โดย.. เมือง ไม้ขม
ถึงแม้ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” นักการเมืองรุ่น “ลายคราม” ของประเทศไทย และของพรรค “แม่ธรณีบีบมวยผม” จะไม่ออกมาร่ายกลอน เรื่อง “ลิงกินกล้วย” หรือพูดเรื่องการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะถึงในอีกไม่ช้าว่า ที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการเลือกตั้งในระบบธนาธิปไตย ที่จะมีการใช้เงินในการซื้อเสียงเป็นจำนวนมหาศาล ประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เห็นและรู้อย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาเพื่อการอยู่รอด และเพื่อการเอาชนะต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการใช้เงินเป็นยุทธปัจจัยจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อเสียงในสภาผู้แทน
ดังนั้น เมื่อยังกล้าที่จะซื้อเสียงในสภาผู้แทนอย่างโจ๋งครึ่ม แบบที่ถูกนิยามว่า “ใช้กล้วยแจกลิง” เป็นสวนๆ โดยมีกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อให้ “บิ๊กตู่” ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะมีการแจกกล้วยให้ประชาชน เพื่อให้เลือก ส.ส.ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นนั่งร้านให้บิ๊กตู่ ก้าวขึ้นไปสู่ “หอคอยงาช้าง” เป็นนายรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3
โดยข้อเท็จจริง และโดยที่ไม่ต้องเหนียมอาย ทั้งนักการเมือง และประชาชนที่เคยซื้อเสียง และเคยขายเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ว่าการเลือกตั้งมีการใช้เงินเพื่อการซื้อเสียง หารือแจกเงินทั้งในรูปแบบการสัมมนา การจัดเลี้ยง และจ่ายเป็นรายหัว เพื่อเป็นค่าเดินทางมาฟังการปราศรัย ที่ต้องยอมรับความจริงว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ละพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งล้วนต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง
เพียงแต่ครั้งนี้การใช้เงิน การใช้อำนาจจะเป็นการ “อำมหิต” กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการต่อสู้ของพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ทุกพรรคต้องการกวาดจำนวน ส.ส.ให้มากที่สุด เพื่อการสร้างสมการของการเป็นผู้ “จัดตั้งรัฐบาล” หรือการได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่อยากจะเป็นฝ่ายค้าน ด้วยเหตุผลคือ “อดอยากปากแห้ง” นั่นแหละ
ดังนั้น พรรคที่นายทุนหรือกลุ่มทุนให้การอุ้มชู จึงเป็นพรรคที่ได้เปรียบในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีการเห็นถึงปฏิบัติการแจกกล้วยในสภาฯ มาแล้ว และที่เป็นข่าวปรากฏเป็นระยะๆ ของการใช้เงินในการสร้างพลังดูด ส.ส.ที่มีชื่อชั้นมาเข้าสังกัดพรรคที่เรียกว่าเป็นการ “ตกปลาในบ่อเพื่อน” มีการใช้ยุทธปัจจัยถึง 30 กิโล 50 กิโล เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการเปลี่ยนพรรค
จึงไม่แปลกที่หลายพรรคการเมือง ทั้งที่เป็นพรรคที่มีอยู่แล้ว และพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งไข่ จึงจัดทัพมุ่งหน้ามายัง “ภาคใต้” ที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ “พรรคประชาธิปัตย์” โดยมองว่าภาคใต้เป็นจุดอ่อนของการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสนามของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่มั่นที่เข้มแข็งทั้งในเรื่องทุน และคนที่เป็น ส.ส.
มีบางพรรคที่เพิ่งตั้งไข่ และตกปลาในบ่อเพื่อน ถึงกับออกมาพูดว่า ภาคใต้พรรคเราได้ ส.ส.ตามที่ต้องการแน่ โดยประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทั้งกระแสและกระสุน และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรคที่แม้แต่คนในพรรคก็มองว่าไร้เสน่ห์ ทุกพรรคจึงหมายมั่นปั้นมือที่จะเข้ามาแชร์ตลาด ส.ส.ในภาคใต้ ซึ่งมีที่นั่งอยู่ 58 ที่นั่ง
ส่วนจะเป็นการประเมินที่ถูกต้อง หรือผิดพลาดอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งนี้ ล้วนเป็นผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยิ่งมายิ่งเด่นชัดว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เข้ามาเพื่อล้มประชาธิปัตย์ ใช้กลยุทธ์หรือยุทธวิธีแบบไหน เช่น บางพรรคที่เป็นพรรคที่เป็นคู่แข่งเดิมใช้วิธีสะสมกระสุน โดยไม่สนใจกระแส เพื่อการยิงสลุตอย่างเดียว ส่วนพรรคใหม่บางพรรค ก็ใช้บริการคนของประชาธิปัตย์ที่ถูกดูดออกไป ทำการแย่งชิง “กลุ่มหัวคะแนน” โดยนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มนี้เป็นไผ่กอเดียวกับประชาธิปัตย์ที่ทำตัวเป็นด้ามพร้า เพื่อฆ่ากอไผ่ที่เป็นที่มาของตนเอง และกลยุทธ์ที่ใช้ในสนามเลือกตั้งด้วยการตกปลาในบ่อเพื่อน และอาศัยกระแสของหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยกระสุนที่มีบางคนในพรรคออกมาโอ้อวดว่ามีจำนวนมหาศาล
เจ้าถิ่นอย่าง “ประชาธิปัตย์” จะแก้เกมอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ต้องปิดประตูแพ้ในภาคใต้ ด้วยการที่จะต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 35 ที่นั่ง หรือทั้งประเทศ ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องได้ 80 เป็นอย่างต่ำ ที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์มีการถอดบทเรียนของการพ่ายแพ้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่เป็นบทเรียนที่สำคัญ และทำการปิดจุดอ่อนทุกจุดที่เคยผิดพลาดมา
ครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่ “ตะเกียงที่ขาดน้ำมัน” และไม่ใช่พรรคการเมืองที่ขาดขุนพล เพราะได้ “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นขุนพลที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน ตั้งแต่การจัดทัพจนถึงการออกรบในสนามของการเลือกตั้ง ซึ่งนิพนธ์ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่สามารถอ่านทิศทาง และแก้เกมในการเลือกตั้ง มองไพ่ของคู่ต่อสู้ได้อย่างปรุโปร่ง
วิธีการหนึ่งของ “นิพนธ์” ที่ใช้มาตั้งแต่การเมืองเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง คือ การปลุกพลังให้ลุกขึ้นมาสู้ของสาขาพรรค และสมาชิกพรรคตามครรลองของประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความสุจริต และความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่มีนายทุนเข้ามาสั่งการให้ซ้ายหัน ขวาหัน แต่เป็นพรรคการเมืองของทุกคน
สำหรับ “จุรินทร์” แม้จะถูกมองว่าเป็นหัวหน้าพรรคที่ไร้เสน่ห์ แต่จุรินทร์เป็นนักการเมืองคุณภาพที่มีฝีมือในการบริหารบ้านเมือง เป็นผู้ที่วางนโยบายในการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่ผ่านมาไม่ว่าจุรินทร์ ไปเป็นเจ้ากระทรวงไหน ก็จะมีนโยบายของการพัฒนาที่ได้ผล และยั่งยืน ดังนั้น การไร้เสน่ห์กับการเป็นผู้ที่มีคุณภาพ ต้องแยกให้ออกว่าสุดท้ายในการเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ เราจะเลือกคนที่มีเสน่ห์แต่ไร้คุณภาพ หรือเราจะเอาคนที่มีคุณภาพเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ
จุดแข็งของ “ประชาธิปัตย์” ในสนามเลือกตั้งภาคใต้คือการมีกระแสพรรค ซึ่งสำนักที่ทำโพลทุกพรรคยืนยันได้ว่า “ภาคใต้” กระแสของประชาธิปัตย์สูงกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ในส่วนของกระสุน ถ้าฟังการปราศรัยของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคที่ปราศรัยหลายครั้ง ก็พอจะอนุโลมได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ไม่ใช่พรรคกระยาจกอย่างในอดีต แม้จะไม่อู้ฟู่อย่างคู่แข่ง ทั้งพรรคเดิม และพรรคที่เกิดใหม่ แต่ก็ไม่ถึงกับ “ยะย่ายพ่ายจะแจ” ในการต่อสู้ทางยุทธปัจจัยในครั้งนี้
ที่สำคัญ “เฉลิมชัย” ยังมีขุนพลที่เหมาะกับการต่อกรกับพรรคคู่แข่งที่หวังเข้ามาล้มประชาธิปัตย์ อย่าง “เดชอิศม์ ขาวทอง” (นายกชาย) ที่ครั้งนี้ต้องแสดงพลังของเครือข่ายทางการเมืองในภาคใต้ และเครือข่ายผู้สนับสนุน เพื่อนำประชาธิปัตย์ให้ได้ 35 ที่นั่งขึ้นไป เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการตัดสินอนาคตทางการเมืองครั้งสำคัญในชีวิตการเป็น “นักการเมือง” ของนายกชายด้วยนั่นเอง
ดังนั้น พรรคการเมืองที่คิดว่า “ป้อมค่าย” ของ “ประชาธิปัตย์” จะตีแตกได้ง่ายๆ เพราะขาดทั้งกระแส และกระสุน รวมทั้งหัวหน้าพรรคไร้เสน่ห์ อาจจะเป็นการคิดผิด และที่สำคัญเป็นการดูถูกคนภาคใต้ว่าใช้เงินซื้อได้ ซึ่งก็ไม่เถียงว่าเรื่องซื้อเสียงขายเสียงไม่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ที่สำคัญอย่างเอาความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นตัวชี้วัด เพราะครั้งนั้นอาจจะเป็นเรื่องการสั่งสอนของประชาชนต่อประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งปี 2566 เป็นอีกบริบทหนึ่งระหว่าง “คนภาคใต้” กับ “ประชาธิปัตย์” ที่จะไม่เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างแน่นอน