xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.บ้านโพธิ์น้อย จ.ตรัง สอนเด็กเรียนรู้วิถีเกษตร นำมาทำอาหารกลางวันไม่กังวลงบรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - โรงเรียนบ้านโพธิ์น้อย ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ใช้พื้นที่ว่างจัดฐานการเรียนรู้วิถีเกษตร ทั้งทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ นำผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวัน ไม่ต้องกังวลงบรัฐบาลที่ให้แค่หัวละ 21 บาท

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์น้อย ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 84 คน และมีบุคลากรครู รวม 9 คน โดยทางโรงเรียนได้ใช้พื้นที่ว่างของโรงเรียนจัดการเรียนการสอนคู่ขนานกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ตามโครงการโรงเรียนชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง


โดยนำอาชีพเกษตรกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาไว้ในโรงเรียน แล้วแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการปลูกข้าวทำนาในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยการทำนาหว่าน และนาดำ ซึ่งล่าสุด เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการเกี่ยวข้าวด้วยแกระ (อุปกรณ์เกี่ยวข้าวของชาวปักษ์ใต้) และการใช้กรรไกรตัดข้าวสำหรับเด็กเล็ก รวมทั้งการตากข้าว การนวดข้าว การใช้กระด้งร่อนข้าว และการตำข้าวซ้อมมือ เนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ทำนาในจังหวัดตรังเหลือน้อยมาก หรือบางอำเภอไม่มีพื้นที่นาหลงเหลือแล้ว กลายเป็นพื้นที่สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน

นอกจากนั้น เด็กๆ ยังได้เรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งพริก มะเขือ ผลไม้ กล้วย เสาวรส โดยเฉพาะการปลูกผักบุ้ง ซึ่งเป็นพืชผักที่เด็กๆ จะหมุนเวียนปลูกเพื่อเอาไว้เป็นอาหารกลางวัน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงหมู 3 สายเลือด คือ สายพันธุ์พื้นบ้าน หมูป่า และหมูเหมยซาน โดยใช้เศษอาหารทั้งจากในโรงเรียนและจากบ้าน มีการเรียนรู้เพาะเห็ดนางฟ้า รวมทั้งการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษไม้ ใบหญ้า การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน และการผลิตน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักอเนกประสงค์ไว้สำหรับล้างจานชาม ล้างห้องน้ำ ใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักสวนครัว ใช้ฆ่าแมลง นอกจากนั้น ยังใช้ปุ๋ยมูลวัว มูลไก่ใส่สวนปาล์มของโรงเรียนด้วย


โดยนักเรียนจะช่วยกันปลูกเอง เลี้ยงเอง เก็บผลผลิตเอง แล้วนำไปแปรรูป หรือนำพืชผัก ปลา ไข่ที่ได้ไปทำอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้รับประทานเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลจัดสรรให้แค่หัวละ 21 บาทเท่านั้น ทำให้ได้เมนูอาหารกลางวันเพิ่มจากปกติที่มีวันละ 4 เมนู ประกอบด้วย ข้าวสวย พร้อมกับข้าว 2 อย่าง รวมทั้งขนม หรือผลไม้ตามฤดูกาล ที่สำคัญคือ เด็กๆ สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และช่วยปลูกฝังอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เด็กๆ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างทักษะการใช้ชีวิต และทักษะอาชีพติดตัว

นางสุมาลี เดชะ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์น้อย กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้จะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กๆ เกิดทักษะในการใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมีฐานการเรียนรู้ที่ครอบคลุมในชีวิตประจำวัน ส่วนพืชผักสวนครัว หรือผลไม้ รวมทั้งไข่ไก่ที่ได้จะนำไปใช้ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน ตามแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ได้เมนูที่หลากหลาย ไม่เป็นปัญหากับค่าอาหารกลางวันที่ได้รับการจัดสรรมาแค่หัวละ 21 บาท ส่งผลให้เด็กมีความสุข และครูก็มีความสุข






กำลังโหลดความคิดเห็น