xs
xsm
sm
md
lg

มองศึกเลือกตั้งภาคใต้ "พรรคเฉพาะกิจ" ระวังจะตกม้าตายตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สนามรบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม

การเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของ "สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล" อดีต ส.ส.ตรัง ที่เป็นถึงเลขานุการของ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถือว่าเป็นเลือดไหลออกจากประชาธิปัตย์ แต่เป็นเพราะต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต โดยไม่ประสงค์ที่จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

สาเหตุมาจากในเขตเลือกตั้งที่ 4 ของ จ.ตรัง มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน จึงต้องทำโพล ซึ่งผลของโพลที่ออกมาปรากฏว่า “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” มีคะแนนนิยมของคนในเขต 4 น้อยกว่าคู่แข่ง โดย "สมบูรณ์" เชื่อว่าผลโพลที่ออกมาไม่โปร่งใส

เมื่อเรียกร้องให้ทบทวนไม่ได้ผล “สมบูรณ์” จึงต้องเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำตามเจตนารมณ์คือการเป็น ส.ส.เขต โดยการหาพรรคการเมืองใหม่มาสังกัด ซึ่งเป็นพรรคที่คุ้นเคย คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีอดีตคนของประชาธิปัตย์เข้าไปสังกัดพรรคแล้วจำนวนหนึ่ง มีทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ อย่าง "ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" และหัวหน้าพรรคเองก็เป็นอดีตคนของประชาธิปัตย์ จึงเป็นบ้านหลังใหม่ที่น่าจะดูดีกว่าการไปสังกัดพรรคอื่น

นี่เป็นวีถีชีวิตของนักการเมือง ที่เมื่อในพรรคเดิมไม่มีพื้นที่ให้ลงรับสมัครก็ต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ซึ่งทุกพรรคการเมืองมีปรากฏการณ์ที่ ส.ส.หรือสมาชิกพรรคเดินออกจากพรรคเพื่อหาพรรคใหม่สังกัด สำหรับการลงสนามเลือกตั้งพิสูจน์ความศรัทธาของประชาชน

ดังนั้น การเดินออกจากประชาธิปัตย์ของ "สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล" จึงเป็นเรื่องปกติ ที่แม้แต่ "ชวน หลีกภัย" ผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องนิ่งเงียบ เพราะมาจากผลของการทำโพล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับในกติกาที่กำหนดขึ้น

ที่สำคัญ การเลือกตั้ง ส.ส.ตรัง เขต 4 ในสมัยหน้าจะเป็นการพิสูจน์ระหว่างผลโพลกับความเป็น "สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล" ว่าอันไหนจะน่าเชื่อถือกว่ากัน

ดังนั้น การเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของอดีต ส.ส.และ ส.ส.ที่ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ แต่ได้แจ้งให้พรรครับทราบแล้วว่า สมัยหน้าจะไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น จึงไม่ได้ทำให้เกิดความระส่ำระสายในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคนการเมืองย่อมรู้จักคนการเมือง รู้ระแคะระคายกันล่วงหน้าว่าใครจะอยู่ และใครจะไป จึงมีการเตรียมการล่วงหน้าในการสรรหาผู้สมัครใหม่เข้ามาแทนที่ในเขตที่มี ส.ส.ลาออกไปสังกัดพรรคใหม่

จากการติดตามดูการจัดทัพเพื่อการเลือกตั้งในปี 2566 ของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค และ "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง จะเห็นความนิ่งในการรับมือกับทุกปัญหา ทั้งเรื่องการลาออกของคน เรื่องพลังดูดของพรรคการเมืองอื่นที่ต้องการแย่ง ส.ส.เขตจากพรรคประชาธิปัตย์ และการเคลื่อนไหวของพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีเป้าหมายที่จะบดขยี้พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ

“นิพนธ์” ใช้ความช่ำชองในการเป็นนักการเมืองอาชีพ ตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา 2 สมัย และเป็น ส.ส.อีก 6 สมัย ก่อนที่จะลาออกมาทำการเมืองท้องถิ่นด้วยการเป็นนายกองค์การบริหารจังหวัดสงขลา 2 สมัย และลาออกไปรับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยในโควตาพรรคประชาธิปัตย์ และล่าสุด ลาออกเพื่อสู้คดีที่ถูกกว่าหาจาก ป.ป.ช. เรื่องการไม่จ่ายเงินให้โครงการที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการฮั้วประมูลในสมัยที่เป็นนายก อบจ.สงขลา เพื่อแสดงเจตนาว่าจะไม่เอาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดี และเพราะประสบการณ์ในด้านการเมือง ทั้งในการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ที่ทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เลือก "นิพนธ์" ในการทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง เพื่อรับศึกการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ที่จะถึงนี้

วันนี้ “ประชาธิปัตย์” มีความพร้อมที่สุดทั้งในเรื่องของคนและแผนงานในทุกด้าน ถ้าตัดเรื่องพลังดูดและเรื่องของผลโพล ที่ทำให้คนของประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งต้องเดินจากไป ต้องถือว่า “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีความพร้อมที่สุดในการรับมือกับการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยเฉพาะงานด้านสื่อสารกับสังคมที่ "นิพนธ์" เป็นผู้กำกับดูแล ที่มีการนำเอาจุดขายที่เป็นจุดเด่นของประชาธิปัตย์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันออกมาให้ประชาชนรุ่นใหม่ได้รับรู้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพรรคประชาธิปัตย์และของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค ที่เคยสร้างผลงานในกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผลงานในปัจจุบันที่โด่ดเด่นคือเรื่อง ประกันรายได้ของเกษตรกร และเรื่องของความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นในกระทรวงที่ประชาธิปัตย์รับผิดชอบ

ในขณะที่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ ที่ทำเป็นแค่กวาดต้อนเอา ส.ส.ของพรรคอื่น และสร้างพันธมิตรกับบ้านใหญ่ไม่กี่หลังในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อบดขยี้พรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมากำลังกลายเป็นพรรคที่ "ไปไหนมาสามวาสองศอก" พลังดูดไม่ขลังอย่างที่คิด จำนวน ส.ส.จากพรรคต่างๆ ที่จะเข้ามาสังกัดพรรคน้อยกว่าที่คาดหมาย มีปัญหาภายในที่ยังสะสางไม่ลงตัว และที่สำคัญ นายทุน เจ้าของถุงเงินเริ่มมีอาการลังเล เพราะมองเห็นอนาคตว่าพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อส่งให้ "บิ๊กตู่" เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ไม่ได้สดใสกาววาวอย่างที่คิด

ถ้าพรุ่งนี้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด พรรคประชาธิปัตย์ที่มี "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรค และมี "นิพนธ์" เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง จะเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่สุดในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ ที่นอกจากจะรักษาที่นั่งเดิมไว้ได้แล้ว ยังจะเพิ่มจำนวน ส.ส.ในทุกพื้นที่ หลายจังหวัดจะยกทีม และหลายจังหวัดจะได้ ส.ส.กลับคืน

แม้แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ "นิพนธ์" เป็นผู้รับผิดชอบ แม้จะเสีย "อัลวาร์ สาแหละ" ส.ส.ของพรรคเพียงคนเดียวที่มีอยู่ แต่ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3 ที่นั่ง

ส่วนพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายบดขยี้เพื่อแย่งชิง ส.ส.เขตจากประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ถ้ามีการยุบสภาและเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ก็จะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่พ่ายแพ้และตกม้าตายตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่สนามรบด้วยซ้ำ

เพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้ "บิ๊กตู่" มีอาการลังเล ไม่ตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองว่าจะอยู่พรรคไหน

และเพราะเหตุนี้กระมังที่ทำให้ "บิ๊กตู่" ต้องลากยาวรัฐบาลชุดนี้ให้อยู่ครบเทอม โดยไม่กล้าที่จะยุบสภาก่อน เพราะหากยุบสภาโดยที่พรรคเฉพาะกิจที่ประกาศหนุน "ลุงตู่" ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่สนามรบ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะพาให้ "ลุงตู่" ต้องตกม้าตายไปด้วยนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น