ศูนย์ข่าวภาคใต้ - โกงสอบพ่นพิษ! สั่งเชือด “118 นักเรียนนายสิบ” เอี่ยวการทุจริต สั่งเอาผิดอาญาซ้ำ แฉมี “พ.ต.ท.-ร.ต.อ.หญิง” เข้าร่วมด้วย รอหลักฐานสำคัญก่อนแจ้งความ ด้านทีมสืบสวนเร่งตรวจสอบรีสอร์ตใน อ.นาหม่อม จ.สงขลา จุดนัดพบก๊วนทุจริตสอบนักเรียนนายสิบ
พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความสับสนของข่าวการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ เพื่อเข้าไปเป็นตำรวจระดับนายสิบ ของศูนย์บังคับการฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 (ศฝร.ภ.9) ว่า เรื่องที่เกิดการทุจริตในการสอบ เป็นการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2565 ส่วนการสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจครั้งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. และมีการประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 ไม่ได้เกี่ยวกับการทุจริตที่เป็นข่าวอยู่
และเรื่องการทุจริตในการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.นั้น หลังจากที่มีผู้จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อซื้อข้อสอบ และกลุ่มผู้จ่ายเงินที่สอบไม่ได้ ได้มีการแจ้งความที่ สภ.เมืองสงขลา ได้มีการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งจากภาค 9 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง เมื่อรวบรวมหลักฐาน มีการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และเจ้าหน้าที่ของศูนย์บังคับการฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่หน่วยคุมสอบทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้ และได้มีการสั่งให้ผู้เข้าสอบทั้งหมดที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการทุจริต จำนวน 118 คน พ้นจากการเป็นนักเรียนนายสิบไปแล้ว
ส่วนในการสอบนายสิบครั้งล่าสุด และมีการประกาศผลไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ยังไม่มีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการสอบ เพราะได้มีการสั่งให้มีการเข้มงวดในการสอบครั้งนี้ เนื่องจากผลการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการทุจริต ที่ผลการสอบพบว่าเป็นการทำเป็นขบวนการ ทั้งโรงเรียนกวดวิชา ทั้งกลุ่มนายหน้า และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสอบ
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมการที่ทำการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ว่า ในการสอบเข้ารับราชการตำรวจระดับนายสิบ ทุกครั้งจะมีแก๊งที่เป็นนายหน้าในการติดต่อกับผู้เข้าสอบ โดยมีการนำบัญชีรายชื่อผู้เข้าสอบจากเจ้าหน้าที่ใน ศฝร.ภ.9 ไปทำการศึกษา และติดต่อกับผู้สอบที่มีฐานะดี และเสนอการช่วยให้สอบได้ ด้วยการเรียกรับเงินค่าวิ่งเต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นการซื้อคำเฉลยข้อสอบ ตั้งแต่ 200,000-500,000 บาทต่อราย แต่ที่ไม่มีข่าวเพราะผู้จ่ายเงินไม่ออกมาเปิดเผยเหมือนกับครั้งนี้ที่มีผู้จ่ายเงินแล้วสอบไม่ได้ จึงออกมาแจ้งความ
ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า ผู้เข้าสอบนายสิบ ได้รับการติดต่อจากกลุ่มของนายหน้า ซึ่งขณะนี้มีหลายคนที่ถูกเรียกมาสอบสวน และได้รับสารภาพแล้ว เช่น นายณิชธรรมรงค์ (ขอสงวนนามสกุล) และ น.ส.รุ่งทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) ว่าเป็นผู้รับเงินจากผู้เข้าสอบจริง และเจ้าหน้าที่มีหลักฐานการโอนเงินจากผู้เข้าสอบเข้าบัญชีของคนทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นพยานวัตถุที่มีน้ำหนักในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้แล้ว ส่วนผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ที่อยู่ในขบวนการเดียวกัน คือ นายทรงพล นายประวิทย์ นายวุฒิภัทร (ขอสงวนนามสกุล) มีหลักฐานการติดต่อกับผู้เข้าสอบเพื่อเรียกรับเงินที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ขณะนี้รอเพียงให้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 9 ที่เป็นเจ้าทุกข์แจ้งความดำเนินคดี จะขอให้ศาลออกหมายจับได้ทั้งหมด
นายตำรวจผู้อยู่ในคณะกรรมการสอบสวน ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า ในการสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 9 ที่มีหน้าที่ในการรับกล่องข้อสอบจากส่วนกลาง ดูแลรักษา และควบคุมการสอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำสนามสอบที่พบว่ามีการทุจริต ได้มีการเรียกมาทำการสอบสวนหมดทุกนาย ซึ่งพบว่ามีหลักฐานในการเชื่อมโยงในการทุจริต คือ เงินในบัญชีที่มีการโอนจากกลุ่มคนที่รับเงินจากผู้เข้าสอบ คือ ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา หอมนวพล ตำแหน่ง รอง สว.ฝอ.6 บก.อก.ภ.9 ซึ่งมีการรับโอนเงินจากกลุ่มผู้รับเงินจากผู้เข้าสอบ และมีนามสกุลที่เหมือนกับผู้รับเรียกเงินบางคน ได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแล้วถึงเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้รับเรียกเงินจากผู้เข้าสอบในครั้งนี้ ซึ่งหนีไม่พ้นความผิดในการร่วมกันทุจริต ส่วนนายตำรวจระดับ “พ.ต.ท.” อีกคน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างหาจุดเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ทำผิดกลุ่มแรกที่มีหลักฐานในการเอาผิดที่ชัดเจน
ซึ่งจากหลักฐานของการสอบสวน พบว่า กลุ่มผู้รับเรียกเงินเพื่อขายผลเฉลยข้อสอบครั้งนี้ มีการโอนเงินระหว่างผู้เข้าสอบกับผู้รับเรียกเงิน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2554 เช่น นายธวัชชัย (ขอสงวนนามสกุล) ผู้เข้าสอบ โดยเงินเข้าบัญชีผู้รับเรียกเงินเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายฮานาฟ (ขอสงวนนามสกุล) โอนเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายชิดดีกัน (ขอสงวนนามสกุล) โอนเมื่อ 9 ธ.ค. โดยเข้าบัญชีของ น.ส.รุ่งทิพย์ ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีการทุจริตการสอบนายสิบของตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 (ศฝร.ภ.9) ว่า พล.ต.ต.ดุษฎี ชูสังกิจ รอง ผบช.ภ.9 ซึ่งเป็นประธานในการสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการทุจริตในการสอบ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ทั้งหมดว่า ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.อเสก สีแก้วเขียว สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองสงขลา ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งจาก นายจิรภัทร์ จันทร์เทพ หนึ่งในผู้เสียหาย 37 ราย ที่จ่ายเงินให้ขบวนการขายข้อสอบที่เรียกรับเงินหัวละ 500,000 บาท ส่งสำนวน และหลักฐานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบรายละเอียด และใช้ในการเป็นหลักฐานแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งได้มีการสั่งการให้ พล.ต.ต.ธรรมนูญ ประยืนยง ผบก.ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 9 แจ้งความเอาผิดต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีทุจริตการสอบนายสิบครั้งนี้ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เป็นขบวนการเรียกรับเงินในการขายข้อสอบครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาใน จ.สงขลา แต่ผู้ที่เข้าสอบนักเรียนนายสิบ มีทั้งที่อยู่ใน จ.สงขลา และอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบหาหลักฐานที่ “อานนท์ รีสอร์ต” ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่นัดพบระหว่างผู้เข้าสอบกับผู้เรียกรับเงิน เพื่ออธิบายวิธีการโหลดคำเฉลยข้อสอบจากเครื่องปรินเตอร์ และพบว่าผู้ที่ลงชื่อเพื่อเปิดห้องพักที่อานนท์ รีสอร์ต ชื่อนายณิชธำธงค์ (ขอสงวนนามสกุล) และ น.ส.รุ่งทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นผู้มีชื่อ และเป็นเจ้าของบัญชีในการโอนเงินจากผู้เข้าสอบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการมัดตัวให้แน่นหนายิ่งขึ้น
นายตำรวจผู้นี้กล่าวอีกว่า ความจริง พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ได้สั่งการให้ชุดสืบสวนสอบสวนติดตามหาพยานหลักฐานมาตั้งแต่พบว่ามีการร้องเรียน และมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่จากการที่ผลการสอบสวนหลุดออกจากคณะทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เป็นข่าว และมีผู้คนให้ความสนใจ ทำให้มีความกดดันเกิดขึ้น และทำให้ต้องเร่งสรุปสำนวนเพื่อให้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง ต้องรีบดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งนักเรียนทั้งหมด 118 คน ที่ถูกจำหน่ายให้พ้นการเป็นนักเรียนนายสิบ ที่พบว่ามีการทุจริตในการสอบ
นายบรรจง เกตุศรัทธา เจ้าของสำนักงานกฎหมายเกตุศรัทธา เปิดเผยว่า ในการดำเนินคดีจะต้องมีการดำเนินคดีทั้งผู้เรียกรับเงิน ทั้งที่เป็นนายหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าสอบที่เป็นผู้จ่ายเงินในการซื้อข้อสอบครั้งนี้ ดังนั้น ผู้เข้าสอบนอกจากเสียเงินคนละ 500,000 บาทแล้ว ยังมีความผิดในข้อหาทุจริต และคดีนี้ต้องขึ้นศาลทุจริตประพฤติมิชอบภาค 9 ซึ่งจะต้องมีผู้เดือดร้อนที่เป็นผู้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก และเพราะคดีอย่างนี้ทั้งผู้จ่ายเงิน และผู้เรียกรับเงินต่างมีความผิดด้วยกัน จึงทำให้มีขบวนการต้มตุ๋นด้วยการเรียกรับเงินเพื่อช่วยให้สอบเข้าตำรวจเกิดขึ้น เมื่อผู้จ่ายเงินสอบไม่ได้ จึงไม่มีการแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความเอาผิดกับผู้รับเงิน ผู้จ่ายเงินก็จะมีความผิดด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากการได้พูดคุยกับผู้ที่จ่ายเงินเพื่อให้สอบเข้าเป็นตำรวจนายสิบได้ว่า ในการจ่ายนั้นไม่ได้จ่ายเท่ากันทุกคน บางคนที่รู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่สามารถวิ่งเต้น ฝากฝังกับคนในสำนักงานตำรวจได้จะจ่ายน้อยหน่อย ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท แต่นอกจากนั้นหลังจากผ่านการสอบข้อเขียน ยังต้องมีการวิ่งเต้นจ่ายเงินให้ขั้นตอนการสอบสมรรถนะ และการสอบสัมภาษณ์อีกต่างหาก แต่ผู้ปกครองของผู้เข้าสอบยอมจ่าย บางคนกู้เงินมา บางคนเอาที่ดินไปจำนองเพื่อให้ลูกได้สอบเข้าตำรวจ ซึ่งเป็นที่รู้กัน และเป็นช่องทางให้นายหน้าถือโอกาสเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบในทุกครั้ง