xs
xsm
sm
md
lg

การสู้รบในพม่าไม่อาจจะยุติได้ หากอเมริกายังสนับสนุนตามที่รัฐบาลพม่าอ้างว่าส่งผ่านจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม

ความไม่สงบในประเทศพม่า หลังรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ถูก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ยึดอำนาจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ประเทศพม่าก็เข้าสู่สถานการณ์ของการสู้รบระหว่างกองทัพของรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่มีพื้นที่ปกครองของตนเอง กระจายอยู่ในเขตพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศต่างๆ เช่น ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สปป.ลาว เป็นต้น

สถานการณ์สู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึง ณ วันนี้ที่กำลังจะเข้าสู่ปี 2566 ในอีกไม่กี่วัน ยังดำเนินไปด้วยความรุนแรง มีการสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และยังไม่เห็นช่องทางในการเจรจาระหว่างพม่ากับตัวแทนของชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีอยู่ 4-5 กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสู้รบกับรัฐบาลของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย และหากไม่มีคนกลางเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยหรือเจรจากัน ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศพม่า ยังคงมีความรุนแรงและความสูญเสียต่อไป

สถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียเฉพาะกับประชาชนในพม่าเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนในประเทศพม่า รวมทั้งประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของพม่าอย่างไทย กัมพูชา สปป.ลาว ที่เป็นเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

สงครามการสู้รบที่เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังของ "รัฐบาลพม่า" กับ "กองกำลังของชนกลุ่มน้อย" ที่ยาวนานมาแล้วถึง 2 ปี มีหลายอย่างที่เป็นลักษณะเดียวกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน นั่นคือมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรปที่ให้การช่วยเหลือในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และอื่นๆ

กองกำลังของชนกลุ่มน้อย เช่นเดียวกับที่ยูเครนได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธที่ทันสมัย และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมที่ล้ำหน้าให้ยูเครน จนทำให้การเจรจาเพื่อยุติสงครามไม่เกิดขึ้น เพราะยูเครนมีสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่อยู่ในอียู หรือสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนในทุกด้าน ทำให้ยูเครนกลายเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปในการทำสงครามกับรัสเซีย

มีข่าวสารจากสำนักข่าวของพม่าหลายสำนักข่าว ที่กล่าวหาว่า สงครามระหว่างรัฐบาลพม่า กับชนกลุ่มน้อยที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ในอีกไม่กี่วันว่า เป็นเพราะชนกลุ่มน้อยจำนวนหลายกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ทั้งในเรื่องของอาวุธ และยุทโธปกรณ์ในการใช้สู้รบ รวมทั้งมีการมีหน่วยงานทางทหารที่เข้าไปฝึกฝนในยุทธวิธีของการต่อสู้ให้กองกำลังของชนกลุ่มน้อย ซึ่งพม่าอ้างว่ามีหลักฐานที่ชัดเจน

แม้ว่าข่าวสารที่เป็นกระบอกเสียงของพม่าจะไม่มีการระบุที่ชัดเจนว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐอเมริกาส่งให้ชนกลุ่มน้อยที่ดำเนินการโดยสหรัฐอเมริกา ส่งจากชายแดนของประเทศไทย แต่ในข่าวสารที่ระบุว่าไปจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ก็เข้าใจได้ว่า มีการกล่าวหาว่าประเทศไทยคือ ทางผ่านของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ส่งจากสหรัฐอเมริกา และจากพ่อค้าอาวุธในตลาดมืดของไทย ที่อาจจะมีประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

เว็บไซต์ของสำนักข่าวพม่ายังอ้างคำแถลงการณ์ของกลุ่มปกป้องประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลนางอองซาน ซูจี ในการต่อสู้กับรัฐบาลของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ว่า ได้รับการสนับสนุนอาวุธต่างๆ รวมทั้งเครื่องยิงขีปนาวุธสตริงเจอร์ เพื่อใช้ต่อสู้กับเครื่องบินรบของกองทัพพม่า โดยระบุว่า การช่วยเหลือทั้งหมดมาจากสหรัฐอเมริกา ผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน รวมทั้งสหรัฐอเมริกายังเจรจากับเพื่อนบ้านให้เปิดรับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ และกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เดินทางมาประเทศเพื่อนบ้านของพม่า เพื่อทำการฝึกอาวุธที่ทันสมัย การก่อวินาศกรรม และการจัดการกับทุ่นระเบิดในพื้นที่ และสหรัฐอเมริกายังเป็นผู้สนับสนุนเครื่องมือสื่อสารระบบดาวเทียมที่ทันสมัย และยุทธวิธีในการสู้รบ กำลังของเราจึงแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ กองกำกลังของเราคือ STAR OF HOPE

ประเด็นปัญหาที่สำนักข่าวพม่า ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า กล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเส้นทางของอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ชนกลุ่มน้อย เพื่อใช้สู้รบกับกองทัพของพม่า เป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐไทยต้องมีการใคร่ครวญด้วยความรอบคอบ เพราะหากชนกลุ่มน้อยจำนวนหลายกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอย่างที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะมีการเจรจาเพื่อยุติการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่าย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

รวมทั้งรัฐบาลพม่า ในการนำของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มองไทยด้วยความหวาดระแวง เพราะเห็นชัดว่า ทางหนึ่งไทยพยายามที่จะใช้การทูตแบบไทยๆ ในการเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อหาข้อยุติในการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย แต่อีกทางหนึ่งชายแดนไทยยังเปิดกว้างให้สหรัฐอเมริกา และพ่อค้าอาวุธในตลาดมืดที่อาจจะมีประเทศมหาอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลังส่งอาวุธยุทโธปกรณ์

ดังนั้น ถ้าไทยต้องการที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยใช้นโยบายการทูตในการแก้ไขสถานการณ์การสู้รบที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยต้องเข้มงวดแนวชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า เพื่อมิให้เป็นทางผ่านของอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้แก่ชนกลุ่มน้อย เพราะหากชนกลุ่มน้อยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา หรือมหาอำนาจอื่นๆ และยังมีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่า กับชนกลุ่มน้อย เพื่อนำไปสู่ความสงบไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด

และที่สำคัญ ไทยเราจะเป็นคนกลางในการให้รัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้อย่างไร ในเมื่อผู้นำของพม่ายังมองไทยด้วยสายตาของความหวาดระแวง ในฐานะที่ไทยคือพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้ใช้ชนกลุ่มน้อย และกองกำลังกลุ่มปกป้องประชาชนที่สนับสนุน นางอองซาน ซูจี ในการสู้รบกับ รัฐบาลพม่าที่มี พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นผู้นำ


กำลังโหลดความคิดเห็น