ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
หลายวันก่อนมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ อ.สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และระโนด ในโครงการก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมโรงแรมเดอะเบด เวเคชั่น อ.เมืองสงขลา มีผู้เข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังรายละเอียดของโครงการจาก บริษัท ซี.ซี.ดับบลิว จำกัด ที่ปรึกษาออกแบบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยมีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนผู้เข้าร่วมเวทีคนละ 300 บาท
โครงการการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระ เจ้าของโครงการให้รายละเอียดว่า เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี เพื่อเผยแพร่ให้แก่ชาวสงขลา และนักท่องเที่ยวในประเทศ-ต่างประเทศ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีงบประมาณ 380 ล้านบาท ก่อสร้างในพื้นที่ 8.5 ไร่ ด้านหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคลองรี อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งแน่นอนว่า โครงการนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้าน เช่นเดียวกับทุกโครงการที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของโครงการต้องการใช้งบประมาณ ส่วนจะสร้างให้แล้วเสร็จและจะตอบโจทย์กับสิ่งที่ได้สร้าง ตามที่เขียนในโครงการหรือไม่ล้วนเป็นเรื่องของอนาคต
ก็เข้าใจถึงวัตถุประสงค์อันงดงามของเจ้าของโครงการ และไม่ปฏิเสธว่าคาบสมุทรสทิงพระมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ควรแก่การรับรู้และอนุรักษ์ เพื่อให้รู้ถึงรากเหง้า หรือที่มาของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งมีการรวมรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งใน จ.สงขลา ที่อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็มีให้ได้ศึกษาเรียนรู้เช่นเดียวกับงานวิชาการและงานวิจัยเป็นจำนวนมากของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ทั้งในเรื่องของ "โหนด-นา-เล" และอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่กับการสร้างพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระแห่งนี้ และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะได้รับประโยชน์ตามที่เขียนไว้ในโครงการหรือไม่ อย่างไร
ยกตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ระโนด หรือหอชมเมืองระโนด ที่อดีต ส.ส.ถาวร เสนเนียม เป็นผู้ให้งบประมาณเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต่างกันกับพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระ ที่มีการขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ และสุดท้าย พิพิธภัณฑ์ระโนด หรือหอชมเมืองระโนด ก็ถูกปล่อยให้ทรุดโทรม จำนวนผู้ไปใช้ชม ไปเที่ยว “หร็อมแหร็ม” นักท่องเที่ยวไม่สนใจ มีเพียงนักเรียนที่โรงเรียนจัดไปทัศนศึกษาบ้าง แต่ก็เล็กน้อย ไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ที่สำคัญคือการสร้างเสร็จแล้วขาดการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ อ้างบุคลากรไม่พอ งบประมาณไม่มี
และมาดูเรื่องของ อควาเรียมหอยสังข์ ที่เชิงสะพานติณสูลานนท์สงขลา ซึ่งในตอนเสนอโครงการบอกว่าเป็นประโยชน์มากกมาย ทั้งการศึกษา ศูนย์เรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่สุดท้ายก่อสร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้าง กลายเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความอัปยศที่ชาวสงขลาต้องแบกรับ เป็นการผลาญงบประมาณจำนวน 1,400 ล้านบาท โดยสูญเปล่า
และยังมีอีกมากมายหลายโครงการที่มีการก่อสร้างแล้ว และไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่เป็นภาษีของประชาชน เช่น ศูนย์โอทอปที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ศูนย์โอทอปที่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นผลงานที่ถูกทิ้งร้างของ อบจ. ที่กลายเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงและคนร่อนเร่
ไม่ได้บอกว่าพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระไม่ดี ไม่ควรสร้าง แต่ขอให้เจ้าของโครงการอย่ามองเพียงมิติเดียว คือ มิติของการใช้งบประมาณ แต่ให้มองถึงประโยชน์ที่ได้รับ มองถึงความคุ้มค่า และมองถึงอนาคตหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ
และที่สำคัญ วันนี้คนในคาบสมุทรสทิงพระ เขาเดือดร้อน เขาขาดแคลนในเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความสำคัญกว่าการใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อใช้สร้างพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระหรือไม่ ประเด็นนี้ อบจ.และคนในคาบสมุทรสทิงพระไม่ควรมองข้าม
สุดท้ายการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต้องมีความโปร่งใส โดยรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยในพื้นที่ให้มาก และไม่ควรมีเรื่องค่าจ้างให้มาร่วมเวที เพราะคนที่ได้รับค่าจ้างจะไม่แสดงความคิดเห็นที่คัดค้านกับเจ้าของโครงการที่เป็นผู้จ้างให้มาร่วมเวที
บทความนี้เป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของภาษี ที่เป็นเงิน 400 ล้านบาท ที่ อบจ.สงขลา จะใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระ ต้องการสะท้อนให้ อบจ.สงขลาได้ใช้ความรอบคอบกับการใช้เงินงบประมาณในทุกโครงการ เพื่อให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์มีความคุ้มค่าที่สุด
เพราะการใช้งบประมาณโดยการทุจริต ยังนำผู้ทุจริตเข้าคุกเข้าตะรางได้ แต่การใช้งบประมาณโดยสุจริตแต่สูญเปล่า เป็นเรื่องของความชั่วร้ายยิ่งกว่าการทุจริตมากนัก