ตรัง - ชาวสวนยางภาคใต้สุดทน เตรียมนัดประชุมใหญ่ตัวแทนเกษตรกรและเครือข่ายสถาบันเกษตรกร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำที่เกิดขึ้นมายาวนาน
วันนี้ (27 พ.ย.) ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง นำโดย นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง นายสมปอง นวลสมศรี ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.กระบี่ นายบรรจงกิจ บุญโชติ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางนิคมทุ่งสง จำกัด ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช และนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องไปยังรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นมายาวนาน
โดย นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคใต้เกิดฝนตกชุก ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดมีน้อย แต่ราคายางพารากลับตกต่ำ โดยน้ำยางสดเหลือประมาณ กก.ละ 37-40 บาท ส่วนราคาแผ่นรมควันชั้น 3 เหลือ กก.ละ 45-46 บาท ซึ่งเดือดร้อนหนักทั้งเกษตรกรและสหกรณ์ผู้แปรรูปยางพารา จึงเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และการยางแห่งประเทศไทย เร่งแก้ไขปัญหา พร้อมเตรียมนัดประชุมใหญ่ตัวแทนเกษตรกร และเครือข่ายสถาบันเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางที่ จ.ตรัง ในต้นเดือนหน้า เพื่อหารือการเคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องการแก้ปัญหาต่อไป และเตรียมเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมารับฟังเอาไปประกาศเป็นนโยบาย พรรคไหนทำได้จะรณรงค์ให้ชาวสวนยางเลือกพรรคนั้น
ด้าน นายสมปอง นวลสมศรี ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.กระบี่ กล่าวว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง ส่วนตัวมองว่าเกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาล ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้บริหาร หรือบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยชุดเก่าที่ผ่านมา ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหา ทำให้ทุกโครงการที่ออกมาล้มเหลวทั้งหมด ไม่มีความต่อเนื่อง และไม่รับฟังข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องของชาวสวน ที่เสนอไปทำไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในของผู้บริหารการยาง ที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจผู้ส่งออกยาง และเป็นคนใกล้ชิดนักการเมือง ทำให้เข้ามาหาผลประโยชน์
ส่วน นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 8-9 ธ.ค.นี้ ตัวแทนเกษตรกรและตัวแทนเกษตรกรภาคใต้ตอนกลางทั้ง 6 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต พัทลุง และนครศรีธรรมราช จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือกันในเรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะเกษตรกรเดือดร้อนหนัก ขณะที่รัฐบาลไม่ได้สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังตามที่ได้ประกาศไว้ รวมทั้งการยางแห่งประเทศไทยก็ล้มเหลวในการดำเนินโครงการต่างๆ ทุกโครงการ เบื้องต้น เตรียมทวงข้อเรียกร้องเดิมทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.โครงการชะลอการขายยางที่ผ่านมา ทั้งยางก้อนถ้วย น้ำยางสด และยางแผ่นรมควัน ปรากฏว่าขณะนี้ล้มเหลว หยุดโครงการลงชั่วคราว เพราะ กยท.ไม่มีเงินทำต่อแล้ว ไม่สามารถจะเก็บยางไว้หมุนเวียนได้แล้ว
2.โครงการสวนยาง SFC เพื่อสนับสนุนการจัดการป่าไม้ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งสินค้าทั้งไม้ยางและยางพาราแปรรูปสู่ตลาดสากล แต่ก็ล้มเหลวเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่สวนยางพารามีทั้งหมด 25 ล้านไร่ แต่ไม่มีความคืบหน้าในโครงการ ส่งออกไปตลาดยุโรปไม่ได้
3.โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐก็ล้มเหลว เดิมเป้าหมายจำนวน 100,000 ตัน แต่ทำได้จริงเพียงประมาณ 1 หมื่นตันเท่านั้น ก็หยุดชะงัก เป้าหมายจะนำยางมาใช้ภายในประเทศให้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ก็ล้มเหลว และกลายเป็นว่าเรื่องยางกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง
และ 4.โครงการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการสนับสนุนงบประมาณ เช่น เดิมจะส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวน ก็ปรากฏว่าล้มเหลวเช่นกัน