xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลขอพร ขอโชคลาภพระพุทธรูปวัดร้าง ทายาทหลวงพ่อแม้น เปิดที่มาของวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลสักการะพระพุทธรูปวัดร้าง ขอพร ขอโชคลาภ พัฒนาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่ทายาทหลวงพ่อแม้น ผู้สร้างองค์พระเจดีย์เปิดปมเหตุที่มาของวัดร้างกลางป่าเมืองชุมพร

จากกรณีที่มีชาวบ้านเดินป่าเข้าไปพบวัดร้าง ชื่อ “วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม” ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่กลางป่าชุมชนบนเนินเขาในพื้นที่ป่าชุมชนหมู่ 1 ต.วิสัยเหนือ อ.เมือง จ.ชุมพร ห่างจากถนนเอเชีย 41 ถนนสายหลักของภาคใต้เพียง 700 เมตร ภายในวัดร้างดังกล่าวมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางปฐมเทศนา เจดีย์ทรงระฆัง พระแก้วมรกตสีเขียวหยก กุฏิที่พักสงฆ์ ศาลาปฏิบัติธรรม และประติมากรรมทางพุทธศาสนาอีกจำนวนมาก พร้อมกับนำไปโพสต์ลงสื่อโซเชียลกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศ จนมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งระดับจังหวัด และท้องถิ่นลงไปตรวจสอบ พบว่า สถานที่ดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดแต่อย่างใด เป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น พร้อมกับเตรียมปรับปรุงภูมิทัศน์และบูรณะให้เป็นสถานที่วิปัสสนา ศึกษาธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม


ขณะที่จังหวัดชุมพร นำโดย นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ.ชุมพร นำเหล่าข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไปกว่า 1,000 คน ลงพื้นที่ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม ปลอดภัย โดยคงความเป็นธรรมชาติไว้ 
นอกจากนั้น หลังปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อโซเชียลและสื่อหลักจนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ทำให้มีพุทธศาสกนิกชน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปพากันเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมกันจำนวนมาก ต่างได้นำดอกไม้ ธูปเทียน และพวงมาลัยเข้าไปสักการะองค์พระพุทธรูป สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา และรูปปั้นตามวรรณคดีและความเชื่อ พร้อมอธิ๋ฐานขอพร ขอโชค เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว


นายวิรัช เพชรรณ อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลวิสัยเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวทางคณะกรรมการชุมชน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัด มีความเห็นชอบว่าจะไม่อนุญาตให้พระสงฆ์เข้ามาพำนักอยู่ในพื้นที่บริเวณโซนองค์พระเจดีย์ แต่จะอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม วิปัสสนาธรรม ปักกลดธุดงค์ได้ และจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่วนเขตพื้นที่สำหรับที่พำนักสงฆ์จะให้ไปใช้เขตพื้นที่ใกล้กับองค์พระใหญ่ที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งทั้งหมดเป็นเขตป่าชุมชนจำนวน 93 ไร่

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบ นายพูนผล แจ้งสว่าง อายุ 78 ปี ที่มีบ้านอยู่ห่างจากพื้นที่วัดร้างประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งทราบว่าเป็นผู้สร้างเจดีย์ และเป็นทายาทของเจ้าอาวาสวัดร้างดังกล่าว โดยพบนายพูนผล กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ที่ศาลาข้างบ้าน เพื่อขอทราบประวัติความเป็นมาของวัดร้างแห่งนี้


คุณตาพูนผล เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ตนเป็นหนุ่มอายุประมาณ 30 ปี เห็นมีที่พักสงฆ์แห่งนี้อยู่แล้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังพระใหญ่ และตนเคยไปทำบุญที่พักสงฆ์ดังกล่าวกับพ่อ ซึ่งพ่อตนคือ พ่อหลวงแม้น ผู้สร้างเจดีย์ดังกล่าว ตอนนั้นพ่อยังไม่ได้บวช ที่พักสงฆ์ขณะนั้นมีพระอาจารย์วรรธี เป็นพระทางภาคเหนือ ได้มาริเริ่มสร้างที่พักสงฆ์ตรงบริเวณนี้ ส่วนปีไหนตนไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.2511-2513 ท่านเป็นพระสายปฏิบัติ และออกเดินบิณฑบาตทุกวัน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านอย่างมาก

“ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านจึงทำให้พ่อของตนอยากจะบวชเรียนเพื่อไปรับใช้ท่าน จึงได้บอกกับแม่และลูกๆ ว่าจะไปบวช ขอเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์วรรธี และจะไปปฏิบัติธรรมตามแนวทางตามท่าน ซึ่งทางบ้านไม่ทักท้วง และพ่อตนได้บวชเมื่อปี พ.ศ.2516 สืบทอดแนวธรรมะอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด และต่อมาได้มีชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้หญิงมาบวชเป็นแม่ชีกันหลายคน แต่ด้วยเกรงว่าจะไม่ดีงาม พระอาจารย์วรรธี จึงไปทำกุฏิอยู่ด้านบนซึ่งเป็นสถานที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ โดยแยกแม่ชีให้อยู่ด้านล่าง”


ต่อมา พระอาจารย์วรรธี ได้กลับไปทางภาคเหนือ คงเหลือเพียงพ่อตน คือ หลวงพ่อแม้นเพียงรูปเดียวที่ยังจำวัดอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 หลวงพ่อแม้น ต้องการสร้างเจดีย์จึงได้เรียกตน แม่ และนายช่างขึ้นไปพูดคุยให้มาช่วยกันสร้างธรรมเจดีย์มะ 8 และโชคดีที่มีเจ้าของร้านรุ่งเรืองการช่าง ซึ่งมีความรู้เรื่องโครงสร้างมาช่วยแนะนำ ส่วนแบบของเจดีย์นั้นสร้างไปตามจินตนาการของหลวงพ่อแม้น

คุณตาพูนผล เล่าต่อว่า วันที่เริ่มก่อสร้างเจดีย์ พ่อหลวงแม้น ได้ใช้วันที่ 5 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนไทย และมีคนใหญ่คนโตของจังหวัดมาเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ด้วย เมื่อสร้างจนเกือบเสร็จ อยู่ในขั้นตอนของการตกแต่ง หลวงพ่อแม้น ได้เรียกช่างจากพื้นที่ ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร ที่มีฝีมือด้านนี้มาช่วยตกแต่งทำลวดลายจนแล้วเสร็จ และได้สร้างแท็งก์เป็นรูปเรืออยู่ข้างเจดีย์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยใช้เวลาก่อสร้างนานร่วม 3 ปี


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2537 หลวงพ่อแม้น สุขภาพไม่ค่อยดีและไม่อยากให้ลูกเมียเป็นภาระต้องทำอาหารนำไปถวายทุกวัน จึงสึกออกมาเพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งพ่ออยู่ได้เพียง 1 ปีเศษ ก็เสียชีวิตลง ส่วนที่วัดนั้นได้มีพระและแม่ชีมามาพำนักอยู่ พระสงฆ์ทราบเพียงชื่อพระเมธา จะมาจากไหนนั้นไม่ทราบชัดเจน แต่ชาวบ้านจะเรียกว่า “พระซาเล้ง” เพราะตอนมานั้นมีรถจักรยานยนต์พ่วงข้างมาด้วย

ตลอดที่พระเมธา มาพำนักอยู่ได้ปั้นรูปต่างๆ ทั้งเสือ ม้าลาย พระแม่ธรณี และสร้างกุฏิคล้ายที่ทำการ เป็นกุฏิปูนมี 2 ห้องซ้ายขวา ตรงกลางเป็นห้องโถง และได้อยู่คนละห้องกับแม่ชี ซึ่งด้วยความไม่เหมาะสม ประกอบกันหลายอย่าง และทั้งสองหุงหาอาหารฉันเอง และพระเมธา ยังไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหว จึงได้ขับไล่ออกไป และตั้งแต่นั้นมาไม่มีพระมาจำวัดที่นั่นอีกเลย ชาวบ้านไม่ได้ขึ้นไปพัฒนาเพราะพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตป่าชุมชน ห้ามแผ้วถางก่อสร้างใดๆ จึงถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาถึงปัจจุบันตามที่เป็นข่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น