xs
xsm
sm
md
lg

กรณีขุดศพแนวร่วมบีอาร์เอ็น รัฐไทยจะแก้ข้อกล่าวหา “อุ้มฆ่า” และ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ได้อย่างไร?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดรถไฟบรรทุกสินค้าหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ที่ ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. และระเบิดซ้ำวันที่ 6 ธ.ค.2565 พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สั่งการให้ป้องกันเหตุร้ายช่วงส่งเทศกาลท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ทุกหัวเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้เข้มข้น

ถือเป็นยุทธวิธี “วัวหายแล้วล้อมคอก” ที่แม่ทัพภาค 4 ทุกคนในทุกยุคและทุกสมัยเคยทำมาแล้ว ถือเป็นการป้องกันหลังได้รับความสูญเสียไปเรียบร้อยแล้ว จึงนับว่าไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคกับแนวร่วมและกลุ่มติดอาวุธขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อก่อเหตุในเขตเศรษฐกิจไม่ได้ก็หันไปก่อเหตุในท้องถิ่น

ต่อมา หัวค่ำ 14 ธ.ค.2565 จึงโจมตีด้วยไปป์บอมบ์ หรือปาระเบิดใส่ฐานทหารพราน 3 จุดในเขตเทศบาลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นใช้หลักดาวกระจายโจมตีอ่อนแอ ที่ตรงไหนประมาทและมีช่องโหว่ถูกจะเปิดปฏิบัติการทันที

เป็นไปตามยุทธวิธี “สงครามใต้ดิน” หรือตีหัวแล้วเข้าบ้าน วิธีนี้ได้ผลด้านจิตวิทยา เพราะคนในพื้นที่จะเห็นแต่ความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำอะไรโจรไม่ได้ จึงต้องเกรงใจโจรมากกว่า นำมาสู่การไม่ศรัทธาและไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เห็นศัตรูเสียด้วยซ้ำ

จึงเชื่อว่าไม่ใช่แค่จากการก่อเหตุด้วยการปา “ไปป์บอมบ์” หรือ “ลอบวางระเบิด” เท่านั้น แต่อาจตามมาด้วย “จยย.บอมบ์” และ ”คาร์บอมบ์” ก็เป็นได้ หากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดช่องว่าง และฝ่ายลอบปฏิบัติการมีช่องทางหนีทีไล่พร้อมสรรพ

จากการประเมินจากสถานการณ์ โดยเฉพาะการตายของ “ยาห์รี ดอเลาะ” แนวร่วมที่ถูกทิ้งศพในแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งบีอาร์เอ็นระบุว่าเป็นปฏิบัติการของ “หมวดชัย” นายทหารที่เข้าจับกุมเขาแบบลับๆ ภายหลังหลบหนีคดีไปทำงานก่อสร้างในเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย

ปรากฏว่า โฆษกบีอาร์เอ็นโจมตีว่าเป็นการ “อุ้มฆ่า” ที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน แล้วสร้างตราบาปให้รัฐไทยทำผิดข้อตกลงการ “เจรจาสันติภาพ” ที่ดำเนินการอยู่ และยังได้รายงานเหตุการณ์ไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน

ประเด็นที่บีอาร์เอ็นกล่าวหาเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะทำให้รัฐไทยเสียเปรียบในเวที “พูดคุยสันติสุข” อย่างแน่นอน เนื่องจากบีอาร์เอ็นมีทั้งองค์กรอย่าง “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” อยู่เบื้องหลังมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หลังบีอาร์เอ็นกล่าวหารัฐไทยได้ไม่กี่วัน ปรากฏมีรายงานข่าวว่า ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ “ลายพิมพ์นิ้วมือ” เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประวัติอาชญากรรมของ "ยาห์รีย ดอเลาะ" กลับไม่ตรงกัน จึงขอ “ขุดศพ” ขึ้นมาพิสูจน์ให้แน่ชัด แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากญาติๆ และชาวบ้านในพื้นที่

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าศพนั้นไม่ไช่ยาห์รี ดอเลาะ จะทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ “พ้นผิด” ตามคำกล่าวหาของบีอาร์เอ็น และใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้แจงกับหน่วยงานของสหประชาชาติได้ แต่เมื่อถูกขัดขวางก็เท่ากับไม่มีหลักฐาน ดังนั้นจึงต้องรับผิดไปโดยปริยาย

ประเด็นนี้สำคัญมาก แม้โดยข้อเท็จจริงหากได้ขุดศพมาพิสูจน์จนชัดว่าไม่ใช่ศพของยาห์รี ดอเลาะ แต่ญาติๆ และชาวบ้านต่างเชื่อว่าเขาตายแล้วโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น จึงไม่มีผลกับประชาชนในพื้นที่ เพราะพวกเขาเลือกที่จะเชื่อว่ารัฐไทยมีการ “อุ้มฆ่า” และ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ไปแล้ว

นี่คือข้อเสียเปรียบรัฐไทย โดยเฉพาะกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งการขอเข้าไปขุดศพเพื่อนำมาพิสูจน์ว่าใช่ยาห์รี ดอเลาะ จริงหรือไม่ นั่นถือเป็นการเปิดศึกกับ “มวลชน” ในพื้นที่ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งยังตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของ “นิกมะตุลเลาะ บินเสรี” หนึ่งในผู้แทนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายบีอาร์เอ็น เขาได้ลงแถลงการณ์ทั้งในยูทูปและเฟซบุ๊กปลุกระดมให้มีการต่อสู้ในเรื่องนี้กับรัฐไทย พร้อมสำทับหนักแน่นด้วยว่า บีอาร์เอ็นจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ

นิกมะตุลเลาะ ยังเปิดเผยแผนของบีอาร์เอ็นในการเจรจาสันติภาพรวม 3 ประเด็นด้วยคือ 1.การลงนามหยุดยิง 2.การปรึกษาหารือทางสาธารณะ และ 3.การหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน ทั้งนี้เพราะหวังให้มีการลงนามของทั้ง 2 ฝ่ายภายในสิ้นปี 2565 นี้

ทั้ง 3 ข้อเสนอดังกล่าวล้วนต้องการขยายความ เช่น การปรึกษาหารือทางสาธารณะมีรายละเอียดอย่างไร การหาทางทางออกทางการเมืองร่วมกันควรเป็นแบบไหน แต่ที่นับว่าสำคัญคือข้อเสนอการ “หยุดยิง” ก็เป็นอีกข้อเสนอที่รัฐไทยปฏิเสธมาโดยตลอด

แม้วันนี้ปัญหาของบีอาร์เอ็นถูกยกระดับเป็น “สากล” ที่มีเจนีวาคอลล์ และองค์กรจากชาติตะวันตกอื่นๆ เข้าร่วมในเวทีการเจรจาด้วย รวมทั้งการที่ตัวแทนของกองทัพไทยเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของไอซีอาร์ซีที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแถลงนโยบายการบังคับให้กฎหมายและสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

รวมถึงตัวแทนกองทัพไทยได้เจรจากับตัวแทนเจนีวาคอลล์หลายครั้งในต่างประเทศ จึงถือว่าการเจาจาระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นมีการยกระดับสู่ความเป็นสากลแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการ “ลงนาม” เพราะถ้ามีการลงนามในข้อตกลงแล้วนั่นถือเป็นการยกระดับขบวนการแบ่งแยกดินแดนสู่การยอมรับของนานาชาติโดยปริยาย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็น “ความผิดพลาด” ของ “ใคร” ก็ไปใคร่ครวญกันเอาเอง

สุดท้ายคือการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเดินทางไปพบ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย เพื่อแสดงความยินดีและหารือเรื่องเดินหน้าโต๊ะพูดคุยสันติสุข ซึ่งนายกฯ มาเลเซียรับปากยินดีช่วยรัฐไทยในการแก้ปัญหาไฟใต้

แน่นอนอันวาร์ เป็นพันธมิตรรัฐบาลไทยมาแต่ไหนแต่ไร แต่ “พรรคปาส” ที่มีฐานอยู่ในรัฐกลันตันและรัฐตรังตานู เวลานี้ได้ขยายไปถึงรัฐเกห์ดะ และรัฐเปอร์ลิสที่เคยเป็นที่มั่นของพรรคอัมโน เมื่อพรรคปาสสนับสนุนบีอาร์เอ็น จึงเชื่อว่าคงไม่ยอมให้มีการบีบบังคับให้ยุติก่อการร้าย หรือเปลี่ยนยุทธศาสตร์เลิกแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย

แต่จริงๆ การที่ พล.อ.ประวิตร ไปพบอันวาร์นั่นเป็นเพียงฉากหน้า แต่ฉากหลังที่สำคัญคือ ได้ไปพบกับ “ชมรมต้มยำกุ้ง” หรือกลุ่มคนมุสลิมจากภาคใต้ไทยที่ไปทำมาหากินในมาเลเซียจำนวนเป็นแสนคน เพื่อหาคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าต่างหาก

โดยข้อเท็จจริงถ้า พล.อ.ประวิตร ต้องการยุติปัญหาไฟใต้ให้มีผลจริงๆ ควรต้องนัดพบกับ “ประธาน” หรือไม่ก็ “เลขาธิการ” ของขบวนการบีอาร์เอ็น แล้วใช้การถามตรง-ตอบชัดว่าจะช่วยยุติไฟใต้ได้อย่างไร หรือมีอะไรที่เป็นเงื่อนไขบ้าง

เพราะในคณะเจรจาสันติสุขผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็น ทว่าวันนี้ยังไม่ชัดว่าแท้จริงคนเหล่านี้เป็นคนของใคร เป็นคนที่มาเลเซียจัดตั้ง หรือเจนีวาคอลล์จัดตั้งขึ้น และข้อเรียกร้องทั้งหมดเป็นความต้องการของฝ่ายบีอาร์เอ็น หรือเป็นความต้องการของมาเลเซียและองค์กรชาติตะวันตกที่เป็น “นายหน้าค้าสงคราม” กันแน่

ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว เชื่อว่าการพูดคุยสันติสุขก็จะ “ถูกฝาถูกตัว” และอาจจะนำไปสู่ความสำเร็จในการดับไฟใต้อย่างถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น