ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
จะเห็นว่าเมื่อเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองจะเร่งรีบในการนำเสนอนโยบายของพรรค เพื่อเป็นจุดขาย เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือก ส.ส.ของพรรค และเลือกพรรคที่เป็นเจ้าของนโยบาย เพราะการเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ คือ การเลือกคน หมายถึง ส.ส.เขต และเลือกพรรค หมายถึง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ให้มากที่สุด เพื่อเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล
สำหรับ "พรรคประชาธิปัตย์" ซึ่งมีที่นั่งในภาคใต้มากที่สุด นอกจากจะมีนโยบายใหม่ เช่น "สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ" แล้ว "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค ยังเลือกที่จะใช้นโยบายเดิมที่เป็นนโยบายซึ่งทำได้จริงและถึงมือประชาชนจริง เช่น นโยบายการประกันรายได้ของเกษตรกร แต่จะขยายขอบเขตของการประกันรายได้ไปสู่อาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย
ที่ผ่านมา จะเห็นว่า "ประชาธิปัตย์" เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่ใช่จะมีนโยบายในช่วงหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นนโยบายที่วางเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการนมโรงเรียน โครงการอาหารกลางวัน เงินกู้ กยศ. และอีกหลายโครงการที่แยกย่อยลงมาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นรัฐมนตรี
หรือโครงการ อสม เงินผู้สูงอายุ ยกระดับสถานีอนามัย 10,000 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือ รพ.สต. เมื่อครั้งที่คนของประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคนของประชาธิปัตย์จะไปเป็นเจ้ากระทรวงไหนก็จะเข้าไปเป็นผู้วางรากฐาน ที่เป็นนโยบาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงที่คนของพรรคการเมืองอื่น เมื่อเข้าไปเป็นเจ้ากระทรวงได้สานต่อทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. และเพิ่มเงินผู้สูงอายุ และอื่นๆ ที่ "ประชาธิปัตย์" เป็นผู้ทำเอาไว้ และไม่มีโครงการไหนที่ประชาธิปัตย์ทำไว้แล้วถูกยกเลิก
แสดงให้เห็นว่า นโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กำหนดเป็นนโยบายที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ ทั้งกับประชาชนและประเทศชาติ
อาทิ นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในสมัยที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียงคนใน จ.ปัตตานี กับอีก 3 คนของ จ.สงขลา แต่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ละเลยในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของความยากจนของคนใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ และ "นิพนธ์ บุญญามณี" ในฐานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้วางนโยบายในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ด้วยนโยบายความมั่นคงของอาหารสู่ครัวโลกมุสลิม ใช้จุดแข็งของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งทรัพยากรทางทะเลและการเกษตร ที่เป็นอาชีพที่คนในพื้นที่ทำอยู่แล้วให้มั่นคงยิ่งขึ้น
เช่น การส่งเสริมเรื่องการเกษตร ปลูกทุเรียน มังคุด และอื่นๆ ส่งเสริมอาชีพประมง เช่น โครงการปูทะเลโลก ที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ การฟื้นฟูนาร้างจำนวน 300,000 ไร่ ให้กลับมาเป็นนาข้าว เพราะหลายพื้นที่มีชลประทานที่หนุนเสริมการทำนาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการส่งเสริมให้ปลุกไผ่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีตลาดให้การรองรับ
รวมทั้งในเรื่องของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่มีการผลักดันจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของแหล่งเงินทุน จำนวน 1.5 พันล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนให้เกษตรกรตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการเลี้ยงโคเนื้อ 50,000 ตัว ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ผลักดันมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และจะดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม 2566 ที่จะถึงนี้
และนี่คือโครงการโคบาลชายแดนใต้สู่ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เชื่อมโยงกับโครงการความมั่นคงทางอาหารสู่ครัวมุสลิมโลก ที่เป็นโครงการที่ทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องขายฝัน ที่เหมาะสมกับสภาพของภูมิศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นอาชีพที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำได้และทำเป็น
ที่สำคัญ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นการพลิกฟื้นชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความมั่นคงของครอบครัวอย่างถาวร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ "ประชาธิปัตย์" ให้ผู้สมัครทุกคนใช้นโยบายการหาเสียงด้วยปรัชญาของในหลวงรัชการที่ 9 นั่นคือ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
วันนี้ "ประชาธิปัตย์" เดินหน้าเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง โดยไม่ตกปลาในบ่อเพื่อน ไม่ออกเคมเปญใหม่ๆ เพียงเพื่อขายฝัน แต่เลือกที่จะอยู่บนฐานของความเป็นจริง และ เป็นไปได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า "ประชาธิปัตย์" คือพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง ที่ประชาชนต้องให้การสนับสนุน เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลในการนำประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน