กระบี่ - หนุน ทอท.เข้าบริหารสนามบินกระบี่ หวังยกระดับฮับการบินภาคใต้ รองรับสนามบินภูเก็ต เชื่อยกระดับสนามบินกระบี่สำเร็จจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากระบี่ และเดินทางต่อไปจังหวัดต่างๆเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
ตามที่รัฐบาลได้มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยมีมติให้ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ซึ่งในจำนวน 3 แห่ง มีท่าอากาศยานกระบี่ อยู่ด้วย โดยให้ ทอท.เป็นผู้ดำเนินการบริหาร เชื่อว่าจะทำให้สนามบินกระบี่กลับมาเป็นฮับ (Hub) ทางการบินของภาคใต้ หากว่าสนามบินภูเก็ตเกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร หลังหมดวิกฤตโควิดในเวลาอันใกล้นี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส. กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้น ครม. ได้อนุมัติในหลักการไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมาย สำหรับเรื่องหลักๆ ทำไมจึงต้องมีการถ่ายโอนสนามบินกระบี่ที่อยู่ในความดูแลของกรมการท่าอากาศยาน ไปอยู่ในความดูแลของ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และปัจจุบัน ทอท.ได้บริหารสนามบินอยู่หลายแห่ง เช่น สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 5-6 แห่ง
ซึ่งเราต้องเข้าใจในข้อจำกัดของรัฐบาลว่าสนามบินของกรมการท่าอากาศยาน มีราวๆ 29 แห่ง ในขณะที่ก่อนหน้านี้ สนามบินกระบี่ทำรายได้ให้กรมการท่าอากาศยานมากที่สุดมีรายได้ถึง 800 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นที่มาของคำว่า สนามบินกระบี่มีรายได้แห่งเดียวที่ไม่เคยขาดทุน แต่ในขณะเดียวกัน กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติซึ่งมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมสนามบินกระบี่ ถึงแม้เป็นสนามบินนานาชาติแล้วทำไมต้องให้ ทอท.เข้ามาดูแล ทั้งที่ด้านมาตรฐานความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น ทอท.หรือกรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริหารจะอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ต้องถูกตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เป็นมาตรฐานเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริงของการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน เนื่องจาก ทอท.เขามีงบลงทุนในการบริหารจัดการได้ทันที เช่น ลิฟต์เสีย ห้องน้ำชำรุด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกิดเสียหายกะทันหัน ต้องแก้ไขเร่งด่วน ทาง ทอท. สามารถนำงบประมาณมาซ่อมแซมได้ทันที และยังมีมาตรฐานอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นในความมีมาตรฐานของกรมท่าอากาศยาน กับ ทอท.ที่แตกต่างกันจึงเป็นการดึงดูดให้เที่ยวบินสำคัญๆ ของต่างประเทศบินมาลงที่กระบี่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้จังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในวันนี้กลุ่มโรงแรมระดับ 5 ดาว 7 ดาว ที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว พบว่า มีการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง เนื่องจากสนามบินกระบี่ยังไม่ได้มาตรฐาน นักท่องเที่ยวต้องไปต่อเครื่องหลายที่ทำให้ต้องเสียเวลา ซึ่งการยกระดับสนามบินแม้ว่าจะทำให้พื้นที่แพงขึ้นมา แต่มวลรวมของสนามสนามบินและต่างประเทศสนใจบินมาลงมันคุ้มค่าพอ และอาจจะทำให้คนของกรมการท่าอากาศยานเดือดร้อนบ้างในส่วนตัวที่ต้องสูญเสียสนามบินไป แต่จะทำให้รายได้ของประเทศในภาพใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้นักธุรกิจเจ้าของโรงแรม ผู้ประกอบการรากหญ้า รายเล็กรายน้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น
ดร.สฤษฎ์พงษ์ กล่าวต่อว่า การที่ทางกรมการท่าอากาศยานได้ลงทุนสร้างอาคารสนามบินต่างประเทศ งบลงทุนกว่า 6,000 ล้าน ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมในการรองรับสายการบินขนาดใหญ่มากนัก ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลได้มีการสร้างถนนเพชรเกษมสาย 4 ใช้งบลงทุนอีกกว่า 1.3 พันล้านเพื่อรองรับคนอีกประมาณ 8 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกันสนามบินเปรียบเสมือนประตู ถูกจำกัดด้วยการบริหารของกรมการท่าอากาศยาน เท่ากับว่าการลงทุน 6 พันล้านไร้ประโยชน์ ซึ่งในวันนี้เท่าที่เห็นมีสายการบินที่บินประจำมีแค่สายการบินใกล้ๆ บ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บินมาลงที่สนามบินกระบี่ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเราดูสนามบินของจังหวัดใกล้เคียงบ้านเราคือที่จังหวัดภูเก็ต มีสายการบินเกือบทั่วโลกบินเข้ามา ซึ่งนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทางกระทรวงคมนาคมมองเห็นว่าการที่จะทำให้อันดามันมีผลิตมวลรวมของการท่องเที่ยวดีขึ้นจะต้องยกระดับมาตรฐานของสนามบินกระบี่ให้ดีขึ้นด้วย
ซึ่งถ้าหากว่าในวันนี้เราสามารถยกระดับสนามบินกระบี่ และมีการสร้างถนนรองรับไว้แล้วจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากระบี่และเดินทางต่อไปจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะวงแหวนอันดามัน กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล ที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ติดอันดับ 4 ที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศสูงสุด ซึ่งรวมแล้ว 6 จังหวัดอันดามันมีรายได้ประมาณ 40% ของรายได้ทั้งประเทศ
ซึ่งเหตุผลอันนี้เป็นการตอบโจทย์อยู่แล้วว่าทำไมจะต้องมีการยกระดับสนามบินกระบี่ โดยให้ ทอท.เข้ามาบริหาร ภายใต้กติกาและเงื่อนไข และที่ผ่านมา มันมีสถิติอยู่แล้วว่าการที่ให้ ทอท.เข้ามาบริหารสามารถสร้างรายได้มากกว่าการที่ให้กรมการท่าอากาศยานเป็นผู้บริหาร