ทัศนะ โดย เมือง ไม้ขม
ติดตามดูความเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาธิปัตย์” ในการสรรหาผู้สมัครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่จะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นใน จ.นราธิวาส 1 เขต จากเดิม 4 เขตเป็น 5 เขต จ.ยะลามี 3 เขตเลือกตั้ง และ จ.ปัตตานีมี 4 เขต รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 12 เขตเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพียงหนึ่งเดียว นุ่นคือ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี เขต 1 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า “อันวาร์” คงต้องไปสมัคร ส.ส.ในพรรคการเมืองอื่น เพราะประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งลงสมัคร และได้เปิดตัวผู้สมัครคนใหม่ใน จ.ปัตตานี เขต 1 ไปแล้ว
หนึ่งในสาเหตุที่ “ประชาธิปัตย์” เหลือ ส.ส.เพียงคนเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั่นเป็นเพราะ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้นำนกหวีด อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีการ "ตกปลาในบ่อประชาธิปัตย์" เอาไปลงสมัครในนามพรรคการเมืองของตนเองที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียศูนย์ เพราะเสียอดีต ส.ส.ไปเกือบหมด
อย่างไรก็ตาม อดีต ส.ส.ของประชาธิปัตย์ที่ไปกอดคอกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไปไม่ถึงดวงดาว กลายเป็น ส.ส.สอบตกกันระเนระนาด
การเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2566 ผู้ที่พรรคประชาธิปัตย์วางตัวไว้ให้รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค
หลังจากใช้เวลาหลายเดือนในการสรรหาผู้สมัครตามกติกาของพรรคก็ได้ผู้สมัครครบทั้ง 12 เขตเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เปิดตัวอย่างคึกคักไปแล้วที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.ยะลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ในการเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 12 เขตของประชาธิปัตย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ว่าที่ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่เคยลงเล่นการเมืองระดับชาติ มีเพียง เจะอามิง โต๊ะตาหยง ผู้สมัคร จ.นราธิวาส เขต 5 และ ณรงค์ ดูดิง อดีต สส.ยะลา เขต 3 เท่านั้นที่เป็นอดีต ส.ส.เก่าของพรรคประชาธิปัตย์
เห็นได้ชัดว่าในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 ว่าที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์เป็น เลือดใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาให้เลือกกันในสนามเลือกตั้ง และไม่เพียงแต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ที่พรรรคประชาธิปัตย์ส่งคนรุ่นใหม่ให้ประชาชนได้พิจารณา เช่น สตูล พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และตรัง รวมทั้งอีกหลายพื้นที่
การส่งผู้สมัครในครั้งนี้ของ ประชาธิปัตย์ จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างนักการเมืองเก่า ที่เป็น ส.ส.อยู่แล้ว กับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาเสริมทัพเพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง และที่สำคัญเป็นผู้สนใจการเมืองรุ่นใหม่ที่ต้องการลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์
ก็จะสวนทางกับการที่พรรคการเมืองหลายพรรคที่ออกมาโจมตีว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ไร้เสน่ห์ มีแต่สมาชิกไหลออก และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาธิปัตย์อาจจะเหลือ ส.ส.ที่สอบได้น้อยกว่าในการเลือกตั้งปี 2562 แต่จากการที่มีคนรุ่นใหม่เสนอตัวเข้ามาเพื่อลงรับสมัครรับเลือกตั้งในนาม “ประชาธิปัตย์” ทำให้เห็นว่าการถูกโจมตีและการสบประมาทเป็นเรื่องที่ไม่จริง
โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ไหลออกเพื่อไปสมัครในนามพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องการเงิน เรื่องพรรคพวก หรือเรื่องผลโพล ต้องเข้าใจด้วยว่าในการลงสมัครในนามพรรคใหม่ คะแนนส่วนหนึ่งที่เป็นคะแนนพรรคอาจจะไม่ได้ติดตามไปกับตัว ส.ส.หรือผู้สมัคร
ดังนั้น ถ้า “ประชาธิปัตย์” ได้ผู้สมัครหน้าใหม่ ที่มีคะแนนนิยมจากคนในพื้นที่สูง เมื่อบวกกับคะแนนพรรค ก็ทำให้ได้เป็น ส.ส.ไม่ยากนัก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้จับตามองการเลือกตั้งในเขต 1 ปัตตานี ที่ประชาธิปัตย์มีคะแนนพรรคที่เหนียวแน่น เพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครในนามพรรค ที่อาจจะทำให้อดีต ส.ส. ที่ไปลงสมัครในพรรคอื่นต้องน้ำตาตกก็เป็นได้
สำหรับพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่แข่งของทุกพรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคประชาชาติ ที่มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรค และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเลขาธิการพรรค ที่มี ส.ส. 6 คน ถ้าไม่รวม “อนุมัติ ซูสารอ” ที่แปรพักตร์ไปอยู่กับพลังประชารัฐนานแล้ว ต่างมีผลงานในการอภิปรายในสภาทุกคน และที่สำคัญ ทั้ง "วันนอร์" และ "ทวี" ทำการบ้านและเกาะติดพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกพรรคการเมืองจะฟาดฟัน ส.ส.ของประชาชาติ เพื่อแย่งชิงที่นั่ง ในขณะที่ประชาชาติก็ต้องการเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้มากกว่าเดิม ดังนั้น สนามเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นพื้นที่เล็ก แต่ดุเดือดเลือดพล่านและตื่นเต้นเร้าใจ เพราะในพื้นที่แห่งนี้มีปัจจัยอื่นๆ แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น ตั้งแต่มีกำลังทหารหลายหมื่นคน ที่อาจจะ "ซ้ายหัน-ขวาหัน" ตามคำสั่งได้ และยังมีเรื่องอิทธิพล ผลประโยชน์จากขบวนการธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะยาเสพติด บุหรี่เถื่อน น้ำมันเถื่อน และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ อิทธิพลของขบวนการแบ่งแยกดินแดน "บีอาร์เอ็น" จะยืนอยู่ฝั่งไหน ตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองล้วนเป็นตัวแปรกับการเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
ต้องยอมรับว่า นี่เป็นงานหนักของ นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้ง ที่จะต้องมียุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นแชมป์ มี ส.ส.มากที่สุด และการมียุทธศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีกลยุทธ์ในการแปรยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สมัครนำไปใช้ในการหาเสียงในแต่ละพื้นที่ เพราะเชื่อว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังให้การต้อนรับการกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์อยู่
และที่สำคัญ จากการติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเดินเกมการเมืองตามกติกาของการทำการเมืองที่มีจริยธรรม เมื่อมีคนไหลออกก็ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีการหาคนใหม่เข้ามาแทนที่ และการหาผู้สมัครของประชาธิปัตย์ก็ไม่มีการตกปลาในบ่อเพื่อน อย่างที่หลายพรรคการเมืองทำกัน
ดังนั้น การเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียง 1 เขตใน จ.ปัตตานีครั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ ส.ส.เพิ่มอีกกี่คนถือว่าเป็นกำไร ที่สำคัญคือเป็นการเล่นการเมืองตามกติกาของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติและรักษาเอาไว้