สตูล - นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล ได้ฝึกอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างครบวงจร ในโครงการ “ราชประชาฟาร์ม by ประชารัฐสตูล” โดย บ.ประชารัฐรักสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นผู้ลงทุนและพี่เลี้ยง
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่สระน้ำขนาดใหญ่ภายในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล ได้ถูกจัดสรรส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชัง โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้ทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ นักเรียนชมรมค่ายมวย 40 คน ใช้เวลาว่างจากการซ้อมในช่วงเช้าและช่วงเย็นเพื่อมาดูแลปลาในกระชัง ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนที่มีการเลี้ยงอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อ “ราชประชาฟาร์ม by ประชารัฐสตูล” เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ฝึกทักษะการเลี้ยงปลามีอาชีพติดตัว โดยทางบริษัทประชารัฐจะเป็นผู้ลงทุนและเป็นพี่เลี้ยง โดยมีเด็กๆ เป็นผู้ลงแรง
เนื่องจากเด็กนักเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 เป็นเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบาง พ่อแม่ยากจนและขาดโอกาส อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงทำให้มีการส่งเสริมแนะนำให้เลี้ยงปลาเพื่อไปเป็นอาชีพในอนาคต ประกอบอาชีพได้
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงปลาไม่ได้ยุ่งยาก โดยได้แนะนำให้ความรู้ทุกขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การปล่อยปลาอนุบาล การให้อาหารปลา การให้อาหารเสริมเป็นดอกจอก นอกจากเป็นอาหารปลาแล้วยังเป็นที่หลบร่มเงาให้ปลาด้วย การสังเกตปลาอาจป่วย และการจับปลา รวมถึงการส่งขายให้พ่อค้า โดยปลาที่ส่งขายเป็นปลาที่ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด โดยน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ที่ 8-9 ขีดต่อตัว
ด.ช.สุภโชค ชูดวง หรือน้องแบงค์ อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1/1 และ ด.ช.นรชาติ ดีมาก หรือน้องกัปตัน อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1/2 บอกว่า ตัวเองทำหน้าที่ให้อาหารปลาและสังเกตว่าปลากินอาหารหมดหรือไม่ โดยจะไม่ให้จำนวนมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำ บางคนทำหน้าที่ตักจอกหูหนู จอกกุหลาบมาให้ปลา บางคนทำหน้าที่ให้อาหารสลับสับเปลี่ยนกัน
สำหรับปลาที่เลี้ยงจะเป็นปลาทับทิม ปลาหมอ ปลานิล และปลากด ซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจและชื่นชอบ โดยบอกว่าปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายและมีความอดทนสูงที่สุด และคิดว่าหากจบการศึกษาไปจะมีความรู้ในการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพได้
น.ส.กัญญพัชร รัตนพันธ์ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บอกว่า นอกจากน้องๆ จะได้เรียนรู้ขั้นตอนปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการเลี้ยงปลาในกระชังแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายปลาจะเป็นทุนการศึกษาให้น้องๆ โดยผ่านทางโรงเรียนเป็นผู้จัดสรรให้ ซึ่งเชื่อว่าการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การลงมือปฏิบัติจริง สร้างความภาคภูมิใจ หากน้องไม่ได้เรียนต่อ สามารถเป็นอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวได้ สำหรับปลาที่เลี้ยงจะมีบ่อสำหรับให้เด็กๆ สามารถนำไปประกอบอาหารไว้ให้ด้วย
โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายประชารัฐพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้านการประมงของจังหวัดสตูล จึงสำรวจพื้นที่ที่สามารถสร้างโมเดลธุรกิจประมง Satun Fishery Start up การเลี้ยงปลานิลในกระชัง พบว่าพื้นที่สระน้ำในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 สตูล สามารถเลี้ยงปลาน้ำจืดได้ดี จึงมอบทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อสร้าง “ศูนย์เรียนรู้มัจฉา ราชประชาฟาร์ม ปลานิลจิตรลดา ปลาของพ่อ” เพื่อให้เป็นต้นแบบความสำเร็จในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise Model (SE Model) เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชา ปลาของพ่อ ในบ้านของพ่อ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 สตูล
“ศูนย์เรียนรู้มัจฉาราชประชาฟาร์ม ปลานิลจิตรลดา ปลาของพ่อ” เกิดขึ้นได้โดยได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 สตูล อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดทำศูนย์เรียนรู้ สนับสนุนทรัพยากรพื้นที่ และทรัพยากรบุคคล เช่น คณะครูอาจารย์และนักเรียน ในการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และมีทักษะในการปฏิบัติจริงในวิชาชีพการเลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ต่อไป
ด้านการตลาด การจำหน่ายปลานิลของศูนย์เรียนรู้ฯ ได้รับการสนับสนุนช่องทางการตลาดจากโมเดิร์นเทรดในท้องถิ่น คือ บริษัท สยามแม็คโคร (มหาชน) จำกัด สาขาสตูล ด้านการจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งบำรุงสถานศึกษา และเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กำไรอีกส่วนหนึ่งขยายผลต่อ โดยสร้างกระชังเพิ่มปริมาณการเลี้ยงปลาให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และผู้บริโภคทั้งในจังหวัดสตูล และพื้นที่ใกล้เคียง