมกันจากสถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานอยู่ตลอดเวลา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการการพัฒนาอาชีพจากรูปแบบเดิมๆ มา Up-skill, Re-skill ที่ตรงตามความต้องการมากขึ้น และการประสานหาแรงงานมาจากจังหวัดอื่นๆ ปัญหานี้ได้รับการดูแลจากกระทรวงแรงงาน ที่ได้มีการสำรวจคนทั่วประเทศ จะหามาตรการนำกำลังคนมาทำงานใน จ.ภูเก็ต เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้ทำควบคู่กับการดูเรื่องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ คือ สำนักงานสวัสดิการ จ.ภูเก็ต เช่น การให้เงินเดือนสูงๆ มีค่าคอมมิชชันให้บุคลากรจำนวนมากๆ ของสถานประกอบการ ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงจูงใจ เชิญชวน ดึงดูดให้มีคนมาทำงานในภาคท่องเที่ยวมากขึ้น