คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
ปี 2565 ถือเป็นปี “เสือดุ” ที่มีความรุนแรงและสร้างความสูญเสียมากกับแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกปีหนึ่ง แม้หน่วยงานความมั่นคงจำกัดพื้นที่ไว้ที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย แต่ในความเป็นจริงยังมีการก่อการร้ายนอกพื้นที่เหล่านี้ด้วย
โดยเฉพาะในหลายอำเภอของ จ.สงขลา ก็เคยถูกก่อเหตุใหญ่มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อ.เมืองสงขลา อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา หรือแม้แต่อำเภอกันชนของเมืองหาดใหญ่คือ อ.นาหม่อม อีกทั้งอำเภอที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างบางกล่ำ และควนเนียง ต่างก็เคยมีการก่อเหตุมาแล้ว
ปัจจุบันขบวนการ “บีอาร์เอ็น” คือหัวหอกหลักในการสร้างสถานการณ์ “ก่อไฟใต้” ขณะที่ในอดีตสังคมมักจะได้ยินแต่ชื่อของขบวนการ “พูโล” เป็นด้านหลัก
กรณี อ.นาหม่อม ในฐานะกันชนระหว่างพื้นที่ไฟใต้คือ อ.จะนะ กับเมืองเศรษฐกิจนอกพื้นที่ไฟใต้คือ อ.หาดใหญ่ ทำไมในอดีตจึงไม่มีการก่อเหตุร้าย รวมทั้งไม่เป็นแหล่งพักพิงหรือหลบซ่อนของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนวิเคราะห์ไว้อย่างจริงจัง
ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า อ.นาหม่อม ถือเป็นชุมชนไทยพุทธที่ไม่มี “ศาสนสถาน” และ “สถานศึกษา” ที่เป็นของมุสลิม สิ่งนี้จึงทำให้ขบวนการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงอาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ยังน่าที่จะต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์กันอย่างจริงจังอีกครั้ง
ที่บอกว่าปี 2565 เสือดุมากบนแผ่นดินไฟใต้ เนื่องจากเกิดเหตุร้ายตลอดทั้งปี รวมถึงสร้างความสูญเสียให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและบีอาร์เอ็น รวมถึงนักลงทุน นักธุรกิจ คนที่ทำมาค้าขายและประชาชนอย่างถ้วนหน้า
ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2565 บีอาร์เอ็นก่อเหตุวินาศกรรมใหญ่คือ คาร์บอมบ์แฟลตตำรวจที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ลอบวางระเบิดรถไฟบรรทุกสินค้า 2 ระลอกที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และบึ้มปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ส่วนก่อเหตุเล็กน้อย เช่น ยิงฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ ลอบวางระเบิดทั้งจริงและหลอกบ้าง เป็นต้น
ปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าวต้องถือเป็นเรื่องปกติของสถานการณ์สู้รบแบบ “กองโจร” ซึ่งเป็นงานถนัดของแนวร่วมที่ได้รับการฝึกฝนมาจากขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นอย่างดี
มีประเด็นน่าสนใจคือ ทำไม้ต้องเป็น “ปั๊มน้ำมัน” ตรงนี้คนทั้งในและนอกพื้นที่อยากได้คำตอบชัดๆ จากหน่วยงานความมั่นคง เพราะห้วงหลายเดือนมานี้ปั๊มน้ำมันหลายแห่งถูกก่อวินาศกรรม ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องนับว่ากระทบต่อการจ้างงานในพื้นที่อย่างใหญ่หลวง
จากการติดตามสถานการณ์มานานทำให้เชื่อว่า ปั๊มน้ำมันที่ถูกวินาศกรรมทุกแห่งไม่น่าจะมี “เบื้องหลัง” โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางธุรกิจ การเรียกค่าคุ้มครอง รวมถึงการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ขณะเดียวกัน บีอาร์เอ็นเองไม่เคยออกมายอมรับหรือปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย
ทว่ามีหลักฐานจากฝ่ายตำรวจชี้ชัดว่า ทุกคดีวินาศกรรมปั๊มน้ำมันที่มีผู้ถูกจับกุมได้ ปรากฏว่า ล้วนข้องเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวร่วมหรือระดับปฏิบัติการ และผู้ต้องหามักมีหมายจับติดตัวคนละหลายๆ คดี จึงฟันธงได้ว่าเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นอย่างแน่นอน
ในปั๊มน้ำมันยังมีร้านสะดวกซื้อตั้งอยู่ด้วย จึงเป็นสถานที่มีผู้คนพลุกพล่าน ถือเป็น “เป้าใหญ่” ที่ลงมือได้ง่ายๆ แถมทำลายเศรษฐกิจในภาพกว้างได้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละแห่งต้องลงทุนกันหลายล้านบาท แม้เป็นของทุนท้องถิ่น แต่ต่างก็มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศกำกับอยู่
จริงหรือไม่ที่บีอาร์เอ็นเลือกวินาศกรรมปั๊มน้ำมัน นั่นถือเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียว” แต่กลับ “ได้นกหลายตัว” เพราะปั๊มมีแบรนด์เป็นของ “ทุนใหญ่” ที่กดทับ “ทุนท้องถิ่น” เจ้าของปั๊มเล็กๆ มาตลอด เช่นเดียวกัน “ร้านสะดวกซื้อใหญ่” ก็ทำให้ “ร้านค้าชุมชน” ล่มสลายมานักต่อนัก นี่ยังไม่รวมคนเล็กคนน้อยอีกมากมาย
มีการประเมินว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นได้หลังวินาศกรรมปั๊มน้ำมันใหญ่คือ 1.ได้มวลชนเพิ่มทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่นและชาวบ้าน 2.สร้างผลสะเทือนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทบ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ที่เชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและเทศเข้าไปลงทุนในพื้นที่
3.ลดทอนความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานความมั่นคงลงได้ ไม่ว่าจากประชาชนคนไทยและชาวต่างประเทศ 4.ข่มขวัญคนพื้นที่ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของบีอาร์เอ็น จนไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และ 5.เป็นการฉายภาพให้เห็น “ความล้มเหลว” ของรัฐบาลไทย
สำหรับข้อ 5 สุดท้าย นำประเด็น “พลังงาน” มาขยายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การวินาศกรรมปั๊มน้ำมันเหมือนผสมโรงทำให้ “น้ำมันแพง” ขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงราคาน้ำมันกับมาเลเซียที่มีราคาถูกกว่ามาก เป็นการเพิ่มความคลางแคลงใจให้คนไทย โดยเฉพาะคนในชายแดนใต้ที่อยู่ติดกับมาเลเซีย
เชื่อไหมว่าการที่เวลานี้คนไทยเติมน้ำมันเบนซินลิตรกว่า 40 บาทขึ้นไป ด้านน้ำมันดีเซลก็ราว 35 บาทต่อลิตร แต่คนมาเลเซียข้างบ้านเราเติมน้ำมันทุกชนิดได้ในราคาเพียงประมาณ 16 บาทต่อลิตร ดังนั้น พอมีการก่อวินาศกรรมปั๊มน้ำมันในชายแดนใต้ครั้งใด คนจำนวนมากกลับรู้สึก “สะใจ” มากกว่า “เห็นใจ”
ที่เขียนมาอาจไม่ถูกต้องไปเสียทุกเรื่อง แต่เป็นการวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ที่สำคัญมากคือนอกจากอยากให้ประชนได้รับรู้ด้วยแล้ว ยังต้องการสื่อสารกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และผู้กุมบังเหียนอย่าง “พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค” แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอีกด้วย
ประการแรก “ปั๊มน้ำมัน” ในชายแดนใต้ถูกบีอาร์เอ็นก่อวินาศกรรมมาแล้วหลายระลอก ทำไมยังไม่มีมาตรการป้องกันที่หวังผลได้ ประการที่สอง “เป้าหมาย” ของบีอาร์เอ็นไม่เคยเปลี่ยนแปลง แสดงว่ายังจะมีวินาศกรรมปั๊มน้ำมันตามมาอีกจำนวนมากใช่หรือไม่
การสร้างภาพว่าเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบ การปลุกระดมให้ประชาชนมาประณามผู้ก่อเหตุ รวมถึงการปิดล้อม ตรวจค้นและไล่ล่าเพื่อจับกุมผู้ก่อเหตุ รวมถึงการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะลูกเมีย พ่อแม่และญาติๆ ที่ให้ที่พักพิง เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่อง “ปลายเหตุ” ทั้งสิ้น แถมที่ผ่านมา “แม่ทัพ” คนไหนๆ ก็ทำกันแบบนี้
วันนี้คนชายแดนใต้ต้องการ “แม่ทัพ” และ “หน่วยงาน” ที่มีความพร้อมป้องกันเหตุร้ายให้อยู่หมัด และพร้อมนำสันติสุขกลับคืนมาสู้พื้นที่ให้ได้ เพราะ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ย่างเข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว
ดังนั้น นับแต่นี้ “พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค” และ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องลงมือทำจริงเพื่อให้เกิดมรรคผลเสียที หยุดสร้างภาพลักษณ์ดูดีและสร้างภาพฝันถึงสันติสุขแบบจอมปลอมกันได้แล้ว